จี้โยธาฯอุดช่องโหว่อุตฯขยายระหว่างรอผังเมืองใหม่-ชงแก้ผัง ปท.2600
ปชช.ตะวันออก ชงแก้ผัง ปท.2600 เปิดช่องอุตฯเบียดชุมชน-เกษตร ห่วงอีก 2 ปีเกิดศึกแย่งน้ำ เร่งทำผังชุมชนดันเป็นเทศบัญญัติ จี้โยธาฯอุดช่องโหว่ขยายอุตฯระหว่างรอผังใหม่
วันที่ 18 ก.พ. 56 ที่วัดทัพช้าง จ.ปราจีนบุรี เครือข่ายเพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออกจัดเสวนา ‘เวทีเรียนรู้การวางผังประเทศ ผังภาค ผังเมืองรวมจังหวัดและผังชุมชนภาคตะวันออก เพื่อวางแผนการทำงาน’ โดยมีตัวแทนประชาชนจาก 8 จังหวัดภาคตะวันออกร่วมเสวนา
น.ส.จริยาพร จิตต์ใจมั่น หัวหน้ากลุ่มงานผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวถึงผังประเทศไทยและผังภาค พ.ศ. 2600 (ดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/Y4Bmvz) ซึ่งเป็นนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผังเมืองประเทศอีก 44 ปีข้างหน้า และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ แต่จะถูกนำมาใช้เป็นกรอบพัฒนาประเทศซึ่งโน้มเอียงไปทางการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม
โดย ตัวแทนกรม โยธาฯ ระบุว่าสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี 9 ก.ค.45 ให้ กรมเร่งจัดทำผังเมืองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้ดำเนินการจัดทำผังประเทศและผังภาค โดยยึดหลักความสมดุลในการรักษาทรัพยากรและพื้นที่ภาคเกษตรควบคู่กับการพัฒนา ภาคอุตสาหกรรม โดยยืนยันว่าได้ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่ง ผังประเทศและผังภาคนั้นไม่ใช่ผังที่บังคับใช้ตามกฎหมายแต่เป็นเพียง กรอบนโยบายในการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดซึ่งบังคับใช้เป็นกฎกระทรวง
ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงแก้ไขผังประเทศและผังภาครวมทั้งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน 2558 และโครงสร้างประชากรสูงวัยมีสัดส่วนมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
น.ส.โสมวิภา โยธะพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงานผังจังหวัด กรมโยธาฯ กล่าวว่าผังเมืองรวมจังหวัดทั่วประเทศซึ่งเริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันประกาศใช้แล้ว 8 จังหวัด โดยมีอายุ 5 ปี และไม่มีผลย้อนหลังสำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้วก่อนประกาศใช้ผังเมือง
สำหรับข้อกังวลของประชาชนถึงความล่าช้าในการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดที่จะทำ ให้ภาคอุตสาหกรรมอาศัยช่องว่างรุกและทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นนั้น กรมฯจะหาแนวทางปรับปรุงกระบวนการทำผังเมืองรวมจังหวัดให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาความล่าช้าเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น บางผังจังหวัดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 5 ปี อย่างไรดีก็ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในท้องที่อนุรักษ์พื้นที่เกษตรไม่ขายที่ทำกินแก่กลุ่มอุตสาหกรรม และเมื่อผังเมืองรวมจังหวัดประกาศใช้แล้วภายใน 90 วันประชาชนผู้มีส่วนได้เสียควรช่วยเป็นหูเป็นตาหากเห็นว่าผังเมืองไม่เหมาะสมให้ยื่นคำร้องคัดค้านหรือขอแก้ไขได้ ทั้งนี้ยืนยันว่ากรมฯไม่ได้เอื้อประโยชน์ในการวางผังเมืองให้ภาคอุตสาหกรรมฝ่ายเดียว เพราะได้ให้อำนาจส่วนท้องถิ่นในการร่วมจัดทำด้วย
“นิคมอุตสาหกรรมจะขยายมากแค่ไหน ผังเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวที่กำหนด ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและปัจจัยอื่นๆด้วย” ตัวแทนกรมโยธา กล่าว
ด้านนายจำรูญ สวยดี นักวิชาการอิสระ จากปราจีนบุรี กล่าวว่าที่ผ่านมาปัญหา ของประชาชนคือไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างผังเมืองรวมจังหวัดร่วมกับ คณะอนุกรรมการและที่ปรึกษาผังเมืองระดับจังหวัดซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการ จังหวัดได้ โดยงานส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งแต่ละคนมาอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นอกจากนี้ชาวบ้านยังขาดช่องทางติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานกลางอย่างกรมโยธาฯด้วย
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ จ.ชลบุรี กล่าว ว่าข้อมูลในการทำผังเมืองของกรมโยธาฯเป็นข้อมูลที่ไม่มีชีวิต ขาดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม โดยที่ผ่านมาผลจากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วในภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 2 หมื่นไร่ ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และชุมชน มีปัญหาสารพิษตกค้างในแหล่งธรรมชาติ โดยได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า น้ำในภาคตะวันออกจะขาดแคลนถึง 519 ล้านลบ.ม. ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบความเป็นอยู่ประชาชน
นอกจากนี้ผังชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นมาตามสภาพความเป็นอยู่จริงในแต่ละตำบล ยังมีสถานะเป็นเพียงผังเสนอแนะที่ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผังชุมชนขัดต่อผังเมืองรวมจังหวัดหรือผังภาค ก็จะไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมการใช้พื้นที่ได้ อย่างไรก็ดีประชาชนภาคตะวันออกกำลังร่วมกันทำผังชุมชนของตนเพื่อมาต่อ ร่วมกันเป็นภาพใหญ่ของทั้งภาค แล้วนำเป็นข้อเสนอในการออกเทศบัญญัติหรือจัดทำผังเมืองรวมอำเภอหรือผังเมือง รวมจังหวัดซึ่งสามารถมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้การวางผังเมืองสอดคล้องกับการพัฒนาและสภาพความเป็นอยู่ที่ แท้จริง รวมทั้งป้องกันการวางผังเมืองที่อาจเอื้อประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนชาวบ้านมีข้อเสนอแก่กรมโยธาฯดังนี้ 1. ในระหว่างช่องว่างของกฎหมายที่ผังเมืองรวมจังหวัดยังไม่ประกาศใช้ ให้กรมโยธาฯใช้อำนาจตามมาตรา 15(3) พ.ร.บ.ผังเมืองพ.ศ.2518 ซึ่งกำหนดไว้ว่าระหว่างที่กำลังร่างผังเมือง เจ้าพนักงานมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินเพื่อป้องกันการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียว 2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการปรับปรุงแก้ไขผังประเทศปี 2600 3.กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า และ4.ในการแต่งตั้งสรรหาคณะอนุกรรมการผังเมืองระดับจังหวัดและคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัด ควรเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :::
-‘ไม่เชื่อตัวเลขพื้นที่อุตฯโคราชแค่ 1% –ติงโยธาฯไม่ใช้กม.คุ้มครองพื้นที่เกษตร’ http://bit.ly/15rahrR
-‘อุตฯหวั่นพื้นที่เกษตร-ชุมชนรุกอุตสาหกรรม ร้อง มท.ทบทวนผังเมืองใหม่’ http://bit.ly/XTDLqA
-ทุนรุกซื้อพื้นที่สีเขียวเมืองชลฯ 6 พันไร่ เล็งสร้างนิคมอุตฯ ฉวยจังหวะโยธาฯชะลอผังเมือง http://bit.ly/X0Ff47
-'นักวิชาการแนะเร่งทำผังชุมชน หวั่นผังเมือง จว.ล้อผัง ปท.2006 เอื้อพื้นที่สีม่วง' http://bit.ly/Xc2uX4
-'ชี้โยธาฯถ่วงผังเมืองโคราช-ชลฯ+8จว.เอื้อทุนการเมือง-อุตสาหกรรม' http://bit.ly/WjadWI