ระวัง "ชนะศึกแต่แพ้สงคราม" รัฐต้องขจัดเงื่อนไขเพื่อดับไฟใต้ยั่งยืน
ชัดเจนว่าการวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อความไม่สงบ 16 รายจากเหตุการณ์บุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าสถานการณ์ที่ชายแดนใต้จะดีขึ้นหรือก้าวไปสู่ความสงบสันติสุขแต่อย่างใด
หากจับความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ที่แสดงออกผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ย่อมมองเห็นเด่นชัดว่าส่วนใหญ่มีทัศนคติสวนทางกับผู้คนในภูมิภาคอื่นที่ออกอาการ "สะใจ" และมีจำนวนไม่น้อยที่อยากให้ทหารใช้มาตรการเด็ดขาดเช่นนี้ต่อไป
มีรายงานจาก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ว่า พิธีฝังศพผู้เสียชีวิตบางรายจากเหตุการณ์โจมตีฐานทหาร มีการแห่ศพไปกุโบร์ (สุสาน) กันอย่างเอิกเกริก มีกลุ่มวัยรุ่นชายไปร่วมพิธีจำนวนมาก และเกือบทั้งหมดแสดงอารมณ์ความรู้สึกในลักษณะผู้ตายเป็น "ผู้กล้า"
นี่คือปรากฏการณ์ความแตกต่างทางความรู้สึกอย่างสุดขั้วระหว่างคนในกับนอกพื้นที่ (แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม) ที่เป็น "เงื่อนไขสำคัญ" ของสถานการณ์ไฟใต้ ซึ่งหากภาครัฐและหน่วยงานความมั่นคงตั้งหลักไม่ดี อาจเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ชนะศึกแต่แพ้สงคราม" ได้ในที่สุด
เส้นทางชีวิตของ 16 ศพก่อนถูกวิสามัญฆาตกรรม...แต่ละรายล้วนน่าสนใจ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เล่าถึงผลตรวจดีเอ็นเอของพวกเขาเหล่านั้นว่า มีอย่างน้อย 5 รายที่ตรงกับดีเอ็นเอของคนร้ายที่ก่อเหตุรุนแรงกรณีอื่นๆ ก่อนหน้า
สอดรับกับรายงานสรุปเหตุการณ์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่แจกแจงรายชื่อและประวัติการต้องคดีความมั่นคงของผู้เสียชีวิตทั้ง 16 ราย แต่ละรายมีหมายจับยาวเหยียด บางรายมากกว่า 10 หมายด้วยซ้ำไป
นอกจากนั้นยังมีบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ หรือเหตุชุมนุมประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ซึ่งภายหลังมีการสลายการชุมนุม และมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตถึง 85 รายด้วย
ลองย้อนไปดูเส้นทางของบางคนกัน...นายมะสักรี สะสะ หนึ่งในผู้เสียชีวิต เคยอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 4 ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นบ้านของพี่สาว คือ นางฟารีดะห์ สะสะ เธอบอกว่า น้องชายไม่เคยกลับบ้านกว่า 10 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเคยมีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามให้เธอติดต่อน้องชายเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ยอมวางอาวุธและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่น้องชายไม่ยินยอม
ขณะที่ นายสะอุดี อาลี อยู่บ้านเลขที่ 52 หมู่ 4 ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ เป็นลูกชายคนที่ 4 ของครอบครัว เคยอาศัยอยู่กับมารดา จากการตรวจสอบประวัติพบว่าเคยถูกจำคุกที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสนานกว่า 2 ปีครึ่งจากเหตุการณ์ประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ หลังออกจากเรือนจำเคยโดนยิงในพื้นที่ อ.บาเจาะ กระทั่งภายหลังได้เข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ จากนั้นไม่เคยติดต่อกลับมาที่บ้านอีกเลยเป็นเวลานานนับปีจนเสียชีวิต
ส่วน นายฮาเซ็ม บือราเฮง อาศัยอยู่กับภรรยาวัย 34 ปีในบ้านที่ทรุดโทรม เขามีลูกสาว 3 คน ทั้งหมดอยู่ในอาการเศร้าโศกที่เสาหลักของครอบครัวต้องจากไป ภรรยาของนายฮาเซ็ม เล่าว่า อยู่กินกับสามีมานานกว่า 12 ปี แต่ในช่วง 5 ปีหลังสามีไม่เคยกลับบ้านเลย เจ้าหน้าที่เคยมาหาเพื่อติดต่อให้สามียอมเข้ากระบวนการยุติธรรม แต่สามีไม่ยอมเพราะไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่เคยทราบข่าวเลยว่าอยู่ที่ไหน กระทั่งผู้ใหญ่บ้านมาแจ้งว่าสามีเสียชีวิตแล้ว
"กังวลอยู่ว่าอนาคตจะต้องเลี้ยงลูกคนเดียว เพราะฉันเป็นลูกจ้างรายวัน ค่าแรงแค่วันละ 100 บาท หากวันไหนไม่ไปทำงานก็จะไม่ได้เงิน จึงอยากวอนขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วย" เป็นเสียงจากภรรยาของนายฮาเซ็ม
การหันเหชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยเพื่อเข้าสู่ขบวนการก่อความไม่สงบเป็นประเด็นที่น่าค้นหาเหตุผล เพราะนั่นน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด
นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า ทั้งเรื่องปฏิบัติการทางทหารและการเยียวยา จริงๆ แล้วเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาคือทำไมคนเหล่านั้นถึงตัดสินใจจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ ถ้ารัฐค้นพบเหตุผลตรงนี้ เช่น ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเจ้าหน้ารัฐใช้กำลังกดขี่ข่มเหง แล้วรัฐสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขเช่นนั้นอีก...นั่นต่างหากที่เป็นการดับไฟใต้อย่างยั่งยืน!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ด้านหน้าฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)