ยิ่งลักษณ์ เรียกถกผู้ว่าฯ 29 จว. รับมือภัยแล้ง
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ออกมาตรการรับมือภัยแล้ง 29 จว. กำหนดแผนระยะสั้น-ยาว ดึง ปภ.-กบอ.ทำงานรวมศูนย์ กำชับ รมต.จับตาใกล้ชิดจังหวัดแล้ง เล็งจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรใหม่ เตรียมเคาะงบฯ สัปดาห์หน้า
วันที่ 15 ก.พ. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งประจำปี 2556 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกันด้วย อาทิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 29 จังหวัด 22,223 หมู่บ้าน ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยแล้ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือภัยแล้งที่เกิดขึ้น ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ 4 ข้อ รวมทั้งการมอบหมายให้รัฐมนตรี 14 คน รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง โดยมีนายปลอดประสพ ในฐานะประธาน กบอ.เป็นผู้ดูแลภาพรวมทั้งหมด แล้วนำปัญหา ความต้องการของประชาชนในแต่ละจังหวัด เพื่อมาหาวิธีการแก้ไขซึ่งแนวทางปฏิบัติทั้ง 4 ข้อมี ได้แก่
1.การบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก
2.ประชาชนต้องเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความช่วยเหลือ ด้านการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มการส่งน้ำ หรือการเจาะบ่อน้ำบาดาล รวมถึงการใช้รถบรรทุกน้ำจากทุกหน่วยนำน้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชน
3.ระดับปฏิบัติการให้ยึดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติในระบบ 2P2R
4.ยึดหลัก Area Approach ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ด้านการสั่งการ ยึดหลัก Single Command เพื่อความชัดเจนและประสิทธิภาพในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมถึงการจัดตั้ง Forward Command เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งอย่างทันท่วงที
ขณะที่นายปลอดประสพ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้กำหนดมาตรการ ในช่วงระยะเวลา 90 วัน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.- 15 พ.ค. 2556 ได้แก่ 1.จัดหาภาชนะบรรจุน้ำตามหมู่บ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โดยจะนำมาจากกรมประมง 2.จัดตั้งศูนย์เครื่องมือ เช่น รถบรรทุกน้ำ รถสูบน้ำแรงดันสูงและรถผลิตน้ำดื่ม จัดหาจากหน่วยงานราชการหรือทำเรื่องเช่ากับเอกชน ทั้งนี้ ได้ประสานกับ บริษัท ปตท. เพื่อขอความร่วมมือให้รถในศูนย์ฯ เติมน้ำมันฟรี 3.ขุดบ่อบาดาล 4.หาอาชีพทดแทนให้เกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
ทั้งนี้ ภายหลังระยะเวลาหลัง 90 วัน นายปลอดประสพ กล่าวว่า ได้วางนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ โดยให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำงานร่วมกันในการรับผิดชอบน้ำท่วม ภัยแล้งและภัยพิบัติต่างๆ แบบรวมศูนย์ และวางแผนจัดการน้ำใหม่ โดยให้น้ำเป็นตัวตั้ง ตามที่ กบอ.ดำเนินการอยู่ รวมทั้งจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรมใหม่ ให้เหมาะสมกับฤดูกาลและเส้นทางคมนาคม แต่ไม่ใช่การห้ามเพาะปลูก เป็นการส่งเสริมให้เพาะปลูกให้เหมาะสมกับฤดูกาลและไม่ขาดแคลนน้ำ
ในส่วนงบประมาณ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละหน่วยงานกำลังจัดทำอยู่ และคาดว่าภายใน 2-3 วัน จะได้ยอดสรุปงบประมาณที่แน่นอน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาในวันที่19 ก.พ.นี้