เร่งรัฐสั่งแบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง ส.ค. หลังยื้อเวลามา 2 ปี
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมชาติจี้รัฐเลิกนำเข้า 4 สารเคมีเกษตรอันตราย คาร์โบฟูราน-เมโทมิล-ไดโครโตฟอส-อีพีเอ็น ส.ค. 56 หลังยื้อเวลามา 2 ปีล้าหลังต่างชาติ เผยก่อมะเร็ง-กระทบสิ่งแวดล้อม ชงหนุน ‘เกษตรอินทรีย์’ อย่างเป็นรูปธรรม
วันที่ 18 ก.พ. 56 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที ‘นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ:แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง’ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จากกรณีสารคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น ซึ่งเป็นสารเคมีเกษตรที่รัฐบาลหลายประเทศยกเลิกการใช้ เพราะก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ผิวหนังอักเสบ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไทยยังยกเว้นให้จำหน่ายได้ชั่วคราวต่อไปอีก 2 ปี โดยจะครบกำหนดในส.ค. 56 และขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างพิจารณาการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง
ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำเรื่องเสนอไปยังรัฐบาลขอให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียน นำเข้า ส่งออก และห้ามมีสารเคมีเกษตรทั้ง 4 ชนิด ไว้ในครอบครองเด็ดขาด พร้อมให้เร่งปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรให้เข้มงวดและส่งเสริมแนวทางเกษตรอินทรีย์ โดยรัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ โดยจัดหาสถานที่รับซื้อที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งขายสินค้าที่เป็นธรรม หรืออาจแต่งตั้งคณะกรรมการสารเคมีแห่งชาติขึ้นมาตรวจสอบก็ได้ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว โดยกำลังอยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและเสนอความเห็นกลับมายังครม.อีกครั้ง
ทั้งนี้ สารเคมีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวมีการใช้ในประเทศไทยมานาน ซึ่งทำให้ศัตรูพืชดื้อยา ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดการสะสมในร่างกายของเกษตรกรและปนเปื้อนมากับพืชผักในอาหารที่ผู้บริโภคซื้อรับประทาน
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่อง ‘ความปลอดภัยทางอาหาร:การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ มีมติว่าต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)ที่ประกาศเดินหน้าแบนสารเคมีทางการเกษตร 4 ชนิด โดยให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนการอนุญาตขึ้นทะเบียนสารเคมีดังกล่าว เพื่อเป็นวัตถุอันตรายที่ 4 ที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งต้องชื่นชมว่านายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่นำข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคไปประกอบการพิจารณาร่วมกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามสช.เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะมีมติสั่งแบนสารเคมีเกษตร 4 ชนิด ภายหลังครบกำหนดผ่อนผันขยายเวลาจำหน่าย ส.ค. 56
ดร.อัมรา เวียงวีระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการข้าวไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเคมีเกษตร 4 ชนิดในการปลูกข้าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระบบนิเวศตาย เช่น งูนา กบ เขียด หรือแบคทีเรียต่าง ๆ นอกจากนี้พิษของสารเคมียังทำลายตัวห้ำ ตัวเบียน ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เพราะหากปล่อยให้มีเพลี้ยชนิดนี้มากขึ้น ชาวนาก็จะใช้สารเคมีในการกำจัดมากขึ้นทุกปี
“กรมการข้าวพบสารเคมีเกษตรในข้าวเปลือกน้อยมาก โดยมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 1% อย่างไรก็ตามได้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นย้ำกับชาวนาไม่ให้ใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างเด็ดขาด”
ทั้งนี้กังวลว่าอนาคตอาจมีการนำสารเคมีอันตรายชนิดอื่นเข้ามาใช้อีก ดังนั้นการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางออกที่ดี แต่ผู้บริโภคต้องหันมาบริโภคสินค้าอินทรีย์ด้วย เพื่อโน้มน้าวให้ชาวนาหรือเกษตรกรเปลี่ยนวิธีการผลิตที่ฟื้นฟูระบบนิเวศ
นายน้ำค้าง มั่งศรีจันทร์ เกษตรกรอ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะถูกโฆษณาชวนเชื่อจากภาครัฐว่าใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตดี จนกระทั่งเริ่มมีอาการวิงเวียนศรีษะ และตรวจพบสารเคมีในเลือด แม้จะอัตราไม่สูงมากนัก แต่ก็ทำให้บางครั้งเกิดอาการตาค้าง นอนไม่หลับได้เช่นกัน ทั้งนี้มีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย และเก็บคืนสินค้าต้องห้ามให้ท้องตลาดให้หมด รวมถึงพัฒนาเกษตรกรรมทางเลือกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ พืชสมุนไพรไทย ซึ่งสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี แต่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น
ที่มาภาพ:http://www.matichon.co.th/online/2011/08/13143444451314344563l.jpg