โพลล์ (Poll) คืออะไร
“บทความนี้และบทความเรื่อง อย่าเชื่อโพลล์ทั้งตอนที่ 1 และตอนที่ 2 เป็นการรวบรวมของผู้เขียนที่ได้จากการศึกษาด้านระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจและนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัยคอร์แนล และมหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ สหรัฐอเมริกา ถ้านักวิชาการและนักศึกษาจะนำไปอ้างอิงในงานวิชาการของตนเองขอให้ระบุแหล่งที่มาของบทความนี้”
ผมได้รับแรงบันดาลใจอีกครั้งในการเขียนบทความนี้ เมื่อเย็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ฟังรายการวิทยุรายการหนึ่งที่วิทยากรท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่า โพลล์เป็นเพียงแค่ความรู้สึกไม่ใช่ข้อเท็จจริง และวิทยากรขอย้ำว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ผมจะนำตำราด้านการทำโพลล์มาแบ่งปันผู้อ่านดังต่อไปนี้
ศาสตราจารย์ Schuman ระบุคำว่า “โพลล์” (Poll) ว่ามีรากศัพท์ของภาษาเยอรมันโบราณหมายถึง “หัว” ในการนับหัว
ดร. Traugott แห่งมหาวิทยาลัย Michigan และ ดร. Lavrakas แห่งมหาวิทยาลัย Ohio State University ศาสตราจารย์ทั้งสองนี้ได้แต่งหนังสือร่วมกันชื่อ “คู่มือของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการอ่านผลโพลล์เลือกตั้ง” และได้กล่าวไว้ในหนังสือของพวกเขาว่า
โพลล์ (Poll) คือการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสาร (Information) จากประชาชน และโพลล์กับงานวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ว่า โพลล์ถูกใช้โดยองค์กรสื่อมวลชน แต่งานวิจัยเชิงสำรวจถูกทำขึ้นโดยนักวิจัยของสถาบันการศึกษา และนี่เองที่เอแบคโพลล์ได้ใช้คำว่า “งานวิจัยเชิงสำรวจ” ในการทำโพลล์มาโดยตลอด
โพลล์ยังถูกใช้เป็น Polling Place ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งหรือที่เรียกกันว่า หน่วยเลือกตั้ง
ขณะที่ Weisberg, Krosnick, และ Bowen ได้แต่งหนังสือชื่อ Introduction to Survey Research, Polling, and Data Analysis โดยทั้ง Weisberg และ Krosnick เป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Ohio State University ได้ระบุว่า โพลล์หรือการวิจัยเชิงสำรวจเป็นการวัดทัศนคติหรือความชอบ ความเชื่อ และข้อเท็จจริง ที่สามารถรวมไปถึงประสบการณ์เชิงพฤติกรรมได้
นพดล กรรณิกา จึงใช้คำนิยามของ “โพลล์” และ “งานวิจัยเชิงสำรวจ” ว่า โพลล์คือการเก็บรวบรวมข้อมูลที่แบ่งออกได้เป็น 3 ชุดของข้อมูลได้แก่ ความคิดเห็น (Opinion) พฤติกรรม (Behavior) และข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ (Facts) ผ่านระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจและหลักสถิติ ดังนั้น เราจึงสามารถทำโพลล์สำรวจข้อเท็จจริงที่จับต้องได้เช่น ถามว่าในครอบครัวของท่านมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกี่คน เป็นต้น
ในหนังสือของศาสตราจารย์ Weisberg และคณะได้แบ่งโพลล์ออกตามคุณภาพเป็นสามประเภท ได้แก่ โพลล์ที่ดี โพลล์ที่แย่ และโพลล์ที่น่ารังเกียจ โดยโพลล์ที่น่ารังเกียจเป็นโพลล์ที่ไม่ได้ใช้หลักวิชาการและไม่มีความเป็นมืออาชีพ
ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยเชิงสำรวจของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งได้แก่ Robert M. Groves, Floyd J. Fowler, Mick P. Couper, James Lepkowski, Eleanor Singer, และ Roger Tourangeau ได้ร่วมกันเขียนหนังสือด้านระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจโดยระบุในหนังสือของพวกเขาว่า ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจเป็นทั้งด้านวิทยาศาสตร์และความเป็นมืออาชีพ
โดยด้านวิทยาศาสตร์ในการทำวิจัยเชิงสำรวจและการทำโพลล์ต้องการหลักการทางวิชาการมาประยุกต์ใช้เช่น หลักคณิตศาสตร์ หลักความน่าจะเป็น และโอกาสของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น จึงต้องมีกระบวนการเลือกตัวอย่างที่จะทำให้เกิดความเป็นตัวแทนเพื่อใช้อ้างอิงผลสำรวจจากตัวอย่าง (sample) ไปยังประชากร (population)
หลักการนี้จะทำให้เราพอนึกออกได้ว่า เวลาเราไม่สบายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ขอ “ตรวจเลือด” เราจะเห็นว่า แพทย์ก็ไม่ได้สูบเลือดออกไปจากร่างกายของเราจนหมดเพื่อจะรู้ว่าเราเป็นโรคอะไร หรือเวลาเรา “ต้มยำทำแกง” หม้อใหญ่ๆ และเราอยากรู้รสชาติของต้มยำหรือแกงหม้อนั้น เราก็จะชิมเพียงช้อนหรือสองช้อนก็จะรู้รสชาติของแกงหม้อนั้นโดยไม่จำเป็นต้องชิมหมดทั้งหม้อ หรือเวลาเราจะ “ตรวจความชื้น” ของข้าวในกองเป็นแสนๆ เมล็ด เราก็ไม่จำเป็นต้องนั่งนับความชื้นของข้าวทุกเมล็ด
อย่างไรก็ตาม เพราะว่า “มนุษย์” แตกต่างจากเม็ดเลือด แตกต่างจากส่วนผสมของแกง และแตกต่างจากเมล็ดข้าวในการทำวิจัยเชิงสำรวจที่มีการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้ระหว่างพนักงานสัมภาษณ์และผู้ตอบแบบสอบถาม และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตอบแบบสอบถามกับข้อความที่ใช้ในแบบสอบถาม เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เพียง “ตัวรับสัญญาณ” (Passive) และถูกจูงไปให้ทำโน่นทำนี่ตามการชี้นำของผลสำรวจหรือตามข้อความที่ใช้ในแบบสอบถาม แต่มนุษย์มีศักยภาพจะตอบโต้ได้กับถ้อยคำที่ใช้ในแบบสอบถามและกับการถามของพนักงานสัมภาษณ์ ดังนั้น ในการทำโพลล์และการวิจัยเชิงสำรวจจึงต้องใช้หลักการที่หลากหลายในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักของการเลือกตัวอย่างทางสถิติและคณิตศาสตร์
การรับสมัครพนักงานสัมภาษณ์และฝึกอบรมพวกเขาจึงเป็นเรื่องจำเป็นโดยในใบสมัครงานต้องมีข้อมูลชี้ตัวตนของพวกเขาให้ได้ว่ามีความเอนเอียงหรือไม่ เช่น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง หรือนักการเมืองหรือไม่ และในการฝึกอบรมก็จะต้องฝึกให้เขาในสองวิธีของการเก็บข้อมูลคือ การสัมภาษณ์แบบมาตรฐานอ่านทุกตัวอักษรห้ามแต่งเติมห้ามอธิบายความ และการสัมภาษณ์แบบให้อธิบายถ้อยคำที่ผู้ตอบแบบสอบถามอาจมีข้อสงสัยและถามพนักงานสัมภาษณ์ได้
จึงเห็นได้ว่า ความคลาดเคลื่อนจึงเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของการทำโพลล์ ความคลาดเคลื่อนมีสองประเภทคือ ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการเลือกตัวอย่าง และความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตัวอย่าง โดยค่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการเลือกตัวอย่างได้มาจากสูตรทางคณิตศาสตร์และจะประมาณการค่าบวกและลบของตัวเลขที่พบในผลสำรวจแต่ละครั้ง เช่น ถ้าช่วงความคลาดเคลื่อนในโพลล์ระบุว่า บวกลบร้อยละ 7 และผลโพลล์พบว่าร้อยละ 40 จะเลือกผู้สมัคร ก. ก็จะนำเลข 7 ไปบวกและลบกับ 40 จึงจะได้ว่า ผู้สมัคร ก. มีความเป็นไปได้อยู่ระหว่างร้อยละ 33 ถึงร้อยละ 47 โดยวิธีนี้ของการระบุช่วงความคลาดเคลื่อนลงไปในผลโพลล์น่าจะช่วยลดทอนการชี้นำลงไปได้ในผลโพลล์
