เสียงวิพากษ์ VS ข้อสังเกต นักวิชาชีพวิศวกร ต่ออภิมหาโปรเจ็กต์น้ำ
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลการพิจารณาผู้ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิด (conceptual plan) ออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศวงเงิน 340,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 กลุ่มบริษัท ได้แก่ 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWER CHINA JV 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ และ 6.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที
ที่น่าจับตา...
อยู่ที่ขั้นตอนต่อจากนี้ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่แท้จริง โดยแต่ละบริษัทมีอีกเวลา 45 วัน กลับไปทำการบ้าน เพื่อให้ได้ข้อเสนอด้านราคา ส่วนบริษัทเอกชนรายใดจะผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย (Final Selection) นั้นก็ต้องไปลุ้นกันในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้
ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คาดว่า กระบวนการทุกอย่างจะเสร็จเดือน พ.ค. เพื่อให้ทัน มิ.ย.2556 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 "ขีดเส้น" ไว้ ให้การกู้เงินต้องเสร็จสิ้น
แต่สำหรับประเด็นความไม่ชัดเจนในเชิงวิชาการกับการดำเนินโครงการฯ วิธีการใช้เงิน 3.4 แสนล้านบาท และการบริหารโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทำอย่างไรให้มีความโปร่งใสนั้น ยังคาใจ โดยเฉพาะกับบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นักอุทกวิทยาและวิศวกรชลศาสตร์ไทย บอกถึงความกังวลที่แม้รู้ทั้งรู้ว่า รัฐบาลไม่ฟังเสียงนกเสียงกาอย่างเขา และไม่ว่าพูดอย่างไรโครงการน้ำฯ ก็ต้องเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน
"ผมแค่เป็นห่วง เงิน 3.4 แสนล้านบาท กับการใช้เวลาเพียงเดือนครึ่งหลังจากนี้"
"การให้กลุ่มบริษัทเอกชนเสนอ ออกแบบ คิดราคาด้วย ภายในเดือนครึ่ง ใครที่ไหนทำได้ เช่น ฟลัดเวย์ 1.2 แสนล้านบาท ให้ออกแบบ คิดราคา ไหนต้องผ่านกระบวนการเวนคืนที่ดิน ถามว่า เวนคืนที่ดินเท่าไหร่ อยู่ในวงเงินด้วยหรือไม่"
ส่วนการยกข้ออ้างหรือยกเหตุผลให้ต้องเร่งรีบทำโครงการบริหารจัดการน้ำ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายกำหนดนั้น เขาบอกว่า "ตรงนั้นผมไม่สน รู้กันอยู่ ระยะเวลาเดือนครึ่ง เป็นไปไม่ได้ สมมุติหากคิดราคาได้ ก็ต้องมี Bank Guarantee ซึ่งแบงก์เขาควรต้องดูที่เสนอราคามา ซึ่งหากออก Bank Guarantee ให้ ก็ต้องมีเงินสดกองไว้ หากสัญญานี้ไม่สามารถทำได้ ต้องถูกยึดเงิน ฉะนั้น Bank Guarantee ไม่ใช้ง่ายๆ กรณีสร้างฟลัดเวย์ 1.2 แสนล้านบาท Bank Guarantee 10% เป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทแล้ว"
ไหนจะเรื่องความไม่ชัดเจนรายชื่อคณะกรรมการที่เป็นคนพิจารณา ทั้ง 10 โมดูล ใครคือผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่องการคิดราคา การออกแบบว่า ถูกต้องหรือไม่ หรือหากพิจารณาเสร็จ ใคร หรือหน่วยงานไหน จะเป็นคนเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชน หรือจะเป็นสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ก็ยังมีความไม่ชัดเจนด้วยว่า สำนักนายกฯ จะมีสิทธิ์เซ็นสัญญางานประมูลเมกะโปรเจ็กต์ ใหญ่ ขนาดนี้ได้หรือไม่
