คุยกับ 'อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ':"สังคมไทยเวลานี้ กลัวสารเคมี เหมือนสมัยเรากลัวคอมมิวนิสต์”
ท่ามกลาง การเติบโตของเกษตรเคมี ที่นับวันมีแต่จะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยไม่มีทางปฏิเสธการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรได้
“จริง” “เท็จ” แค่ไหน สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสพูดคุยกับ หนึ่งในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการสารเคมี “อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ” อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้หนึ่งที่ออกตัวก่อนว่า สนับสนุนให้ใช้สารเคมี แต่สนับสนุนให้ใช้ เมื่อ “จำเป็นและถูกต้อง” เท่านั้น
เขายืนยันหนักแน่นว่า “ความจริงนี้ที่จะต้องเป็นไปตลอดชาติ” ฉะนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สารเคมีมีความสำคัญ พร้อมไปกับการปรับความเชื่อของเกษตรกรที่ว่า หากใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ให้หันกลับมาใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการแทน
“สังคมไทยเวลานี้ ไปกลัวสารเคมี ปุ๋ยเคมี สุดโต่ง เหมือนสมัยก่อนเรากลัวคอมมิวนิสต์มาก เพราะเราไม่รู้จักมันเลยคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรื่องนี้ ผมคิดว่า เหมือนกัน”
@ สมัยก่อนปู่ ย่า ตายายเราไม่เห็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลย ?
ใช่....ก็สมัยก่อนดินมันอุดมสมบูรณ์ แต่ ณ วันนี้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์จากการใช้มา 50 ปี ดินมีธาตุอาหาร (nutrient) สมมุติเราปลูกข้าว 1 ไร่ ได้ 300 กิโลกรัม เมล็ดข้าว ซังข้าว มันต้องใช้ธาตุอาหาร ในดิน ในน้ำ มาสร้างเมล็ด ถ้าฟางข้าวกลับคืนสู่ผืนดิน ความสูญเสียตรงนี้ก็น้อยลงมาก
แต่การที่เมล็ดข้าวออกจากนา คือการเอาธาตุอาหาร ออกจากผืนนา ซึ่งหากเอาออกเฉพาะเมล็ดข้าว ความสูญเสียจะน้อย แต่หากมีการเอาออกทั้งเมล็ดและต้น หรือซังข้าว ความสูญเสียของธาตุอาหารก็จะมากขึ้น
การที่เอาต้นข้าว ซังข้าวออกจากผืนนาแค่10 ปี ก็ไม่เป็นไร เพราะมีความอุดมสมบูรณ์สะสมมาหลายร้อยปีแล้ว แต่การเอาออกอย่างต่อเนื่อง ถี่ยิบ เหมือนผืนนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปีละ 2 ครั้งครึ่ง ธาตุอาหารก็จะถูกดึงออก ๆ จนหมด
ยิ่งไม่มีการนำกลับเข้าไปในผืนนา ก็ไม่ต้องพูดถึง
เรามีความจำเป็นต้องเพิ่มธาตุอาหารกลับสู่ดิน โดยเฉพาะเมื่อดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในบ้านเรามีการทำกันใน 2 รูปแบบ คือ การใช้สารเคมีสังเคราะห์ และสารอินทรีย์
@ จะอธิบายอย่างไร กับคำว่า สารเคมี
“สารเคมี ผมแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ 1.เป็นอาหาร ซึ่งก็คือปุ๋ยเคมี เปรียบเหมือนคนก็ต้องมีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม พืชก็เช่นกันมีไนโตรเจน ฟอสเฟต โปแตสเซียม และยังมีแมงกานีส แมกนีเซียม ฯลฯ พืชเหมือนกับคนที่เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน
