เยอรมันแนะไทยทำพลังงานหมุนเวียนได้ ยันคุ้มค่าในระยะยาว
ส.ส.พรรคกรีน ถ่ายทอดประสบการณ์ ยันกิจการพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีเป็นอุตสาหกรรมใหญ่อันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ย้ำชัดลงทุนวันนี้ ยิ่งใช้ ต้นทุนยิ่งถูก คุ้มค่าระยะยาว ตรงกันข้ามกับพลังงานจากฟอสซิล
(13 ก.พ.) ที่ห้องรับรอง อาคาร 2 รัฐสภา มีการจัดสัมมนาหัวข้อ “การปฏิรูปนโยบายด้านพลังงานในไทยและเยอรมนี” จัดโดย คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากยุโรปมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น แม่เมาะ ลำปาง ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี ฯ มาร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย
นายฮันส์ โยเซฟ เฟล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคกรีน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า ปัจจุบันโลกพึ่งพาพลังงานกว่า 80% จากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น 0.8 องศาในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ตามมามากมาย แต่ขณะนี้ในประเทศเยอรมันถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ จากจุดเริ่มของการปฏิรูปพลังงานที่เริ่มต้นเมื่อปี 2000 ที่ขณะนั้นการใช้พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนเพียง 6.3% และในปี 2012 สามารถเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากมีกฎหมายสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่ตนเป็นคนเสนอร่าง ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากประชาชนที่ลงมือผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยตัวเอง ไม่ใช่บริษัทไฟฟ้าขนาดใหญ่ และในปี 2030 เยอรมันตั้งเป้าการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ 100%
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกรีนกล่าวอีกว่า ขณะนี้กิจการพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีเป็นอุตสาหกรรมใหญ่อันดับสองรองจากอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านกระบวนการอภิปรายถกเถียง และผ่านการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ การลงทุนในช่วงแรกจะแพงด้วยต้นทุนทางเทคโนโลยีและการเงิน และอาจประสบความยากลำบากบ้าง ดังเช่นที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในเวลานี้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า พลังงานหมุนเวียนจะคุ้มค่าในระยะยาว ตรงกันข้ามกับพลังงานจากฟอสซิล ที่เมื่อยิ่งใช้ไปต้นทุนจะยิ่งแพงมากขึ้น แต่พลังงานหมุนเวียน ยิ่งใช้ ต้นทุนจะยิ่งถูก
“ขอแนะนำเมืองไทย สำหรับข้อโต้แย้งเรื่องความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีเฉพาะกลางวัน เยอรมันเราแก้ไขเรื่องนี้ได้โดยใช้ระบบการจัดเก็บและบริหารพลังงานให้สมดุล เก็บพลังงานช่วงที่ได้มากเฉลี่ยไว้ใช้ในช่วงที่ไม่ค่อยมี โดยเราใช้เทคโนโลยีโครงข่ายที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันหรือ smart grid” ฮันส์ โยเซฟ เฟล กล่าว
ด้านตัวแทนเครือข่ายประชาชนร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อการปฏิรูปพลังงานไทยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนไม่แพ้ประเทศอื่น โดยอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียนของไทยก็คือนโยบายพลังงานที่ผูกขาดโดยบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีอิทธิพลต่อนักการเมือง สื่อมวลชน และความคิดของประชาชนด้วย การแก้ปัญหานี้ต้องประสานร่วมกันหลายด้าน ทั้งการพยายามนำเสนอรายละเอียดความคุ้มค่าของพลังงานหมุนเวียน ให้นักการเมืองเกิดความตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าพวกพ้อง เพราะนักการเมืองจะมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้น การกระจายอำนาจการผลิตพลังงานสู่ประชาชน รวมถึงต้องมีการกำหนดแผนพลังงานอย่างชัดเจนโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมกำหนดกันเองอย่างที่ผ่านมา
(ที่มาภาพ http://bit.ly/Xzjzy9)