นายก วสท. วิพากษ์โครงการน้ำ 3.4 แสนล้าน ชี้รบ.ถลำลึก เชื่อสำเร็จยาก
วิพากษ์โครงการน้ำ 3.4 แสน ล.บ. ฟันธงออกแบบทีโออาร์-คำนวณราคาใน 1 เดือนทำไม่ได้ ห่วงซ้ำรอย "อนุสาวรีย์โฮปเวลล์" นายก วสท.แนะ 3 ทางออก เปลี่ยนยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี-แม่ทัพ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ สภาวิศวกรรมแห่งประเทศไทย (วสท.) จัดเวทีวิพากษ์ "การดำเนินงานโครงการน้ำ 3.4 แสนล้านบาท" ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคาร วสท. โดยมี นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายก วสท. นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นายกสมาคมอุทกวิทยา ร่วมด้วยวิศวกรอาวุโสและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มี ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มาร่วมให้ข้อมูลด้วย
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาเคยมีโครงการใหญ่ๆ เช่น โฮปเวลล์ คลองด่าน บ้านพักตำรวจ ต่างก็ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ล้มเหลวมาแล้ว ฉะนั้น ในเบื้องต้นตั้งข้อสังเกตว่า 1.กรอบแนวคิดในการออกแบบก่อสร้างที่ยังไม่ได้ศึกษาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2.การตัดสินคัดเลือกผู้รับเหมาจาก 6 กลุ่ม 10 โมดูล เสนอให้มีการตัดสินใจที่เป็นระบบ อธิบายได้ มากกว่าเพียงดุลยพินิจที่มีความคลาเคลื่อนได้
3.หากรับงานและรับเงินแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าทำงานในพื้นที่ได้ เช่น ฟลัดเวย์ จนอาจมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น รัฐจะรับผิดชอบอย่างไร 4.หากเกิดปัญหาระหว่างการก่อสร้าง มีการแก้ไขแบบแปลน เพิ่มลดราคา ขยายอายุสัญญาจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร 5.ความชัดเจนเรื่องการจ้างที่ปรึกษามาควบคุมงาน 6.หากโครงการแยกย่อยในแต่ละโมดูลมีปัญหา ต้องปรับเฉพาะโครงการหรือปรับสัญญาทั้งฉบับ 7.ห่วงการเกิดค่าบริหารจัดการซ้ำซ้อน กินหัวคิวหลายต่อ หรือเสียค่านักเลง จากการที่บริษัทไปจ้างบริษัทซับคอนแทรคมาปฏิบัติงาน ท้ายที่สุดเหลือเงินไม่พอ หรืองานไม่คืบ เช่นเดียวกับ กรณีโรงพัก 396 แห่ง ที่แม้จะมาจากรัฐบาลต่างชุดแต่มีลักษณะเดียวกัน 8.การแบ่งประโยชน์ระหว่างผู้รับเหมาที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน หากมีปัญหาการรับผิดชอบในสัญญาจะเป็นอย่างไร
"ผมไม่อยากเห็นความเสียหายซ้ำซ้อนของประเทศจากงานก่อสร้าง ซึ่งเคยบอบช้ำมาอยู่แล้ว นักวิชาชีพ นักปฏิบัติก็ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่ดี ต้องการให้สำเร็จ ไม่ได้จ้องจับผิด หรือต้องการขัดขวางการทำงานของรัฐบาลแต่อย่างใด ขณะนี้รัฐบาลก้าวลึกไปแล้ว แต่ก้าวไปในทางที่ทำไม่ได้ ฉะนั้น ทางออกมีแค่ 3 ทาง คือ 1.เปลี่ยนยุทธศาสตร์ 2.เปลี่ยนยุทธวิธี หรือ 3.เปลี่ยนแม่ทัพ"
ขณะที่ดร.อภิชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลต้องให้ต่างประเทศเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็นนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยป่วย แต่ใช้ทีมแพทย์ชุดเดิม คือ หน่วยราชการและบริษัทที่ปรึกษาจนประเทศเสียหายหนัก ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแพทย์ ให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เพราะถึงเวลาต้องปรับมาใช้วิธีใหม่ โดยกำหนดทีโออาร์ใหม่ที่รวบรวมข้อเสนอที่ดีมาให้บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกไปศึกษาความเหมาะสม และออกแบบก่อสร้าง ทั้งนี้ จะทำการรับประกันราคาสูงสุด โดยไม่มีการปรับเพิ่มราคา เช่น สร้างเขื่อน บริษัทต้องไปศึกษาและจัดทำอีไอเอตามกฎหมายไทย และกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปี
"กระบวนการต่างๆ เหมือนจะข้ามขั้นตอนอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ท้ายที่สุดเมื่อจะมีการก่อสร้างจริงๆ ก็ต้องผ่านการศึกษาและปฏิบัติตามหลักกฎหมายอย่างแน่นอน การกำหนดเวลาและตั้งโจทย์ให้ได้ของดีราคาถุกนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การสร้างฟลัดเวย์ และเขื่อน สามารถทำได้ มีเพียงเรื่องคลังข้อมูลเท่านั้นที่อาจต้องใช้เทคโนโลยี"
ดร.อภิชาติ กล่าวถึงข้อเสนอในส่วนที่หากรับงานและรับเงินแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าทำงานในพื้นที่ได้นั้น เป็นข้อแนะนำที่ดีและจะนำไปปรึกษากับทีมกฎหมายและกฤษฎีกา ส่วนเรื่องหัวคิว ไม่น่าห่วง เนื่องจากบริษัทที่ได้รับการการเลือกมาเป็นซับคอนแทรคจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน จะเรื่องคุณภาพอย่างดี ในส่วนเรื่องแบงค์การันตี เห็นด้วยว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่เชื่อว่าบริษัทต่างประเทศผ่านการรับรองจากรัฐบาลแต่ละประเทศมาแล้ว ไม่น่ามีปัญหา
ด้านนายปราโมทย์ กล่าวถึงกรอบระเวลาในการก่อสร้างที่ กบอ.จะระบุให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นั้น เห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นงานขนาดใหญ่ยักษ์ ต่อให้ 20 ปีก็ยังไม่เสร็จ ตามกระบวนการที่ควรจะเป็น กบอ.ควรเคลียร์ทั้ง 10 โมดูลที่กำหนดไว้ก่อนว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องฮั้ว หรือเรื่องหัวคิว ก็มองไม่เห็นแล้วว่าจุดจบของงานจะออกมาเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดเกรงว่าจะ"ติดกับดัก" และโครงการใหญ่ยักษ์จะกลายเป็น "อนุเสาวรีย์" เช่นเดียวกับโฮปเวลล์
นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลชุดไหนใช้ได้ ไม่มีนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนยุทธศาสตร์เรื่องน้ำไม่เคยเป็นวาระของชาติ ที่ประเทศล้มเหลวเพราะการบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีทักษะในการทำงานไม่เคยได้อยู่ในคณะทำงาน หรือได้เข้าไปก็กลายเป็นฝ่ายค้าน
ส่วนดร.สุบิน กล่าวว่า ประเด็นที่ห่วงคือการกำหนดกรอบเวลาทั้งออกแบบและคำนวณราคาภายในเวลา 1 เดือนครึ่งนั้น อาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพและความเป็นไปได้ที่ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน ( Bank Guarantee) ให้บริษัท และหน่วยงานใดจะอาสามาเป็นคู่สัญญากับโครงการนี้ ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการฟ้องร้องตามมา ฉะนั้น หากไม่มีระบบที่ดีเกรงว่าจะหนักยิ่งกว่ากรณีคลองด่าน หรือเรื่องโรงพัก 396 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีมีการแสดงความเห็น โดยเป็นห่วงการดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ให้ความสำคัญกับวิศวกรไทยน้อยเกินไป รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนไทย และผู้ที่มีประสบการณ์ด้านน้ำมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ยังขอให้รัฐบาลใส่ใจในรายละเอียด ของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการขนาดใหญ่ด้วย
ปิดท้าย รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล คณะอนุกรรมการวิชาการและวิเคราะห์โครงการ ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการใช้งบกลาง 120,000 ล้านบาท ในมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยยอมรับงานด้านวิศวกรรมมีปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะการทำฝาย ซึ่งเห็นแล้วก็เสียดายเงินงบประมาณ
“งบฯ 120,000 ล้านบาท ทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนน้ำท่วมปีที่ผ่านมา เช่น กรณีประตูน้ำบางโฉมศรี ซ่อมแซมไปร่วม 100 ล้านบาท แต่พอถึงเวลามีการรื้อแล้วทำใหม่ ซึ่งผมคิดว่า การใช้จ่ายเงินมีปัญหา”รศ.ดร.ไกรวุฒิ กล่าว และว่า ส่วนงบฯ การขุดลอกคูคลองนั้นก็เป็นงานวิศวกรรมที่ไม่น่าเกิดขึ้น เหมือนการขุดเวียนเทียนอยู่อย่างนั้น ฉะนั้น ต้องไปดูหน้างานถึงเห็น ไม่ไปไม่เห็น เช่น มีกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการขุดลอก จนตอม่อโผล่ สะพานพัง
{youtubejw}5_D6WFlwVKQ{/youtubejw}