วงการยุติธรรมตะลึง! อัยการใหญ่-ดีเอสไออุ้มพยาน(นักโทษ)ข้าม ปท.หนีศาลไทย?
เป็นเรื่องที่สร้างความสะเทือนให้แก่กระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก!!
เมื่อ "พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม" อดีตจเรตำรวจ จำเลยที่ 4 ในคดีลักพาตัว "นายโมฮัมหมัด อัลรูไวรี่" นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียหายตัวไปเมื่อกุมภาพันธ์ 2533 ได้กล่าวหาอัยการใหญ่รายหนึ่งสมคบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ 2 คนลักลอบนำตัว "พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก" หรือ "นายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี" พยานโจทก์คนสำคัญในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยในอีกคดี (ศาลอุทธรณ์ตัดสินถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิตในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ 380/2552 ลงวันที่ 23 มี.ค.2552) ออกนอกประเทศไปยังสหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาเพื่อให้พ้นเขตอำนาจศาลไทยและใช้เป็นข้ออ้างในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ส่งประเด็นไปสืบพยาน (พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก) ที่ศาลยูเออี
(ภาพ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ที่ปรากฎอยู่ในหมายจับที่ 380/2552 ออกโดยศาลจังหวัดมีนบุรี)
ข้อกล่าวหาดังกล่าวของ พล.ต.ท.สมคิดอยู่ในคำร้องคัดค้านการส่งประเด็นไปสืบปากคำ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึกที่ยืนต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และมีการนัดอ่านคำสั่ง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ "นายโกวิท ศรีไพโรจน์" พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 อ้างว่า พ.ต.ท.สุวิชชัยพำนักอยู่ที่ยูเออีแล้วตามหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ (ไทย) ที่ กต.1403/35 ลงวันที่ 7 มกราคม 2556 และหนังสือกระทรวงการต่างประเทศ กรมกิจการคนชาติและคนต่างชาติ ยูเออี ลงวันที่ 6 มกราคม 2556 (แต่พนักงานอัยการมิได้แนบหนังสือทั้งสองฉบับไว้ในคำร้อง ทำให้จำเลยไม่สามารถตรวจสอบได้)
คำร้องของ พล.ต.ท.สมคิดระบุว่า อัยการพิเศษฝ่ายรายหนึ่งได้สั่งซื้อตั๋วเครื่องบินสายการบิน ETIHAD AIRWAYS เที่ยวบินที่ EY401 จากเอเยนต์ให้แก่ พ.ต.ท.สุวิชชัย (ชั้นธุรกิจ)และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 2นาย ยศ "พ.ต.ท." และ "ร.ต.อ." (ชั้นประหยัด) เป็นเงิน 115,600 บาทในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 โดยให้เจ้าหน้าที่หน้าที่นิติกรในสำนักงานโอนเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์สาขาย่อย ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานอัยการสูงสุดไปให้บริษัทเอเยนต์ขายตั๋ว
จากนั้นในค่ำวันเดียวกันพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 2 นายดังกล่าวได้นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย (มีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุลและย้ายที่อยู่ใหม่ไปอยู่ที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาสและมีการพาสปอร์ตเลขที่ O-402107 ใหม่แบบพิเศษเสร็จในวันเดียววันเดียวได้ที่กระทรวงการต่างประเทศ) ไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางไปยูเออี ด้วยเที่ยวบินที่ EY401 ออกเดินทาง เวลา 20.05 น. จากประเทศไทย ไปยังกรุงอาบูดาบี ยูเออี
แต่ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ห้ามออกนอกประเทศ เพราะยังติดแบล็กลิสต์เนื่องจากมีหมายจับในคดีที่ศาลตัดสินถึงที่สุดในคดีฆาตกรรมอยู่ ทำให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 2 นายที่ผ่านด่านตรวจเข้าไป่ก่อนต้องย้อนกลับมาช่วยเหลือพร้อมยกเลิกการเดินทางโดยอ้างกับเจ้าหน้าที่ว่า “ไม่ทันเครื่อง” และได้นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย ออกไปอีกครั้งหนึ่งในเวลาประมาณตีสองครึ่ง ของวันที่ 22 ธันวาคม “โดยไม่ผ่านช่องทางที่ชอบด้วยกฎหมาย” เพราะตรวจไม่พบข้อมูลการเดินทางออกนอกประเทศทางด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิในคืนวันดังกล่าวแต่อย่างใด
กระทั่งได้ขึ้นบินด้วยเที่ยวบินที่ EY407 ไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในท้ายที่สุด !
ทั้งนี้ รายชื่อผู้โดยสารสายการบิน ETIHAD AIRWAYS เที่ยวบินที่ EY407 ที่ปรากฎชื่อนายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี (KAEWPETSRI/KEATIKORN) ในที่นั่ง 08D
คำร้องดังกล่าว ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2555 ที่อัยการโจทก์อ้างว่า พยานปากนี้ยังคงหลบหนีหมายจับอยู่นอกราชอาณาจักร (ไปประเทศกัมพูขาและประเทศซาอุดิอาระเบีย) แต่ พล.ต.ท.สมคิด ได้ตรวจสอบหลักฐานของทางราชการพบว่า พยานปากนี้ยังอยู่ในประเทศไทย โดยในวันที่ 14 พ.ย.2554 ได้ย้ายที่อยู่จากบ้านเลขที่ 42/11 ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 30/6 หมู่ 1 ต.ยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
และยังเปลี่ยนชื่อจาก “พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก” เป็น “นายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี”
ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลอาญา พล.ต.ท.สมคิดได้ยื่นเอกสารหลักฐานประกอบคำร้องซึ่งได้มาจากการใช้หมายศาลมีการรับร้องสำเนาถูกต้อง เช่น คำสั่งซื้อตัวเครื่องบินจากอัยการพิเศษฝ่าย (ระบุชื่อ) ,สำเนาการโอนเงินค่าตั๋วที่มีชื่อของนิติกรในสำนักงานอัยการเป็นผู้โอน ,รายการบัญชีของบริษัทเอกเยนต์ตั๋วที่รับเงินโอน ,สำเนาตั๋วเครื่องบินที่ระบุชื่อนายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี ,ชื่อพนักงานสอบสวนคดิพิเศษ ,รายฃื่อผู้โดยสารเที่ยวบินที่ EY407 ระบุชื่อพยานและพนักงานสอบสวนคดิพิเศษ ฯลฯ
พล.ต.ท.สมคิดสรุปในท้ายคำร้องว่า จากพยานหลักฐานดังกล่าวชี้ชัดให้เห็นว่า พนักงานอัยการ (ระบุชื่อ) กับพวกสมคบกับเจ้าพนักงานสอบสวนคดิพิเศษโดย พ.ต.ท. ... และ ร.ต.อ. ... ร่วมกันนำพยานบุคคลที่อ้างว่าพยานโจทก์ปากสำคัญแห่งคดีซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย และอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับของศาลจังหวัดมีนบุรี อีกทั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทยตลอดมาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปยังยูเออีด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดเพื่อมิให้ต้องรับโทษ โดยให้ที่พำนัก ซ่อนเร้นหรือช่วยโดยประการอื่นใด เพื่อมิให้ถูกจับกุม ทั้งๆ ที่ ศาลเคยมีคำสั่งให้จับตัวมาพยานมาขึ้นศาลตามหมายจับ
จากคำร้องของ พล.ต.ท.สมคิดและข้อเท็จจริงจากสำเนาเอกสารหลักฐานที่ได้ตรวจสอบสอบมีข้อพิจารณาดังนี้
หนึ่ง พยานหลักฐานที่พล.ต.ท.สมคิดใช้ประกอบในการยื่นคำร้องต่อศาลเชื่อถือได้หรือไม่
พยานหลักฐานและเอกสารต่างๆเหล่านี้ได้มาโดยใช้หมายศาล มีการรับรองสำเนาถูกต้อง อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเอกสารหลักฐานเท็จ พล.ต.ท.สมคิดก็จะมีความผิดอาญาในการแถลงข้อความอันเป็นเท็จและใช้เอกสารหลักฐานเท็จด้วย
สอง ถ้าคำร้องและข้อกล่าวหาของ พล.ต.ท.สมคิดเป็นข้อเท็จจริง มีการช่วยเหลือพยานสำคัญที่เป็นจำเลยในคดีร้ายแรงซึ่งศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต หลบหนีให้พ้นเขตอำนาจศาลไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมายย่อมสร้างสั่นสะเทือนให้แก่กระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง
คำถามคือ ลำพังอัยการพิศษฝ่ายคนหนึ่งกับพนักงานสอบสวนคดิพิเศษเพียง 2 คน กล้ากระทำการอย่างอุกอาจในการช่วยเหลือจำเลยคดีร้ายแรงซึ่งเป็นพยานปากสำคัญในคดีที่ผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบียหลบหนีไปยังยูเออีหรือ?
เพราะการส่งประเด็นไปสืบพยานในศาลต่างประเทศนั้นต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ซึ่งมี "อัยการสูงสุด" เป็นผู้ประสานงานเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรง
ดังนั้นก่อนที่พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลยูเออี ต้องได้รับความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานกลางหรือไม่?
