ศรีสุวรรณ เตรียมฟ้อง 10 โมดูลจัดการน้ำ ชี้ กบอ.ละเลยรับฟังความเห็นปชช.
ศรีสุวรรณ ล่ารายชื่อฟ้องยับยั้งแผนจัดการน้ำ 10 โมดูล ที่รอ 6 กลุ่มบริษัทชิงเค้กประมูลสร้าง อ้างไม่ได้มาจากความเห็น-การยอมรับของปชช.
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวในเวทีเสวนาวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ จากเขื่อนแม่วงก์ สู่เขื่อนแก่งเสือเต้น และโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ได้เตรียมร่างหนังสือและรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นฟ้องยับยั้งแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ที่ประกาศโครงการ 10 โมดูล ภายใน 1-2 สัปดาห์เพื่อให้บริษัทต่างชาติและบริษัทไทยส่วนหนึ่งเข้ายื่นซองประมูลออกแบบก่อสร้างการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศ
นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงเหตุผลในการยื่นฟ้องเพื่อยับยั้งโครงการฯ ในครั้งนี้ว่า เนื่องจากรายละเอียดของแผนความคิดที่จะออกแบบและก่อสร้างทั้ง 10 โมดูลนั้นไม่ได้มาจากความต้องการ การนำเสนอ การยอมรับและรับรู้อย่างทั่วถึงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ จะอ้างไม่ได้ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแล้วจะสามารถดำเนินการลงทุนหรือก่อสร้างใดๆ โดยไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
“การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในรัฐธรรมนูญระบุชัดว่ารัฐบาลต้องทำอย่างไร จาที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่าการระดมความคิดจนออกมาเป็นกรอบแนวความคิดในการออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำทั้ง 10 โมดูลนี้ ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย ดังนั้น จากนี้จะรวบรวมรายชื่อและร่างหนังสือไปฟ้องทุกโมดูล และทุกโครงการที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อจากนี้”
ชาวสะเอียบยื่นหนังสือค้านแก่งเสือเต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในงานเดียวกัน นายสมเมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ร่วมด้วยชาวบ้าน ในตำบลสะเอียบ จ.แพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่อยู่ในกรอบแนวความคิดที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ผ่านนายสุรจิต ชิรเวทย์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อฝากไปถึงนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)
นายสมเมิ่ง กล่าวด้วยว่า หนังสือฉบับดังกล่าว ประกอบไปด้วยเหตุผลและข้อเสนอแนะที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมาจากการศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร และ FAO ที่มีข้อมูลการศึกษาระบุชัดว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ได้มีผลในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ไม่คุ้มทุนในการก่อสร้างกับผลที่ได้รับ อีกทั้ง พื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างยังอยู่ในบริเวณรอยเลื่อน