"ผมจึงถาม หน่วยงานไหนเป็นคนเซ็นสัญญา และคนเซ็นสัญญาได้มีโอกาสพิจารณาหรือไม่ การคิดราคาโครงการมหาศาล ใช้เวลาออกแบบ เสนอราคา เดือนครึ่งเป็นไปได้หรือ ใครก็ทำไม่ได้หรอก ไม่ใช้โครงการเล็กน้อยนะ มันใหญ่มาก"ดร.สุบิน ยืนยัน และบอกว่า โครงการน้ำทั้งหมด 3.4 แสนล้านบาท มอบคณะเดียวพิจารณานั้น ภาระหนักยิ่งกว่าโครงการโรงพักตำรวจ 396 แห่ง งบประมาณ 6 พันล้านเสียอีก
"นี่งบฯ หลายแสนล้านบาท กลับใช้เวลาพิจารณานิดเดียว" วิศวกรอาวุโส ตั้งข้อสังเกต ด้วยหวังให้อภิมหาโครงการน้ำ มีความเป็นไปได้ ไม่เกิดความเสียหายด้านวิศวกรรมซ้ำซ้อน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ขณะที่ ผศ.ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ ภาควิชากรวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียก "ทีโออาร์การบริหารน้ำขุ่น"
เขาชี้ว่า โครงการน้ำ 3.4 แสนล้านบาท จะทำให้โปร่งใสลำบาก เพราะขุ่นมาตั้งแต่แรก
"ผมมานั่งดู แล้วก็ตั้งข้อสงสัยจากทีโออาร์ครั้งแรก ยุทธศาสตร์รู้สึกจะเป็น 3 เดือน จากนั้น รัฐบาลไม่เคยนำเสนอออกมาเลยว่า สิ่งที่ตัดสินจนกระทั่งได้ออกมา 6 กลุ่มบริษัทนั้น ผ่านหลักเกณฑ์มาอย่างไร เราไม่รู้เลย เช่น บริษัทกิมจิ ซัดทุก 10 กลุ่ม ซึ่งผมยังแซวรู้สึกกิมจิจะมาแรง ซูชิ และก๋วยเตี๋ยว ทุกอย่างดูเป็นความลับหมด จนสุดท้าย ก็ยังมา 3 เดือนอีกให้เสนอราคา ผมก็ยังมองไม่เห็นจะเป็นไปได้อย่างไร"
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า การศึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง ให้อยู่ในสัญญาเดียวกัน ไม่เคยเห็นที่ใดทำกันในโลก ซึ่งทั้ง 10 โครงการขอตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจงใจจะหาผู้รับเหมาเพียงอย่างเดียวหรือไม่ อีกทั้งการที่รัฐบาลให้แต่ละเจ้านำเสนอโครงการต่างๆ จึงอยากถามว่า บริษัทต่างๆ ศึกษารายละเอียดในลักษณะงานหรือแนวทาง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นหรือยัง
"ผมหวั่นว่า รัฐบาลจะเสียค่าโง่ให้แก่เอกชน เพราะข้ามขั้นตอนหลายอย่างตามหลักวิชาการ คือไปสรุปก่อนศึกษา ซึ่งไม่มีใครในโลกทำกันอย่างนั้น"
สอดคล้องกับนายประเสริฐ โพธิ์วิเชียร กรรมการบริหารสมาคมนักอุทกวิทยาไทย แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของกรอบระยะเวลา ที่หากทำโครงการไปแล้ว แต่ไม่สามารถมอบพื้นที่ได้ รัฐบาลถูกฟ้องแน่นอน อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังผิดขั้นตอนที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบ หรือถามความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเลย
ทิ้งท้าย นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ด้วยไม่อยากเห็นอนุสาวรีย์ความอัปยศทางวิศวกรรมที่รัฐบาลจะทิ้งไว้ในอนาคต เหมือนอย่างโครงการโฮปเวลล์ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และล่าสุด โครงการสร้างโรงพักตำรวจ
"วันนี้รัฐบาลก้าวมาลึก แต่ทางสำเร็จอาจไม่เกิดขึ้น ในการบริหารโครงการภาครัฐระดับใหญ่ ในทางวิศวกรรมผมอยากเห็นการตัดสินใจที่เป็นระบบ สามารถอธิบายได้ เราไม่อยากเห็นการตัดสินใจโดยใช้ดุลยพินิจ"
ข้อสังเกตถึงภาครัฐเรื่องการบริหารจัดการน้ำ จาก วสท.