หรือพนักงานอัยการโจทก์และอัยการใหญ่้ที่สั่งซื้อตั๋วเครื่องบินกระทำโดยพลการ แต่ถ้าทำโดยพลการทำไมถึงกล้าที่จะใช้ชื่อสำนักงานอัยการสูงสุดส่งเอกสารการโอนเงินโดยให้ชื่อพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ของนิติกรเป็นผู้โอนเงิน
ถ้าเรื่องนี้อัยการสูงสุดไม่เกี่ยวหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ควรที่จะต้องทำเรื่องให้กระจ่างต่อสาธารณชนโดยเร็ว เพราะมิเช่นนั้นจะสร้างความเสื่อมศรัทธาต่อสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
สาม ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล แทรกแซงหรือช่วยเหลือในการอุ้มพยานคนสำคัญหลบหนีเพื่อให้พ้นอำนาจศาลไทยหรือไม่
ข้อน่าสังเกตคือ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกพาสปอร์ตแบบพิเศษให้แก่ พ.ต.ท.สุวิชชัยได้ทั้งๆ ที่มีหมายจับคดีร้ายแรง (ตามคำร้องของ พล.ต.ท.สมคิด)
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับประเทศซาอุดิอาระเบีย" มี "นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 นายโกวิท ศรีไพโรจน์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และอัยการโจทก์ในคดีนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดิพิเศษ ฯลฯ เป็นกรรมการ ติดตาม เร่งรัด และประสานงานในคดีดังกล่าว
สี่ ทั้งกัมพูชาและยูเออี ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์อ้างว่า พ.ต.ท.สุวิชชัยหลบหนีไปอยู่นั้น เป็นสถานที่ที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เดินทางเข้า-ออกเป็นประจำและผู้นำรัฐบาลทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย
ผลของการต่อสู้คดีระหว่าง พล.ต.ท.สมคิดและพนักงานอัยการจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีการลักลอบนำตัวพยาน (จำเลย) คนสำคัญของคดีนี้ออกไปพ้นเขตอำนาจศาลไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริง จะเป็นการทำลายความเชื่อถือขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง
ย้อนอดีตฟื้นคดีอัลรูไวลี่
เหตุการณ์การหายตัวไปของ นายมูฮัมหมัดนายอัลรูไวรี่ นักธุรกิจและมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย เกิดขึ้นเมื่อเกืดเดือนกุมภาพันธ์ 2533 โดยนายอัลรูไวรี่บรถหมายเลขทะเบียน 3 ข- 9867 กทม. ออกจากบ้านไปทำงานเวลาบ่ายสามโมง แล้วหายตัวไป
ต่อมาทางการซาอุฯเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยตำรวจได้ออกสืบสวนตามสถานที่ต่างๆ แต่ไม่พบ จนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 ได้พบรถยนต์จอดอยู่ที่ลานจอดรถของรพ.กรุงเทพคริสเตียน แต่ไม่พบนายอัลรูไวรี่ เมื่อสอบถามนางจามารี ซึ่งเป็นญาติก็ไม่ทราบ และได้เดินทางกลับประเทศซาอุฯไป ทางตำรวจจึงส่งรูปถ่ายพร้อมตำหนิรูปพรรณ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีคำสั่งให้สืบหาตัวแต่ก็ไม่พบ
เคยมีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.สมคิด บุญถนอม (ยศขณะนั้น) กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าสืบสวนในคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯ แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอเมื่อปี 2536 ทำให้ดคีถึงที่สุด
จนกระทั่งมีการก่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขึ้น ทางตำรวจจึงได้โอนเรื่องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบ และตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำการสืบสวนสอบสวนต่อ ก็ยังไม่พบตัวนายอัลรูไวรี่แต่อย่างใด
คดีความการหายตัวไปของนายอัลรูไวรี่ จางหายไปกับวันเวลานับสิบปี จนกระทั่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยของ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" เป็นอธิบดี ได้ปัดฝุ่นคดีการหายตัวไปของนักธุรกิจซาอุฯผู้นี้ขึ้นมา และ เป็นจุดเริ่มต้นของการออกหมายเรียก พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ตำแหน่งขณะนั้น) ,พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ,พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี ,พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ มารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ปิดบังซ่อนเร้นทำ ลายศพ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำการใด
โดยดีเอสไอระบุว่า "มีพยานหลักฐานใหม่" เพื่อรื้อฟิ้นคดีซึ่งมีน้ำหนักพอที่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ได้
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน มิใช่ความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช.