ดันสิทธิชุมชนประกบร่างกม.ประมงใหม่ – แนะรัฐหนุนงบเปลี่ยนเครื่องมือเรืออวนลาก
ประมงพื้นบ้านเร่งดันสาระสิทธิชุมชน-คกก.ประมงจว.-กองทุนประมง-เขตชายฝั่ง 5 ไมล์ ประกบร่างกม.ประมงรัฐ แนะรบ.หนุนงบฯเปลี่ยนเครื่องมือประมงให้ม็อบเรืออวนลาก ปัตตานี
นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประมง ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฏหมาย สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตนและตัวแทนประมงพื้นบ้านอีก 2 คนร่วมเป็นกรรมาธิการ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรายมาตราซึ่งดำเนินการมาได้เพียงครึ่งเดียว และคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ไม่ทันสมัยประชุมนี้
นายสะมะแอ กล่าวถึงสาระสิทธิชุมชนที่ถูกตัดออกไปจากร่างกฎหมายดังกล่าวในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าเป็นสาระสำคัญในร่างกฎหมายฉบับที่ประชาชนเสนอเข้าร่วมพิจารณาไม่ทัน ได้แก่ 1.การกำหนดให้มีคณะกรรมการประมงระดับจังหวัด 2.กองทุนพัฒนาการประมงนั้น 3.เขตประมงชายฝั่ง ซึ่งร่างฉบับประชาชนขยายออกไปเป็น 5 ไมล์ทะเล (9.275 กิโลเมตร)
ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นพ้องให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมสาระเรื่องการตั้งคณะกรรมการประมงระดับจังหวัดและกองทุนพัฒนาการประมง ขณะที่เขตประมงชายฝั่งขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นชอบตามที่ร่างรัฐบาลเสนอมาให้ห่างออกจากชายฝั่งไป 3 ไมล์ทะเล(5.565 กิโลเมตร) ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ขยายเขตประมงชายฝั่งเป็น 5 ไมล์ทะเล (9.275 กิโลเมตร) เพื่อป้องกันการรุกล้ำของประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวคณะกรรมาธิการวิสามัญจะพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ประมงพื้นบ้านในปัจจุบันยังคงได้รับผลกระทบจากการทำประมงของเรือพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง เช่น เรือคราดหอย อวนลาก อวนรุนเป็นระยะๆ โดยล่าสุดที่จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 – 10 ก.พ. 56 มีกลุ่มเรืออวนลากขนาดเล็กราว 200 ลำ ชุมนุมปิดเส้นทางเดินเรือเข้าออกปากอ่าวปัตตานี เนื่องจากถูกปราบปรามไม่ให้ทำการประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างในเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล แต่ขณะนี้ได้สลายการชุมนุมไปแล้ว
นายกสมาพันธุ์ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวอีกว่ารัฐบาลควรกำหนดช่วงระยะเวลาและกฎเกณฑ์ที่แน่ชัดในการทำประมงให้แก่กลุ่มเรืออวนลากเพื่อไม่เป็นการตัดสิทธิในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ควรสนับสนุนงบประมาณหรือเงินชดเชยให้ในกรณีที่ต้องการให้เปลี่ยนเครื่องมือทำประมงที่เหมาะสมมากขึ้น อย่างไรก็ดียืนยันว่ากลุ่มเรืออวนลากไม่ใช่ชาวประมงพื้นบ้าน เพราะแม้ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน แต่เครื่องมือประมงพื้นบ้านจะต้องไม่ทำลายทรัพยากรทะเลและสัตว์น้ำ
ทั้งนี้ยังมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับภาคประมงอีกฉบับซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ คือ ร่าง ซึ่งมีสาระสำคัญเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยรัฐและชุมชนท้องถิ่น ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ประมง เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมการทำประมงในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ฯลฯ
ที่มาภาพ ::: http://www.marinerthai.com/sara/1170.htm