ดังนั้น การนำเสนอผลโพลล์จึงต้องมีการเขียนอธิบายผลโพลล์เพื่อลดทอนการชี้นำในหมู่ประชาชน เช่น ผลโพลล์ออกมาว่า ร้อยละ 40 ของคนกรุงเทพฯ นิยมผู้สมัคร ก. ในขณะที่ร้อยละ 39 นิยมผู้สมัคร ข. ซึ่งการเขียนอธิบายผลโพลล์จะช่วยลดการชี้นำลงไปได้เพราะต้องเขียนว่าความนิยมของทั้งสองมีโอกาสพลิกได้เนื่องจากห่างกันแค่ร้อยละ 1 ซึ่งร้อยละ 1 ยังอยู่ในช่วงค่าความคลาดเคลื่อน
แต่ถ้านักทำโพลล์ไม่เขียนวิเคราะห์ตีความผล ก็จะทำให้ ผู้คนในสังคมตั้งแต่สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนกองเชียร์ต่างๆ เห็นว่า ผู้สมัคร ก. ได้ตัวเลขมากกว่า ผู้สมัคร ข. ก็จะถูกนำไปเป็นข่าวพาดหัวว่าชี้นำสังคมกันอย่างกว้างขวางแต่บางฝ่ายก็อาจจะแย้งว่า “สูสี” มีโอกาสพลิก ผลที่ตามมาคือ ความสับสน ความขัดแย้ง และปั่นอารมณ์ผู้คนในสังคมให้เกิดความไม่สงบขึ้นมาได้ ดังนั้นการเขียนตีความอธิบายผลจากผู้ทำโพลล์จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อช่วยลดทอนการชี้นำ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในเรื่องการทำโพลล์ของสังคมไทยเวลานี้คือ ปรากฎการณ์ “พิกกี้” ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมของผู้คนที่มักจะหยิบเพียงบางประเด็นขึ้นมาสนับสนุนความชอบธรรมในการชี้นำของตนเองและละเลยประเด็นอื่นที่ขัดแย้งหรือไม่สนับสนุนการชี้นำของตน ดังนั้น นักทำโพลล์ต้องทำงานและนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งในเรื่องกระบวนการเลือกตัวอย่าง ช่วงความคลาดเคลื่อน ลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามว่ามีชายร้อยละเท่าไหร่หญิงร้อยละเท่าไหร่ ช่วงอายุของผู้ตอบมีสัดส่วนอย่างไร รวมถึงระดับการศึกษา รายได้ และอาชีพกลุ่มต่างๆ เพื่อคนอ่านผลสำรวจจะได้รู้ว่า กลุ่มคนตอบแบบสอบถามมีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากลักษณะของประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมากน้อยเพียงไร
ในขณะที่ สื่อมวลชนก็ต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับนักทำโพลล์มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพราะเวลาที่ข้อมูลข่าวสารออกไปยังสาธารณชนแล้วมันยากที่จะควบคุมทิศทางได้ในมวลหมู่ประชาชนมหาศาล
ศาสตราจารย์ Asher แห่งมหาวิทยาลัย Ohio State University ได้แต่งหนังสือเรื่อง การทำโพลล์กับสาธารณชน อะไรที่พลเมืองทุกคนควรรู้ และในหนังสือเล่มนี้ได้สรุปใจความไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อประชาชนได้ยินได้ฟังผลสำรวจต่างๆ จึงไม่ควรยอมรับหรือปฏิเสธอย่างเร่งรีบเกินไป แต่ควรรู้จักยับยั้งชั่งใจและรู้จักไตร่ตรองนำไปประกอบกับแหล่งความเป็นจริงอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของตนเองและตัดสินใจ
เพราะ “ประชาชน” คือ “มนุษย์” ไม่ใช่แค่ “เครื่องรับสัญญาณ” จึงต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่ตอบโต้คิดไตร่ตรองอย่ายอมให้อะไรหรือใครมาชี้นำการตัดสินใจของตนเองได้ไม่ว่าพวกเขาจะมีความน่าเชื่อถือศรัทธาเพียงไร…….
Twitter: Noppadon Kannika@ABACPOLLCENTER