เครือข่ายตลาดสีเขียวชงตั้งศูนย์กระจายสินค้า"ออร์แกนิก"กลางเมือง
รมว.สธ. ห่วงพฤติกรรมบริโภคคนไทย เสี่ยงเป็นโรคร้าย เตรียมออกประกาศมาตรฐานสินค้าออร์แกนิก มี.ค. 56 เครือข่ายตลาดสีเขียวจี้รัฐดันอาหารปลอดภัยรพ.จริงจัง ระบุยังไร้แผนจัดการมาตรฐาน-ราคาที่ดี ชูตั้งศูนย์กระจายสินค้าออร์แกนิกกลางเมือง
วันที่ 15 ก.พ. 56 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกองทุนสสส. เป็นประธานเปิดนิทรรศการอาหาร ‘เส้นทางกิน (พอ) ดี สู่ชีวีมีสุข’ และ ‘Green Consumer Society Fair ครั้งที่ 1’ พร้อมรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง การนำผลผลิตปลอดภัยเข้าสู่ครัวโรงพยาบาล และการจัดพื้นที่ตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาล
โดยข้อเสนอ คือ 1.ให้โรงพยาบาลในสังกัดสธ. จัดตลาดนัดสีเขียว เพื่อเอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ผลิต เกษตรกร และผู้ประกอบการสีเขียว 2.ปรับเงื่อนไขการนำอาหารปลอดภัยและผักไร้สารพิษสู่ครัวโรงพยาบาล เช่น เกณฑ์มาตรฐานสินค้า ระบบจัดซื้อจัดจ้าง 3.สร้างระบบสมาชิกระหว่างเกษตรกรและโรงพยาบาล พัฒนาสายสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วน และ4.จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การรับและกระจายผลผลิตสีเขียว เพื่อเอื้อต่อการรวบรวมชนิดและปริมาณพืชผัก การตรวจสอบคุณภาพและการขนส่ง
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า คนไทยให้ความสำคัญกับอาหารที่บริโภคลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีคนไทยมากกว่า 400,000 คน/ปี เสียชีวิตด้วยโรคที่มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภค อาทิ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง ซึ่ง สธ. ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม วางแนวทางการขับเคลื่อนคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารตั้งแต่ระดับผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค โดยในส่วน สธ.ได้กำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายย่อยในการผลิตอาหารออกสู่ตลาด อีกทั้งได้กำชับไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จะต้องเป็นหน่วยงานต้นแบบอาหารปลอดภัย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่สังคมอีกทางหนึ่งด้วย
“ปัจจุบันคนเมืองกว่า 80% นิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน ดังนั้นความสะอาด ปลอดภัยของร้านอาหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ รวมทั้งในส่วนบุคคลเองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง เลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัยตามหลัก 4 เลือกได้ คือ 1.เลือกอาหารเหมาะสมกับปริมาณที่ควรบริโภคในแต่ละวัน 2.เลือกอาหารจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ 3.เลือกอาหารสะอาดและปลอดภัย และ 4.เลือกอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ”
รมว.สธ. ยังกล่าวว่า ได้มีการกำชับไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำเกณฑ์มาตรฐานอาหารออร์แกนิก คาดว่าจะเสร็จในมี.ค. ก่อนที่จะออกเป็นประกาศบังคับใช้ เพื่อผู้ประกอบการจะเข้าสู่ระบบการรับรองจากอย.ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังดำเนินงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การประกาศห้ามให้สินค้ามีสารเคมีอันตรายปนเปื้อน และการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ รวมถึงสธ.จะส่งเสริมความรู้แก่ผู้บริโภคให้รู้เท่าทันอาหารที่ไม่ปลอดภัย
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานสุขภาพประชาชนไทย ปี 2551-52 พบว่าสถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้คนไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยรับประทานผักและผลไม้เพียงพอไม่ถึงครึ่ง คิดเป็น 17.7% ลดลงจาก 21.9% ในปี 2546-47 และภาคกลางบริโภคผักผลไม้น้อยที่สุด 14.45% อีกทั้งยังไม่เข้าถึงผักผลไม้ที่ปลอดภัย ซึ่งจากการสำรวจพบผักผลไม้ในตลาดมีสารเคมีตกค้างถึง 40% และที่น่าตกใจว่าไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการใช้สารเคมีทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็น 87 ล้านกิโลกรัม/ปี เป็นเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท
ด้านนางวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัท สวนเงินมีมา จำกัด ในฐานะผู้ขับเคลื่อนโครงการตลาดสีเขียว กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยยอมรับวิถีแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งเกิดจากความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ ด้วยขณะนี้มีผู้ป่วยที่เกิดจากการใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะวิธีการเลือกบริโภค เช่น กินอาหารปนเปื้อนสารเคมี จนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ประกอบกับการใช้สารเคมียังทำให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและเอกชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่อาจต้องผลักดันมาตรการส่งเสริมและป้องกันอย่างจริงจัง เช่น กระทรวงสาธารณสุขอยากให้โรงพยาบาลในสังกัดนำผลผลิตอินทรีย์เข้าสู่ครัวโรงพยาบาล และจัดพื้นที่ตลาดสีเขียวในโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แต่กลับไร้วิธีการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรมในด้านการตั้งราคาและการตรวจสอบมาตรฐาน ทำให้สินค้าอื่นเข้าไปปะปนได้ จนเกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคสินค้าอินทรีย์พันธุ์แท้จำเป็นต้องร่วมกันรณรงค์ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหางบประมาณ และเร่งตรวจสอบสินค้าอินทรีย์ในศูนย์การค้าและร้านค้าชั้นนำที่มักหลอกลวงผู้บริโภคว่าปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการเสวนา ‘ตลาดสีเขียว แหล่งอาหารปลอดภัยของคนเมือง’ โดยนางธัญญา แสงอุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายตลาดนัดสีเขียวเมืองสุรินทร์ กล่าวว่า เกษตรกรจ.สุรินทร์รวมตัวตั้งเป็นเครือข่ายตลาดสีเขียวตั้งแต่ปี 46 จากเดิมมีสมาชิกเพียง 10 คน แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย เช่น สสส. บริษัท สวนเงินมีมาฯ ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 90 คน โดยเราจะแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่ม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าอินทรีย์ และคัดเลือกผู้ผลิตที่จะเข้าเป็นเครือข่าย ซึ่งจะต้องลงพื้นที่ตรวจดูแหล่งผลิตและกระบวนการผลิต รวมถึงใช้ระบบดูแลกันเอง เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้าไม่ปลอดภัยมาขาย ทั้งนี้ยืนยันว่าสินค้าของตลาดสีเขียวสุรินทร์เป็นเกษตรอินทรีย์แท้ 100% เพราะไม่มีการตัดต่อพันธุกรรมเมล็ดพันธุ์เลย
ผู้ประสานงานฯ กล่าวต่อว่า การทำงานของเครือข่ายตลาดสีเขียวทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะการต่อสู้กับอุตสาหกรรมอาหารของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีการปนเปื้อนของสารเคมี โดยบริษัทเอกชนหรือผู้ประกอบการเขตเมืองพยายามกว้านซื้อที่ดินปลูกผักสีเขียวเข้มส่งขายตามศูนย์การค้าชื่อดัง ซึ่งพยายามนำเสนอว่าผลผลิตเป็นสีเขียว แต่เราคิดว่ากระบวนการของตลาดสีเขียวไม่ใช่เพียงทำให้ผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องทำให้รู้ว่าอาหารมีที่มาอย่างไรด้วย ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญ ดังนั้น เครือข่ายฯ คิดว่าควรร่วมมือกับกลุ่มทุนนำผลผลิตอินทรีย์แท้จากสุรินทร์วางขายในศูนย์กลางจัดการอาหารคนกรุงเทพฯ โดยเรามีทั้งผัก หมู ไก่ ปลา ที่มาจากธรรมชาติปลอดสารเคมี ที่สำคัญราคาไม่สูงอย่างที่กังวลพร้อมจัดส่งให้
“ตลาดสีเขียวจ.สุรินทร์ทำให้คนจนเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ แต่หากตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ มีความตั้งใจทำให้คนรวยเท่านั้นเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ นั่นจะทำให้มีคนด้อยโอกาสอีกมากที่ต้องการอาหารที่ปลอดภัย ฉะนั้นกระบวนการจึงต้องต่อสู้หลายมิติมากกว่าความปลอดภัย อยากเกิดความร่วมมือระหว่างภาคอีสานกับนายทุนให้เกิดศูนย์กระจายอาหารมากกว่านี้” ธัญญา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่องทางตลาดสีเขียวมี 4 ช่องทาง คือ 1.ร้านกรีน โดยมีเครือข่ายในกรุงเทพฯ และปริมาณฑล 20 ร้าน ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ทั้งอุปโภค บริโภค เวชสำอาง สมุนไพร สินค้าจากชุมชน 2.ระบบสมาชิกผักอินทรีย์ (CSA) เป็นระบบผู้บริโภคสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ด้วยการจ่ายค่าผลผลผลิตเพื่อรับข้าวสาร ผัก ผลไม้ นม ที่ปลอดภัยเป็นประจำทุกสัปดาห์ผ่านระบบสมาชิกที่มีหลักประกัน 3.ศูนย์เรียนรู้การรับและกระจายผลผลิตสีเขียว (LDC) เพื่อเป็นตัวกลางรับผลผลิตไร้สารพิษจากเครือข่ายเกษตรกรกระจายสู่ผู้บริโภคทั้งบุคคลและสถาบัน และ4.ตลาดนัดสีเขียว เปิดตั้งแต่ 07.00-14.00 น. วันจันทร์-รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันอังคาร-อาคาร 3 สำนักปลัดก.สาธารณสุข วันพุธ-รพ.ปทุมธานี รพ.นครธน วันพฤหัสบดี-อาคารรีเจ้นท์เฮ้าส์ ถ.ราชดำริ และรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันศุกร์-รพ.บางโพ รพ.กรุงธน1 และวันอาทิตย์-รพ.มิชชั่น.
ที่มาภาพ:http://www.thaihof.org/sites/default/files/wisdom/IMG_3731.JPG