อดีตอธิการฯ “กู้เงิน-สั่งจ่าย” ค่าหอพักเอกชน 260 ล. วันเดียวกัน ทั้งที่ถูกพักราชการ
เปิดคำพิพากษาศาล คดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก กู้เงินกรุงไทย 260 ล้านบาท ซื้อคืนหอพัก น.ศ พบอดีตอธิการบดี ถูกสั่งพักราชการ หลังถูกตั้งกรรมการสอบ แต่ไปทำสัญญากู้เงิน –สั่งจ่ายเงินเอกชน วันเดียวกัน เผยปมแพ้คดี ไม่รับรองการทำนิติกรรม แต่จ่ายหนี้ 9 งวดติด แถมผู้มีอำนาจรับทราบเรื่อง แต่ไม่คัดค้าน
จากกรณี ปรากฏข้อมูลว่า รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ มากจันทร์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ไปลงนามในสัญญากู้เงินจากธนาคารกรุงไทย เพื่อนำมาจ่ายให้กับเอกชน ที่เข้ามาลงทุนก่อสร้างหอพักนักศึกษา จำนวน 260 ล้านบาท ทั้งที่ อยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ นั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า จากการตรวจสอบคำพิพากษา ศาลจังหวัดชลบุรี เมื่อวัน ที่ 22 มิถุนายน 2554 ที่พิพากษา ให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ในฐานะจำเลย ชําระเงินจํานวน 259,999,999.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชําระเสร็จ ให้แก่ธนาคารกรุงไทย ในฐานะโจทก์ จากคดีการกู้ยืมเงิน เพื่อนำมาซื้อหอพักนักศึกษาคืนจากเอกชน ที่เข้ามาลงทุนก่อสร้างให้ก่อน
พบว่า มหาวิทยาลัยเทคโนฯ ตะวันออก ได้ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนี้ ว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ มากจันทร์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้มีหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยขอกู้ยืมเงินเพื่อชำระหนี้ให้กับผู้ลงทุนก่อสร้างหอพักนักศึกษา และอาคารสันทนาการ และมหาวิทยาลัยกับธนาคารกรุงไทย ได้มีการติดต่อเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 สภามหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมวาระเรื่องการขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำนวน 260 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 ได้มีกลุ่มบุคคลทำหนังสือร้องเรียนพฤติกรรมของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต่อมาได้มีคำสั่งโดยมติของที่ประชุมมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 ให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบข้อมูลการร้องเรียนภายใน 60 วัน พร้อมให้รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไปปฏิบัติราชการนอกสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัย โดยแต่งตั้งนายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัย โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2550
ต่อมาระหว่าง ถูกพักราชการ รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ได้ไปทำสัญญากู้เงินประจำกับธนาคารกรุงไทย ในนามของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2550 และธนาคารได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยในวันทำสัญญา ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยได้จัดประชุมโดยมีการลงมติไม่ให้สัตยาบันเพื่อรับรองการทำสัญญากู้เงินประจำที่รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ทำไว้ กับธนาคารกรุงไทย
แหล่งข่าวระดับสูงจาก มหาวิทยาลัยเทคโนฯ เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า มีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า ภายหลังจากที่มีการลงนามสัญญากู้เงิน จำนวน 260 ล้านบาท จากธนาคารกรุงไทย โดยรองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ และเงินได้ถูกโอนเข้ามาในบัญชีของมหาวิทยาลัย ในวันเดียวกัน มหาวิทยาลัย ได้สั่งจ่ายเงินให้กับเอกชน ที่เข้ามารับงานก่อสร้างหอพักทันที
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในการสู้คดีดังกล่าว มหาวิทยาลัย ได้ยืนยันต่อศาลว่า การทำสัญญากู้เงินดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันต่อมหาวิทยาลัย เนื่องจากรองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ อยู่ระหว่างถูกพักราชการ สัญญาที่ทำไว้จึงถือเป็นโมฆียะ แต่ฝ่ายธนาคารกรุงไทย นำสืบว่า มหาวิทยาลัย ได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้เป็นจำนวน 9 งวด ถือเป็นการให้สัตยาบันแล้ว แม้มหาวิทยาลัย จะต่อสู้ว่าการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ โดยเช็คที่ รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ลงลายมือชื่อนายทวีชัย ในฐานะรักษาการอธิการบดี ไม่เกี่ยวข้องและไม่รับรู้เรื่องดังกล่าว และได้มีหนังสือหารืออัยการสูงสุดเพื่อหารือข้อกฎหมาย ต่อมาที่ประชุมของมหาวิทยาลัยมีมติไม่ให้สัตยาบัน เพื่อรับรองการเข้าทำสัญญาของรองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ดังกล่าว
แต่ศาลเห็นว่า เรื่องการพักราชการรองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ เป็นเรื่องที่มีคำสั่งภายในของมหาวิทยาลัย แม้มหาวิทยาลัยจะอ้างว่ามีการประกาศให้บุคคลทั่วไปทราบ แต่พยานจำเลยที่เบิกความไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ธนาคารกรุงไทยทราบแต่อย่างใด
แหล่งข่าวจาก มหาวิทยาลัยเทคโนฯ ตะวันออก กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ นายทวีชัย เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ ว่า หากบุคคลภายนอกเข้ามาติดต่อไม่ทราบเรื่องก็ต้องเข้าใจว่ารองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ยังทำหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี เพราะหลังจากที่พ้นกำหนดเวลา 2 เดือน รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ กลับเข้ามาทำงาน โดยนั่งอยู่ที่ห้องของอธิการบดี และนายทวีชัย ก็ยังสับสนเรื่องอำนาจระหว่างตนเองกับ รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์
“ขณะที่รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ไปทำสัญญา นายทวีชัยซึ่งในขณะนั้นได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่อธิการบดี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ทราบเรื่อง แต่ไม่คัดค้าน โดยฝากนิติกรให้สอบถามรองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ว่ามีอำนาจทำได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้กระทำการแทนธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นการภายใน และไม่มีการแจ้งธนาคารกรุงไทยให้ทราบ”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนประเด็นที่รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ เป็นผู้ลงนามในเช็คสั่งจ่ายธนาคารกรุงไทย 9 งวด ศาลเห็นว่า ไม่สามารถยกขึ้นอ้างได้ เพราะนายทวีชัยซึ่งดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนอธิการบดีมีอำนาจกระทำการแทนมหาวิทยาลัยทราบเรื่องแล้ว แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวมหาวิทยาลัย ได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้เงินประจำมีผลผูกพันระหว่างธนาคารกรุงไทย และมหาวิทยาลัยในฐานะคู่สัญญามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ปรากฏในสัญญา และเมื่อพิจารณาประเด็นข้อต่อสู้ในเรื่องอื่นๆ ศาลจึงพิพากษา ให้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ชนะคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ให้ชี้แจงอีกครั้งแต่ไม่สามารถติดต่อได้
------------------------------
อ่านประกอบ
ม.เทคโนฯแพ้รวด 2 ศาลคดีกู้เงินกรุงไทย 260 ล้านซื้อหอพัก แบกดอกเบี้ยอ่วม 25 ล.
อดีตอธิการฯ ม.เทคโนฯ ใช้ตำแหน่งกู้เงิน 260 ล.จ่ายค่าหอพักเอกชน ทั้งที่ถูกพักราชการ
ป.ป.ช. สอบ อดีตผู้บริหาร ม.ดัง ภาคตะวันออก ปมเอื้อประโยชน์สร้างหอพัก 46 ล้าน