ผู้ส่งออก จี้ รบ.เร่งหาวิธีระบายข้าว แม้แลกเปลี่ยนกับสินค้าก็ต้องทำ
อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว คาดปีนี้ส่งออกทรงตัว ห่วงประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มผลผลิตกระทบไทยระบายข้าวไม่ได้ จี้ รบ.เร่งหาวิธีขายข้าว แลกกับสินค้า หรือขาดทุนก็ต้องยอม
ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงการส่งออกข้าวของประเทศเพื่อนบ้านว่า ขณะนี้ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม และอินเดียส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ที่ลดราคาข้าวเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
"การแข่งขันในตลาดโลกมีมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตทั่วโลกดีขึ้น แต่ความต้องการกลับน้อยลง เพราะทุกประเทศที่เคยนำเข้าข้าว ต่างก็พยายามจะผลิตข้าวให้ได้เอง และให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ไม่มีออเดอร์ข้าวมาที่ไทย จนทำให้เวียดนามขายได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า การขยับตัวของประเทศเพื่อนบ้านก็ส่งกระทบแก่ไทยด้วย"
ร.ต.ท. เจริญ กล่าวถึงตัวเลขการส่งออกว่า เมื่อปี 2012 ไทยส่งออกข้าวลดน้อยลง 38% จากปี 2011 ส่งออกได้ 10.5 ล้านตัน ปี 2012 ส่งออกได้ 6.95 ล้านตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากโครงการรับจำนำ ที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น และเมื่อสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากๆ ก็กระทบกับราคาส่งออกและยากต่อการระบาย
"แนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ จะทรงตัวเท่ากับปีที่แล้ว หรือน้อยกว่านิดหน่อย เนื่องจากความต้องการจากทั่วโลกมีน้อยลง แต่ผลผลิตมีมากขึ้น สต็อกข้าวจึงล้น ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลว่าจะยอมระบายข้าวออกมาหรือไม่ และวิธีการใด แต่เห็นว่า รัฐบาลควรเร่งระบายแล้ว ราคาไหนที่เห็นว่าดีที่สุดก็ต้องยอมขายแล้ว อาจพิจารณาราคาจากคู่แข่ง อย่างเวียดนาม ขายข้าว 5% ในราคาประมาณ 385 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลก็ต้องขาดทุน แต่ต้องรีบขายแล้ว เพราะยิ่งทิ้งไว้นานข้าวก็ยิ่งเน่า"
ร.ต.ท. เจริญ กล่าวถึงวิธีการระบายด้วยว่า อาจเป็นไปอย่างที่รัฐบาลบอกจะใช้วิธีระบายแบบ "แลกเปลี่ยนสินค้า" หรือวิธีอื่นๆ ก็ต้องทำแล้ว ไม่ว่าจะแลกกับอะไรก็แล้วแต่ ขอแค่ให้ข้าวออกจากประเทศไทยได้ เพราะนโยบายนี้ใช้เงินมหาศาลและขาดทุนมาก ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะยอมเสียหาย หรือจะยอมขาดทุนหรือไม่
ส.ว.ขอนแก่น จี้รัฐ เร่งระบายข้าว
ด้านนายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวในโครงการรับจำนำที่ยังค้างสต็อก เนื่องจากปัจจุบันประสบภาวะขาดทุนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุมีการใช้งบประมาณในโครงการตั้งแต่เดือน ต.ค. 54ถึง ก.พ. 56 ไปแล้ว เกือบ 5 แสนล้านบาท ประกอบกับข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ ที่ประเมินแล้วว่า ปี 2556 โครงการรับจำนำข้าวจะขาดทุนอีก ถึง 2 แสนล้านบาท ในขณะที่ผลผลิตข้าวในฤดูกาลใหม่จะออกมาอีกใน 2 เดือนข้างหน้า ทำให้เกิดปัญหาไม่มีโกดังรองรับผลผลิต
นายประเสริฐ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังเน้นนโยบายเกี่ยวกับข้าวด้วยการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเพียงอย่างเดียวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก ทั้งปัญหาการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ปัญหาคุณภาพข้าวไทยที่ตกอันดับส่งออกไปอยู่รองจากอินเดียและเวียดนามแล้ว หรือข้าวหอมมะลิที่ถูกข้าวหอมของพม่าแซงหน้ารางวัลข้าวหอมที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากไม่มีปัจจัยผลักดันให้ชาวนาพัฒนาคุณภาพ สนใจแต่ผลิตให้ได้ปริมาณเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งปฏิรูปข้าวไทยให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้มีการรักษาและพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มผลผลิตควบคู่กับคุณภาพ พร้อมนำเทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น