เค.วอเตอร์ เปิดประสบการณ์บริหารจัดการน้ำ ย้ำชัดสนใจ โมดูล A6 เป็นพิเศษ
เค.วอเตอร์ 1 ใน 6 กลุ่มบริษัทผ่านคัดเลือกชิงเค้กบริหารจัดการน้ำ 3.4 แสนล้าน ชี้ฟลัดเวย์ งบฯ น้อยเกิน เชื่อทำไม่ได้สร้าง 2 ฝั่ง ตต.-ตอ. พร้อมเปิดความสนใจพิเศษ โมดูล A6 ปรับปรุงระบบคลังข้อมูล
1 ใน 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือก และมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคากรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ซึ่งถูกจับตาเป็นพิเศษ คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์)
เค.วอเตอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจสัญญาเกาหลีใต้ ก่อตั้งเมื่อปี 2510 หรือ เมื่อ 46 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 4,300 คน มีกลุ่มที่ปรึกษาทั้งพันธมิตรไทยและเกาหลีสำหรับโครงการนี้ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีเอเชีย
สำหรับประสบการณ์โครงการที่ดำเนินงานแล้วเสร็จ ในด้านไฟฟ้าพลังน้ำ 6 โครงการ ด้านการประปา 13 โครงการ ด้านบริหารจัดการน้ำ 13 โครงการ รวมทั้งเคยมีประสบการณ์การวางแผนแม่บทสำหรับการจัดการแหล่งน้ำในประเทศกัมพูชา ส่วนประสบการณ์ในประเทศเกาหลีใต้เอง เค.วอเตอร์ ก็มีประสบการณ์รับงานก่อสร้างเพื่อขยายทางน้ำล้มของเขื่อน ยีออนโช
เมื่อเร็วๆ นี้ นายมณฑล ภานุโภคิน กรรมการผู้จัดการ เค.วอเตอร์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังบริษัทผ่านเข้ารอบการคัดเลือก กระทั่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมา ทั้งการเป็นบริษัทม้ามืด และที่น่าสนใจเป็นบริษัทเดียวที่ยื่นเข้ามาโดยไม่มีบริษัทย่อยเป็นพันธมิตร
" เค วอเตอร์ ได้เสนอไปในทุกโมดูล ทั้ง 'ฟลัดเวย์ เขื่อน แก้มลิง พื้นที่ปิดล้อม ปรับปรุงแม่น้ำ' แต่สนใจโมดูล A6 เป็นพิเศษ คือ การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งบริหารจัดการน้ำ งบประมาณ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ และพัฒนาระบบซอฟท์แวร์มาตลอด โดยจะยึดลดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก"
ในส่วนของฟลัดเวย์ นายมณฑล กล่าวว่า งบประมาณที่กำหนดในทีโออาร์นั้น ไม่สามารถสร้างฝั่งตะวันตกและตะวันออกได้ จึงกำลังศึกษาว่าจะเสนอทำด้านใด
"งบประมาณในส่วนของฟลัดเวย์นั้นจำกัดเกินไป ส่วนเขื่อนนั้นเสนอไป 7 แห่ง และหากได้ฟลัดเวย์ที่มีประสิทธิภาพ แก้มลิงอาจไม่จำเป็นต้องมี"
สำหรับการก่อสร้างนั้น ผู้บริหารเค.วอเตอร์ ยอมรับว่า ต้องใช้บริษัทในไทยแน่นอน เนื่องจากเค.วอเตอร์เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่จะอาศัยเครื่องมือ และเทคโนโลยีต่างประเทศ
เมื่อถามถึงสิ่งที่กังวลที่สุด นายมณฑล บอกว่า คือ การสร้างความเข้าใจกับประชาชน ที่ต้องใช้ข้อมูลความจริง แต่หากสามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จทั้งหมด เชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนประเทศเรื่องระบบบริหารจัดการน้ำได้ แต่หากทางเค วอเตอร์ ไม่ได้รับคัดเลือก ก็ยินดีที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ พร้อมแสดงความเห็นด้วยกับการที่ กบอ.คัดเลือกแนวคิดที่ดีที่สุดจากทุกบริษัทที่เสนอมาร่างเป็นทีโออาร์ฉบับสุดท้าย แต่อาจต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของงบประมาณด้วย
"ที่ เค.วอเตอร์ ได้รับการสนใจจากสังคมมากเป็นพิเศษ เพราะเรามีทีมที่ปรึกษาที่เข้มแข็ง มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งไทยและเกาหลี อีกทั้งมีโครงการที่เคยก่อสร้างจับต้องได้ มองเห็นได้ โครงการบริหารจัดการน้ำของไทย ก็มีความใกล้เคียงกับประสบการณ์ทำงานที่เกาหลี แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น"
ทั้งนี้ ไทย และเกาหลี เคยลงนามเอ็มโอยูด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านน้ำระหว่างสองประเทศแล้วเมื่อปี 2555 และเค.วอเตอร์ ก็มีประสบการณ์ในประเทศอื่นๆ เช่น ลาว พม่า และสร้างเขื่อนที่ประเทศปากีสถาน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการร่างกรอบทีโออาร์ฉบับสุดท้าย ก่อนที่จะนำเสนอต่อ คณะกรรมการ กบอ.ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นั้น ได้มีการเสนอแนะถึงแนวทางการปรับเพิ่มและลดงบประมาณในบางโมดูลว่า มีความเป็นไปได้ในทางใดบ้าง หากใช้งบประมาณไม่ถึงที่กำหนดไว้ หรือมีงบประมาณไม่เพียงพอ เช่น การสร้างฟลัดเวย์ ส่วนปัญหาในการวางกรอบงบประมาณไว้ล่วงหน้าที่มีความยากลำบากในการจัดทำทีโออาร์และลงรายละเอียดของโครงการนั้น ก็จะมีการนำร่างทีโออาร์ฉบับนี้ส่งมอบให้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปลอดประสพ เคาะแล้ว 6 กลุ่มบริษัทร่วมประมูลจัดการน้ำ 3 แสนล้าน
เปิดทีโออาร์ “ฟลัดเวย์” 1 ใน 8 อภิโปรเจกต์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดหนัก 1.2 แสนล้าน
ปลูกป่า 10 ล้านไร่ต้นน้ำ- กลางน้ำ –ปลายน้ำ งบฯ หมื่นล้านปรับสมดุลระบบนิเวศ