สตม.เผยดูแลโรฮิงญาใกล้เต็มอัตราห้องกัก-ยังมาอีกหวั่นลำบาก
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเปิดสถิติล่าสุด ควบคุมโรฮิงญาทั้งสิ้นกว่า 1,772 คน กระจายอยู่ตามห้องกักของด่านตม. 9 แห่งทั่วประเทศ เผยดูแลไม่ง่าย ปัญหาเยอะ หวั่นมาเพิ่มจนรับไม่ไหว ระบุพบเรื่อย ๆ ออกมาจากป่า-เขาทุกวัน ยันทำงานยึดความมั่นคงของชาติเป็นอันดับแรก
(วานนี้) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาทางวิชาการ “โรฮิงญา: บททดสอบและก้าวย่างแห่งประชาคมอาเซียน”
พ.ต.อ.อนุชา กิติวิภาต ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 2 กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลและสถิติสถานการณ์ชาวโรฮิงญาล่าสุดว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายคือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2552 และได้ดำเนินการขั้นพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มความสามารถ ทั้งดูแลด้านสุขภาพอนามัย ด้านอาหาร การสัมภาษณ์คัดแยกโดยทีมสหวิชาชีพ
สำหรับสถิติการควบคุมชาวโรฮิงญา ตั้งแต่ 9 ม.ค.2556 – 13 ก.พ.2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,772 คน แบ่งเป็นชาย 1,453 คน หญิงและเด็ก 319 คน
ส่วนสถานที่ควบคุมชาวโรฮิงญา ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.2556 (เวลา 14:00 น.) ระบุว่า สตม.ได้กระจายชาวโรฮิงญาไปควบคุมดูแลในห้องกักในสังกัด สตม. จำนวน 9 แห่ง รวม 1,412 คน และห้องกักนอกสังกัด สตม. อีก 11 แห่ง รวม 360 คน โดยในสถานที่กักตัวบางแห่ง เช่น ด่าน ตม.กาญจนบุรี ด่าน ตม.พิบูลย์มังสาหาร และด่าน ตม.มุกดาหาร มีผู้ต้องกักทั่วไปที่ไม่ใช่โรฮิงญารวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ พ.ต.อ.อนุชาเปิดเผยด้วยว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสามารถรับตัวผู้ต้องกักทั่วประเทศไว้ได้ไม่เกิน 3,000 คน ซึ่งขณะนี้มีผู้ต้องกักอยู่ในการควบคุมรวมแล้วจำนวน 2,598 คน (เป็นโรฮิงญา 1,412 คน) จึงยังคงรับเพิ่มได้อีก 402 คนเท่านั้น ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าชาวโรฮิงญายังคงหลบหนีเข้าเมืองมาเรื่อย ๆ แทบทุกวัน เพราะประเทศไทยถือว่าให้การดูแลค่อนข้างดีแก่ชาวโรฮิงญา
“ที่บอกว่าจับกุมแล้วจะไม่มา ไม่จริง ตอนนี้โรฮิงญาออกมาทุกวัน ออกมาจากป่าบ้างลงมาจากเขาบ้าง” พ.ต.อ.อนุชากล่าวและว่า การควบคุมดูแลชาวโรฮิงญาตอนนี้ประสบปัญหาในเชิงรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปัญหาการสื่อสาร การจัดการสถานที่ การรักษาโรค รวมถึงปัญหาการหลบหนี จึงอยากให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้าใจและเห็นใจการทำหน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในฐานะผู้ปฏิบัติงานโดยตรงด้วย พร้อมกันนี้ได้ยืนยันว่า สตม. ปฏิบัติงานนี้โดยยึดหลักความมั่นคงของชาติเป็นหลักก่อน โดยควบคูู่ไปกับหลักสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ พ.ต.อ.อนุชายังแสดงความกังวลไปถึงนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าหลังจากควบคุมดูแลชาวโรฮิงญาขั้นต่ำครบ 6 เดือนแล้ว จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ทั้งนี้ตนเชื่อว่าการกระทำของชาวโรฮิงญาทุกวันนี้เป็นการดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด โดยเป้าหมายที่แท้จริงของชาวโรฮิงญาคือการไปประเทศที่สาม โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน