ปัญหาชายแดนใต้...อย่าแบ่งข้างเชียร์เหมือนสนามมวย
"เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ได้เข้าไปเยี่ยมบ้านของผู้เสียชีวิตหลายราย ก่อนจะกลับภรรยาของผู้เสียชีวิตบางคนเดินมาขอจับมือ และบอกว่าพี่เข้าใจใช่ไหมว่าพวกหนูรู้สึกอย่างไร"
เป็นคำบอกเล่าจาก อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ หลังจากเดินทางลงพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เพื่อเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้เสียชีวิต 16 รายจากการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ ระหว่างเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 ที่บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
เป็นอารมณ์ความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสียซึ่งแน่นอนว่าตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมไทยทั่วไปที่ค่อนข้าง "สะใจ" กับปฏิบัติการของทหารนาวิกโยธิน
ท่าทีของสังคมไทยเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง (อาสารักษาดินแดน) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่ครู ต่างถูกยิง ถูกฆ่า และตกเป็นเหยื่อการลอบวางระเบิดมานับครั้งไม่ถ้วน โดยที่ฝ่ายรัฐดูจะตกอยู่ในสถานะ "ตั้งรับ" มาโดยตลอด
เมื่อครั้งนี้ฝ่ายรัฐพลิกกลับมาเป็น "ฝ่ายรุก" และสามารถ "จับตาย" กลุ่มบุคคลที่เรียกขานกันว่า "ผู้ก่อความไม่สงบ" ซึ่งขับเคลื่อนความรุนแรงอยู่ในพื้นที่ได้ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีอารมณ์ร่วมไปในทิศทาง "สะใจ" หรือ "ดีใจ"
ทว่าหากมองปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพใหญ่แล้ว การประหัตประหารกันด้วยอาวุธย่อมไม่ใช่หนทางสู่สันติสุขในดินแดนแห่งนี้อย่างแน่นอน เพราะภาพพิธีฝังศพผู้เสียชีวิตบางรายที่ถูกบันทึกเป็นคลิปวีดีโอเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทิวบ์ (www.youtube.com) และจากปากคำของคนที่ลงไปสัมผัสพื้นที่จริงอย่างอังคณา ย่อมสัมผัสได้ชัดเจนว่า "คนร้าย" ในสายตาของรัฐไทย หาใช่ "คนร้าย" ในสายตาของครอบครัวพวกเขา และรวมถึงผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
การร่วมกันค้นหาว่าเหตุใดคนเหล่านี้จึงหันไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐ ถึงขั้น "ยอมตาย" มากกว่า "ยอมมอบตัว" ตามการบอกเล่าของครอบครัวพวกเขา จึงน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและสร้างสันติสุขที่ปลายทางได้มากกว่า
แนะหยุดยิง-เปิดวงคุย
อังคณา เล่าว่า กลุ่มคนที่ไปเสียชีวิตที่ฐานนาวิกโยธิน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐมาก่อน หลายคนเป็นเหยื่อความรุนแรงจากเหตุการณ์ตากใบ (การสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 แล้วมีผู้เสียชีวิตมากมายถึง 85 ราย)
"ครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิตรู้สึกว่าคนของเขาเสียชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า เขาเชื่อว่าคนตายต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เคยได้รับ"
อย่างไรก็ดี อังคณา บอกว่า การต่อสู้กับความอยุติธรรมมีหลายแนวทาง เธอเองไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการฆ่าคนไม่มีทางสู้ หรือการทำร้ายเด็ก ผู้หญิง ซึ่งผิดหลักศาสนาอย่างชัดเจน ที่สำคัญการต่อสู้ด้วยอาวุธต่อไปย่อมเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ ฝ่ายที่มีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ หรือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ตาม
"ฉะนั้นทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายอุดมการณ์น่าจะมาพูดคุยกัน ทบทวนกับความสูญเสียที่ผ่านมา รัฐเองต้องเข้าใจว่าฆ่าคนเหล่านี้อย่างไรก็ไม่หมด ฆ่าไปก็เกิดคนใหม่เข้าขบวนการไปทดแทน ส่วนฝ่ายอุดมการณ์ก็ต้องเข้าใจว่าสู้ไปอย่างนี้ไม่มีวันชนะ เพราะศักยภาพที่มีอยู่ไม่อาจเอาชนะรัฐที่ใหญ่กว่ามากได้ ทางออกของปัญหาจึงไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันหน้ามาพูดคุยกัน เข้าใจเหตุผลของกันและกัน และหาทางออกที่ยอมรับกันได้มากที่สุด"
อังคณา บอกด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีช่องทางให้คนที่คิดต่างจากรัฐวางอาวุธแล้วออกมาต่อสู้ด้วยสันติวิธีน้อยเกินไป คนกลุ่มนี้จึงออกมาไม่ได้ อยู่บ้านก็ไม่ได้ ต้องเข้าป่า แล้วก็แอบเทียวไปเทียวมาเพื่อเยี่ยมครอบครัว
"รัฐนำตัวไปอบรม แต่ไม่ได้บอกว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เนื้อหาของการอบรมส่วนใหญ่ไปตัดสินว่าอุดมการณ์ของเขาผิด ไปเรียกเขาตั้งแต่แรกว่าผู้หลงผิด ก็ยิ่งทำให้คนพวกนี้ต่อต้าน นอกจากนั้นแต่ละคนยังมีหมายจับจำนวนมาก ทั้งๆ ที่รัฐก็ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนนักว่าเขาเกี่ยวข้องจริงๆ ตรงนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่กล้ามอบตัว เพราะถึงมอบตัวก็ถูกดำเนินคดีมากมาย ไม่ได้กลับบ้านอยู่ดี"
หยุดแบ่งข้างเชียร์
อาการสะใจของสังคมไทยกับความรุนแรงที่ชายแดนใต้เที่ยวล่าสุด แม้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ตามที่กล่าวในตอนต้น แต่หากสังคมไม่เรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจความสูญเสียของผู้คนร่วมแผ่นดินแม้จะต่างชาติพันธุ์และศาสนา ผลร้ายที่เกิดตามมาอาจกว้างขวางเกินกว่าจะประเมินได้ โดยเฉพาะในยามที่การต่อสู้ยังคงมีอยู่ และคู่ต่อสู้พยายามช่วงชิงความได้เปรียบ แม้จะอยู่บนซากความสูญเสียก็ตาม
ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม รัฐประศาสนศาตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ผู้ก่อความไม่สงบทำนั้น เป็นการทำด้วยความเชื่อ ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมที่มีมูลเหตุจูงใจตามปกติ แต่เป็นปฏิบัติการทางความเชื่อเชิงสัญลักษณ์ ฉะนั้นปฏิบัติการแบบนี้ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ โจมตีฐานสำเร็จหรือต้องจบชีวิต ก็จะถูกนำไปขยายผลเพื่อปลุกกระแสความเชื่อต่อไป เป้าหมายก็เพื่อให้คนรุ่นหลังเดินตาม
"สมมติเขาชนะ เขาก็จะประกาศศักดา แต่ถ้าแพ้ ก็นำความพ่ายแพ้และการกระทำของรัฐไปกระตุ้นต่ออีกในกลุ่มความเชื่อของเขาหรือกลุ่มที่ปลูกฝังอุดมการณ์เอาไว้ การปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายรัฐหากผิดพลาด หรือมีการแสดงอารมณ์สะใจของผู้คนในสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เหล่านี้จะกลายเป็นเคาท์เตอร์แอทแทค (การโต้กลับ) ทันที ฝ่ายที่รอจังหวะอยู่แล้วจะนำไปสร้างกระแสต่อว่าคนไทยเกลียดพวกเรา ไม่ต้องการเรา ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอยู่กับรัฐไทย"
ร.ต.อ.จอมเดช กล่าวอีกว่า สังคมต้องหยุดคิดและทบทวนการกระทำเหล่านี้ อาจจะเปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจทหารด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งกองทุนช่วยเหลือทหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ควรยอมให้หน่วยงานรัฐเข้าไปเยียวยาครอบครัวของผู้สูญเสีย
"ปัญหาภาคใต้ยังไม่จบ ผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้วเรายังไม่ชนะ คำถามคือจะจบอย่างไร การปฏิบัติการที่ฐานนาวิกโยธินเราชนะด้วยยุทธวิธีทางทหาร คือ 'รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง' แต่ยุทธศาสตร์ชั้นเลิศที่ดีกว่านั้นคือ 'ชนะโดยไม่ต้องรบ' ผมไม่อยากให้สถานการณ์ในภาคใต้เป็นเหมือนสนามมวย แบ่งข้างกันเชียร์ เพราะถึงที่สุดแล้วเราต้องอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทย"
ต้องอดทน-ทำความเข้าใจ
พ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวเช่นกันว่า เป้าหมายของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือสันติภาพ แต่ในพื้นที่ยังมีเหตุรุนแรงอยู่ ปฏิบัติการทางทหารจึงจำเป็น แต่นั่นไม่ใช่ยุทธศาสตร์ใหญ่ของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดขาดการสื่อสารที่ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ทำให้สังคมไม่เข้าใจ
"ผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ความโหดเหี้ยมเพื่อประโยชน์ในการควบคุมพื้นที่ ควบคุมมวลชน เราต้องอดทนกับสิ่งเหล่านี้ ปฏิบัติการทางทหารก็ต้องทำต่อไป แต่ทิศทางการแก้ไขปัญหาในภาพรวมคือต้องคุยกัน เพราะทุกความขัดแย้งจบลงบนโต๊ะเจรจา และรัฐต้องไม่ลืมทำให้สังคมรับรู้และเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงด้วย"
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ.2556 ด้วย
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ (ขวา) อังคณา นีละไพจิตร