“แต่ก่อนแต่ไร ไม่เคยมีใครแนะนำให้ใช้สารเคมีอย่างเดียวนะ นักวิชาการจะพูดเสมอๆ ว่า เกษตรกรควรใช้ปุ๋ยเคมี ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด ซึ่งทำยากไม่มีใครทำ) ฉะนั้นการเอาปุ๋ยอินทรีย์กลับคืนสู่พื้นที่ยังมีไม่เยอะ
และที่บ้านเรานิยม ใช้กันมาก เพื่อความสะดวกสบาย คือ การใช้สารสังเคราะห์ ซึ่งการใช้สารสังเคราะห์นั้นไม่มีอันตรายต่อคน ไม่มีสารพิษตกค้างกับพืช แต่คนยังเข้าใจผิด โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ ต่อสารเคมี ก็จะบอกว่า มีอันตราย
“จริงๆ สารเคมีที่เป็นปุ๋ยเคมี จะไม่มีอันตราย หรือสะสมอยู่ในพืช ยกเว้นการปลูกพืชในน้ำ (Hydroponics) และอัดปุ๋ยไนโตร เจนมากจนทำให้พืชนำปุ๋ยไนโตรเจนไปสร้างเป็นไนเตรท นี่อันตราย หากทำไม่ดี”
เมืองไทยต้องรณรงค์ให้เกษตรไทยใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกทาง ทั้งด้านเทคนิค และใช้ให้ถูกทางเศรษฐกิจ ปุ๋ยเคมีใช้น้อยไปก็ไม่เกิดประโยชน์ หรือใช้มากเกินไปก็เกินจำเป็น
@ คิดอย่างไร หากมีการรื้อฟื้นการเก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตร
เรื่องนี้มีการพูดมานานมากแล้ว ถามว่า ภาษีไปลงที่ไหน ก็ไปลงที่เกษตรกร พ่อค้าจะไปลดราคาเขาหรือ สมมุติเคยขายอยู่ 1,000 บาท ขึ้นภาษีสารเคมีทางการเกษตร เขาก็ขาย 1,100 บาท ใครเดือดร้อน พ่อค้าไม่เดือดร้อน ปริมาณการขายเขาอาจลดลงเล็กน้อย แต่กำไรต่อหน่วยยังเท่าเดิม
ฉะนั้น การใช้สารเคมีจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ด้วยปัจจัยอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ภาษี
@ แล้ว ยาปราบศัตรูพืช จะอธิบายอย่างไร
สารเคมีประเภทที่ 2 ยาปราบศัตรูพืชนี้ ผมยอมรับ มีอันตรายจริง หากใช้ไม่ถูกต้อง แต่หากใช้ถูกวิธีก็ไม่มีอันตราย เพราะสารเคมีจะมีการสลายตัว
โดยเฉพาะ ค่าสารตกค้างสูงสุดในพืชผลทางการเกษตร ยึดตามหลักเกณฑ์ในระดับปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เขาจะบอกเลย ยาตัวนี้ในผลิตภัณฑ์ ให้มีตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้ ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ PPM ต่อล้านส่วน นี่เรียกว่า minimum residue level
“ ทำไมเราไม่เอาตรงนี้มาพูดกัน มาตรฐาน FAO อย่างนี้เรายอมรับไหม เราต้องยอมรับหลักเบื้องต้นนะ เราต้องทำมาตรฐานภายในประเทศไทย ให้อย่างต่ำเข้าถึงมาตรฐานนี้ให้ได้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสนใจ เรื่องพวกนี้ เราไม่พูดกัน กลับไปพูดว่า อย่าใช้ อันตราย
ถามว่า เราทำให้ชาวนาภาคกลาง “ลด” การใช้สารเคมี ได้หรือไม่ “เลิก” ใช้ยาปราบศัตรูพืชได้หรือไม่ หากจะเปรียบพืชก็เหมือนคน จะบอกได้ไหมว่า เราจะไม่นำเข้ายาปฏิชีวนะ ทำได้ไหม”
“เราบอกพืช ต้องไปกินแบบโบราณ แล้วทำไมคนไม่กลับไปกินยาหม้อล่ะ เพราะปัจจุบันวิทยาการได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว ศัตรูพืชก็เช่นเดียวกัน มีวิวัฒนาการของโรค ตัวเชื้อก็มีวิวัฒนาการของมัน พืชมีศัตรูโดยธรรมชาติที่ต้องการยามากำจัดด้วยเช่นกัน”
@ มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี
“ผมว่า ก็ถูกต้อง สำหรับทำการเกษตรแบบไม่เร่งรัด แต่คนทั้งประเทศทำแบบนี้ได้หมดหรือไม่ ขณะที่มีการสื่อสารแบบผิดๆ โดยเจตนา เพราะหวังผลจะเอาอีกอันหนึ่งให้ได้ผล ทำให้อีกอันเด่น อีกอันด้อย
ผมเคยต่อว่า หลายคน รู้ทั้งรู้ว่า ประเทศไทยไม่มีทาง เลิกนำเข้าสารเคมีมาใช้เพื่อการเกษตรได้เลย
(เน้นเสียง) นี่ผมไม่ได้พูดเพื่อเอาใจบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ผ่านมาผมไม่ยอมรับเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนใดๆ ทั้งสิ้น ผมพูดก็เพื่อจะบอกว่า สังคมไทยกำลังทำให้สิ่งที่ควรพูด ควรรับรู้ เข้าใจ ให้เป็น ไม่ได้พูด ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้เข้าใจ”
ดูได้จาก ช่วงนี้ ยิ่งมีโครงการจำนำข้าว ก็เป็นตัวเร่ง ยิ่งใช้กันมากเลย ทีนี่
ผมอยากจะเปรียบเทียบ เกษตรอินทรีย์กับการกินเจ ถามว่า เรากินเจกันอย่างไร 1.เพราะความเชื่อทางกายภาพ เรากินเจ เพราะเชื่อว่า หากไม่มีเนื้อสัตว์เข้าไปในร่างกายเรา หากมีผักมากกว่าเนื้อสัตว์ จะทำให้สุขภาพเราดี 2. ความเชื่อทางจิตวิญญาณ คือการไม่ส่งเสริมการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฉะนั้นอาหารเจ ต้องปราศจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์โดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าเหตุผลใด
แต่หากเราบอกว่า อาหารเจ แต่หากติดมานิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่มีผล นานๆ ทีหรือติดมาบ้างเล็กๆ น้อยๆ จะเจหรือไม่เจ ไม่สำคัญผลิตภัณฑ์ต้องมีเนื้อสัตว์น้อยๆ เป็นต้น
“เกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี เหมือนกันเลย หากปลายทางบอก ผลิตภัณฑ์ที่คุณมาขายฉัน ต้องเป็นออแกนนิกส์โพรดักส์ (absolutely free from chemical) นั่นแหละคือเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น ผู้บริโภคเขายอมจ่ายแพง อย่างนี้ หากมีลูกค้าแบบนี้ทำไปเลย ถ้าทำได้ เยี่ยม ต้องหาตลาดอย่างนี้
แต่ถามว่า ตลาดอย่างนี้บูมในเมืองไทยไหม บูมขึ้นเยอะ แต่สัดส่วนเท่าไหร่ แค่ 0.001%
“ผมถึงบอกว่า เรารณรงค์ได้ว่า ผลผลิตทางการเกษตรของไทย ปราศจากสารพิษ พูดได้ แต่เราทำไมไม่เน้นว่า ผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ไม่มีแม้แต่นิดเดียว คือ ถ้ามี ก็มีอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ แล้วเราจะไปสร้างความน่ากลัว ของสารเคมี ปุ๋ยเคมี ให้เหมือนยุคคอมมิวนิสต์ ทำไม”
สุดท้าย อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลทิ้งท้าย ถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งประเทศไทยใช้มากที่สุด คือ ยาฆ่าหญ้า และหากไม่มียาฆ่าหญ้า เขาเองก็ไม่รู้ว่า ผลผลิตทางการเกษตรทั้งประเทศจะลดลงไปสักเท่าไหร่ ในยุคที่เรากำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก...