นักวิชาการชี้หาเสียงผู้ว่าฯ เน้นโจมตี-ย่ำอยู่กับที่ แนะเสนอนโยบายที่ทำจริง
"สิริพรรณ นกสวน" วิเคราะห์ 5 ประเด็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฉะยังไม่เห็นการหาเสียงสร้างสรรค์-นโยบายทำจริง ระบุคนชั้นกลางใน กทม.เป็นตัวชี้วัดผลแพ้-ชนะ
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ชมรมสนทนาภาษาสิงห์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา "เลือกตั้งกรุงเทพฯ กากๆ เขาหรือเราโง่" โดยมี รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบและการเลือกตั้ง ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเรื่องผังเมือง และนายพงศธร ไกรกาญจน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ร่วมเสวนาชำแหละนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ณ ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.สิริพรรณ กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ มีส่วนที่วิเคราะห์ 5 ประเด็น ได้แก่ นโยบาย ทั้งผู้สมัครจากพรรค และอิสระต่างมีนโยบายประชานิยม ทุ่มงบเพื่อบริการฟรีให้ประชาชน ซึ่งนโยบายแจกฟรีเช่นนี้ต้องตั้งคำถามว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน ถ้ามาจากงบประมาณกลางเท่ากับว่านำมาลงทุนให้ กทม.ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจีดีพีสูงนั้นสมควรแล้วหรือไม่ การใช้จ่ายงบประมาณมีช่องโหว่หรือไม่
"ในส่วนของนโยบายที่ช่วยปรับโครงสร้างของกทม.ยังไม่มี มีแต่ปัญหาจราจร ปัญหาทางเท้า ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ใช่อำนาจผู้ว่าฯ จะมาแก้ไข ถามว่าจะใช้อำนาจอะไรสนองนโยบายเหล่านี้ หรือจะมีการดึงงบประมาณส่วนกลางอย่างไร"
รศ.สิริพรรณ กล่าวถึง วิธีการหาเสียง ด้วยว่า ต่างก็มีวิธีที่ "ย่ำอยู่กับที่" คือ โจมตีฝ่ายตรงข้าม เพื่อส่งเสริมตนเองและพรรค ไม่ได้หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ นำนโยบายที่ทำจริงได้มาเสนอ แต่ภาพการหาเสียงที่เห็นเหมือนละครหลังข่าว มีการสับไก่ นั่งรถตุ๊กตุ๊ก ขับรถเมล์ ฉะนั้น บทบาทสื่อมวลชนจึงควรทบทวนใหม่ว่านำเสนอเนื้อหาที่ประชาชนควรได้รับหรือไม่ ด้านบทบาทกกต.ควรพิจารณาเรื่องงบหาเสียง 49 ล้านบาท ที่อาจสนับสนุนคนมีเงินมาก และจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าเพื่อขยายโอกาสการเลือกตั้ง
สำหรับการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง รศ.สิริพรรณ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยหาเสียงยังไม่ข้ามรั้วบ้าน ที่เป็นชนชั้นกลางจำนวนมากใน กทม.และเป็นคนส่วนมากที่ไม่ได้ตอบโพล ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วว่าโพลส่วนมากถามคนกลุ่มไหน จึงไม่ค่อยน่าเชื่อถือนัก อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และระดับท้องถิ่นมีความแตกต่างกับการเลือกตั้งสนามใหญ่ ที่ผู้สมัครอิสระมีความน่าสนใจและมีโอกาสมากกว่า ทั้งนี้ หากประชาชนไปใช้สิทธิ์มากกว่า 70% ขึ้นไปจะเป็นผลดีต่อประชาธิปัตย์ แต่หากประชาชนไปใช้สิทธิ์น้อยอย่างที่เป็นมาก็จะเป็นผลดีต่อเพื่อไทย
ขณะที่ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า ประทับใจบรรยากาศหาเสียงในปีนี้ หากพิจารณาจากหัวข้อการเสวนาแล้ว เห็นว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ นั้นไม่กาก แต่กองเชียร์ กองหนุนนั้นกาก มีการใส่ร้ายป้ายสีและเหน็บแนม ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เริ่มพูดถึงนโยบายอย่างจริงจังมากขึ้น ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ยังเห็นแต่ตัวโครงการในภาพใหญ่ๆ มากกว่าไร้รอยต่อ ต้องให้เห็นว่าจะตัดเย็บอย่างไร
ในส่วนนโยบายที่เป็นโครงการใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้า ไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหารถติดได้จริงหรือไม่ แต่หากจะทำต้องคำนึงถึงผังเมืองทั้งระบบ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและการพัฒนาที่ดินหรือเก็บภาษีที่ดินเพิ่มด้วย ทั้งนี้ เห็นว่าผลการเลือกตั้งอาจเป็นไปได้ 2 ทาง คือ 1.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะ เนื่องจากมีคนหลอกโพล 2.พล.ต.อ.พงศพัศ ชนะ เพราะเครือข่ายตำรวจทำหน้าที่ได้ดี จนหัวคะแนนทำงานไม่ได้
ด้านนายพงศธร กล่าวว่า หากจะเปลี่ยนแปลง กทม.โดยใช้คนเก่งหรือไม่โกงอาจยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงอำนาจในทุกๆ สภาพที่เป็นอยู่ด้วย คนเคยได้อำนาจมากต้องเสียบ้าง เพื่อให้คนที่เสียมาตลอดได้รับบ้าง หากทำให้ความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำหมดไปปัญหาหลายๆ ด้านจะจบ แทบไม่จำเป็นต้องมีรั้วบ้าน ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดปัญหาของคนเมือง นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ โดยการเปลี่ยนแปลงอำนาจเมืองใหม่