1.กรอบแนวคิด การออกแบบก่อสร้าง ขาดการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.การมอบงานให้ผู้รับเหมา และหากผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้ จะเกิดการฟ้องร้องค่าเสียหาย รัฐต้องรับผิดชอบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างชัดๆ การไม่อาจส่งมอบงานได้ คือ ฟลัดเวย์ ได้มีการทำความเข้าใจกับภาคประชาชนหรือไม่ ว่า จะทำแนวฝั่งไหน เป็นต้น
3.งานวิศวกรรมก่อสร้างทุกด้านต้องพบกับปัญหา ซึ่งหากมีการแก้ไขแบบแปลน ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา ถามว่า รัฐบาลจะมีการขยายอายุสัญญาหรือไม่
4.ผู้ควบคุมงานจำนวนมากมาย ซึ่งกระจายอยู่ทั้งประเทศจะทำกันอย่างไร
5.งานแต่ละโมดูลมีพื้นที่กว้างขวาง ครอบคลุมหลายจังหวัด หากงานหนึ่งงานใด มีปัญหา เช่น โมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ซึ่งหากงานหนึ่งงานใดมีปัญหา (หากเป็นสัญญาเดียว) มีสัญญาหนึ่งเข้าพื้นที่ไม่ได้ ถามว่า รัฐบาลได้แยกสัญญาไว้หรือไม่ หรือกรณี พื้นที่ลุ่มน้ำยม ดำเนินงานไม่สำเร็จ จะมีการปรับทั้งสัญญาหรือไม่
6.การมอบงาน 3.4 แสนล้านบาท ให้ 6 กลุ่มบริษัท พบว่า มี 2 บริษัท เสนอทั้ง 10 โมดูล อีก 4 บริษัทเสนอบางโมดูล และหากบริษัทหนึ่งบริษัทใดได้งานจำนวนมาก จะมีบริษัทเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ค) หลายเจ้า จะเกิดค่าบริหารจัดการซ้ำซ้อน หรือชาวบ้านเรียกว่า กินหัวคิวกันหลายต่อ พอถึงคนทำงานจะเหลือเงินสำหรับบริหารโครงการไม่เพียงพอ ในที่สุดจะเกิดปัญหาละทิ้งงาน
7.การเรียกร้องความเสียหายจากกลุ่มบริษัท ซึ่งจับมือกันทำงานในรูปแบบ joint-venture หรือ Consortium ต้องดูลักษณะสัญญา หากทำงานไม่สำเร็จ จะเรียกร้องที่ใคร
ความคืบหน้า การจัดโครงสร้าง สบอช.
16 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ ให้มีสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า "สบอช" เป็นส่วนราชการภายในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากเดิมให้กระทวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดูแล (อ่านเพิ่มเติม สปน.เจ้าของโครงการบริหารจัดการน้ำ)
7 กุมภาพันธ์ 2556 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธาน กบอ. เป็นประธานในการประชุม เรื่อง การปรับโครงสร้าง สบอช. ให้เป็นหน่วยงานภายในสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ สบอช. ตัวแทนสำนักงานกฤษฏีกา สำนักงบประมาณ สำนักงาน กพร. ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินงานและเตรียมการปรับหน้าที่ของ สบอช. เพิ่มให้เพื่อรองรับการจัดจ้างโครงการ 350,000 ล้านบาท โดยจะขยายคณะทำงานให้ครอบคลุมการให้คำปรึกษาทางวิชาการ การกำกับการจ้างที่ปรึกษาและการบริหารโครงการทั้ง 10 โมดูล ซึ่งการปรับปรุงนี้จะเสร็จทันการจัดจ้างภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้