ขบวนการย่ำยีระบบยุติธรรมไทย?
จากคำแถลงและคำให้สัมภาษณ์ของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (อีเอสไอ)ได้ข้อยุติในระดับหนึ่งว่า การนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก หรือนายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี พยานในคดีลักพาตัวนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ออกนอกราชอาณาจักไทยไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2555 เป็นฝีมือของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอ
นายธาริตอ้างว่า ใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครอง พ.ต.ท.สุวิชชัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 เนื่องจากจำเลยในคดีลักพาตัวนายอัลรูไวรีคือ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ นายเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอิทธิพล
นายธาริตอ้างด้วยว่า ได้รับอนุมัติการใช้มาตรการพิเศษจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก) ในการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองพยานดังกล่าว
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองพยานในคดีอาญา มาตรา 9 ระบุว่า เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าพยานจะไม่ได้รับความปลอดภัย พยานหรือบุคคลอื่นใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้อง พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ... อาจยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย เพื่อขอใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมของพยานด้วย
เมื่อได้รับคำร้อง.. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยด่วน ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานจะไม่ได้รับความปลอดภัย ก็ให้สั่งให้ใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.สุวิชชัย มิใช่ “พยานธรรมดา” แต่เป็น “จำเลย” ในอีกคดีหนึ่งคือฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต แต่จำเลยหลบหนีหมายจับของศาลอยู่
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า นายธาริตจะอ้างกฎหมายคุ้มครองพยาน ไม่ยอมนำตัวพยานมาปรากฏตัวและสืบพยานในศาลไทย โดยอ้างว่าพยานหลบหนี
แต่กลับลักลอบนำตัวพยาน (จำเลย) ออกนอกราชอาณาจักร (ไม่ผ่านระบบการตรวจคนเข้าเมือง) เพื่อให้พ้นเขตอำนาจศาลไทยและนำมาเป็นข้ออ้าง (แจ้งเท็จ?) ต่อศาลให้ส่งประเด็นไปสืบ ณ ศาลต่างประเทศได้หรือไม่
ในกรณีนี้ นายธาริตอ้างว่า การไม่แจ้งต่อศาลและพนักงานอัยการให้รู้ว่า พ.ต.ท.สุวิชชัยถูกนำตัวออกนอกราชอาณาจักตามกฎหมายคุ้มครองพยานเพราะกฎหมายคุ้มครองพยานห้ามไมให้เปิดเผยข้อมูลที่จะมีผลกระทบกับความปลอดภัยของพยาน และผู้ที่เปิดเผยก็จะมีโทษตามกฎหมาย
“กรณีที่อัยการ (นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ) อ้างว่าไม่รู้เรื่องการพาตัวพ.ต.ท.สุวิชัยออกนอกประเทศ นั้นอาจเพราะอัยการมีหน้าที่สืบพยาน รู้ว่ามีพยานมาก็ไปสืบแต่อัยการไม่มีหน้าที่และไม่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองพยานที่อยู่ในการคุ้มครองตามมาตราพิเศษ” นายธาริตกล่าว
ถ้าคนทั่วไป อ่านข้ออ้างของนายธาริตอย่างผ่านๆ ก็ฟังดูมีเหตุมีผล เพราะมุ่งหมายที่จะคุ้มครองความปลอดภัยของพยานเป็นสำคัญ แต่ถ้าพิจารณาข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงแล้ว อาจมองได้ว่า นายธาริตและพวกกำลังย่ำยีระบบยุติธรรมไทย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการแรก เจตนารมณ์ในการคุ้มครองพยาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญาก็เพื่อให้พยานสามารถให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือเบิกความต่อต่อศาลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งควรกระทำอย่างรวดเร็ว แต่กรณีที่เกิดขึ้นพนักงานอัยการ (ดีเอสไอ?) กลับอ้างว่า พยานหลบหนีไปต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ซาอุดิอาระเบีย และยูเออี โดยไม่ยอมนำพยานมาเบิกความต่อศาลไทยตั้งแต่กรกฎาคม 2554
แต่ข้อเท็จจริงมาปรากฏตามข้ออ้างของนายธาริตว่า พยานอยู่ในการคุ้มครองของดีเอสไอ แต่กลับไม่ยอมนำมาตัวมาเบิกความต่อศาลไทย
ประการที่สอง นายธาริตอ้างว่า ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้พนักงานอัยการและศาลรู้ว่า พยานอยู่ในการโครงการคุ้มครองพยานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญาเพราะต้องผิดเป็นความลับ การเปิดเผยความลับจะมีโทษทางอาญา
ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น การไม่เปิดเผยความลับดังกล่าว น่าจะหมายถึงการไม่เปิดเผยรายละเอียดที่จะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อพยาน เช่น สถานที่อยู่ แต่มิได้หมายถึงการไม่แจ้งว่า พยานอยู่ในโครงการคุ้มครองพยานต่อพนักงานอัยการหรือศาลหรือไม่
เพราะบทบัญญัติใน พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญาฯหลายมาตรากำหนดขอบเขต การสิ้นสุดการคุ้มครองพยานหรือการจ่ายค่าชดเชย หรือเรียกค่าชดเชยคืนจากพยานโดยใช้คำพิพากษาเป็นตัวกำหนด เช่น การเบิกความเป็นเท็จต่อศาลจนศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษพยาน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสั่งให้สิ้นสุดการคุ้มครองพยาน (มาตรา 12) หรือเรียกเงินชดเชยที่จ่ายให้แก่พยานคืน (มาตรา 18)
นอกจากนั้น หากอ้างว่า พนักงานอัยการจะแจ้งเท็จต่อศาลอย่างไรก็ได้ เพื่อคุ้มครองพยานก็ย่อไม่เป็นธรรมต่อจำเลยหรือคู่กรณี เพียงแต่การเบิกความในศาลอาจต้องทำเป็นการเฉพาะหรือเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยพยาน
ประการที่สาม ถ้า พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในดคีอาญาฯให้อำนาจดีเอสไอนำตัวพยานออกนอกราชอาณาจักรไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คำถามคือ เมื่อนำตัวพยานออกพ้นราชอาณาจักรไทยแล้ว ดีเอสไอจะใช้อำนาจตามกฎหมายไทยในการคุ้มครองพยานที่อยู่ในต่างประเทศได้อย่างไร
อำนาจตามกฎหมายของดีเอสไอย่อมหมดลงทันทีเมื่อก้าวพ้นพรมแดนของราชอาณาจักรไทย ยิ่งพยานรายนี้เป็นจำเลยที่หลบหนีคดี เมื่อออกนอกราชอาณาจักรไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษก็ย่อมหมดอำนาจในการควบคุมตัวจำเลย
ถ้าจำเลยคดีนี้หลบหนี นายธาริต พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 2 นาย และผู้ที่ช่วยเหลือให้จำเลยหลบหนีจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
ประการที่สี่ ถ้านายธาริตอ้างว่า มีอำนาจในการคุ้มครองพยานที่เป็นจำเลยในคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิตให้หลบหนีไปอย่างไรก็ได้ เท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองพยานสามารถละเมิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างไรก็ได้
ต่อไปคงมีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายคุ้มครองพยาน (รับจ้าง?) ช่วยเหลือพาจำเลยหลบหนีกันเป็นล่ำเป็นสัน
จำเลยหรือนักโทษซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุด จะพ้นโทษก็ด้วยการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย การตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษและการตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น
ประการที่ห้า นายธาริตอ้างว่า พนักงานอัยการไม่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน (ต้องเก็บเป็นความลับ) มีหน้าที่สืบพยานตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น
แต่จากคำร้องต่อศาลและคำร้องเรียนต่ออัยการสูงสุดของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ได้ยื่นพยานเอกสารหลักฐานกล่าวหาว่า นางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีต่างประเทศ 2 หนึ่งในพนักงานอัยการโจทก์ (หนึ่งในกรรมการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน) เป็นผู้สั่งซื้อตั๋วเครื่องบินให้แก่ พ.ต.ท.สุวิชชัย และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 2 คนเพื่อให้พยานหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555
นอกจากนั้นยังให้นิติกรของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้โอนเงิน 115,600 บาทให้แก่บริษัทขายตั๋วเครื่องบินด้วย
ที่น่าสนใจ คือ เงินจำนวน 115,600 บาทที่โอนให้แก่บริษัทขายตั๋วเป็นเงินของใคร?
เมื่อนายธาริต บอกว่าอัยการไม่เกี่ยว ทำไมนางอินทรานีจึงเป็นผู้ซื้อตั๋วเครื่องบินให้แก พ.ต.ท.สุวิชชัย ทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นผู้ซื้อตั๋ว
มีผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสอบถามนางอินทรานีในประเด็นนี้ แต่มิได้รับคำชี้แจงใดๆ
ประการที่หก มีการเปลี่ยนชื่อ สกุล ย้ายที่อยู่และทำพาสปอร์ตให้แก่ พ.ต.ท.สุววิชัยซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศซึ่งตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญาฯ หน่วยที่ได้รับคำขอต้องให้ความร่วมมือและเก็บข้อมูลเป็นความลับ
แต่กรณีดังกล่าว ต้องเป็นพยานปกติ มิใช้พยานที่เป็นจำเลยหลบหนีหมายจับของศาลในอีกคดีหนึ่งซึ่งถึงที่สุดแล้ว
การยอมทำตามคำขอโดยมิได้พิจารณาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการในหน่วยงานเหล่านี้ต้องมีความผิดหรือไม่
ประการสุดท้าย หลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมอื้อฉาวมานาน บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่ว่า คนในแวดวงตุลาการ และกระบวนการยุติธรรม นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังไม่ออกมาแสดงความเป็นห่วงหรือแสดงเจตจำนงที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทั้งๆ ที่พฤติการณ์ดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อความศรัทธาในระบบยุติธรรมไทยอย่างรุนแรง
หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะนิ่งดูดายให้กลุ่มบุคคลหรือขบวนการเหล่านี้แสดงตัวอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างลอยนวล?