“ถาวร” เสนอยุบ ป.ป.ช.จังหวัด - ตัดวาระดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระเหลือ 5 ปี
'พีรพันธุ์ พาลุสุข' คาใจรัฐบาลตีกรรเชียง ซื้อเวลาแก้รธน. ทวงถามไหนบอกเป็นนโยบายเร่งด่วน ต้องทำใน 1 ปี ดร.บรรเจิด แนะประเด็นพึงพิจารณา แก้ รธน. หัวใจอยู่ที่กำหนดโจทย์ ชี้ตั้งโจทน์ผิด เลิกกัน อย่าคิดปฏิรูประบอบการเมืองจะสำเร็จ
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ "ประเด็นพึงพิจารณา หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ณ ห้องประชุม 307 อาคารพินิตประชานาถ มี ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เปิดการเสวนา โดยวิทยากร ประกอบด้วย ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคเพื่อไทย นายถาวร เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และรศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ดร.พีรพันธุ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้ยังค้างอยู่ที่สภาฯ วาระ 3 ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า รัฐสภาจะเดินหน้าหรือถอยหลัง หรือจะซื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
“สำหรับผมคิดว่า รัฐบาลกำลังซื้อเวลา กำลังตีกรรเชียง ทั้งๆ ที่เคยแถลงไว้ในนโยบายอย่างชัดเจนว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้รูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการภายใน 1 ปี แต่นี่ล่วงเข้าปีที่ 2 แล้ว”
ดร.พีรพันธุ์ กล่าวถึงสาระสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยเฉพาะที่มาของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย มาจากรัฐประหาร จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ครึ่งหนึ่งมาจากเลือกตั้ง ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา ก็ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ฉะนั้นต้องมีการแก้ไข เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน
ดร.พีรพันธุ์ กล่าวถึงองค์กรอิสระ มีปัญหา Balance of power ทั้งที่มาและอำนาจหน้าที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเพิ่มอำนาจหน้าที่ จนทำให้หลายคนกอดรัฐธรรมนูญ 2550 เอาไว้
ส่วนนายถาวร กล่าวถึงประเด็นการยุบพรรค โดยแสดงความเห็นด้วยว่า ควรมีการแก้ไข ให้ลงโทษเฉพาะผู้ที่ทำผิดเท่านั้น ทั้งตัดสิทธิทางการเมือง รับผิดทางอาญา และทางแพ่ง ขณะที่องค์กรศาล ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางนักการเมือง เห็นว่า ยังคงเป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของศาลปกครอง การตรวจสอบการทุจริตของนักการเมือง
“สิ่งที่น่าจะแก้ไขก็คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ผมต้องการเห็นมีสัก 2 ศาล ไม่ใช่ศาลเดียว โดยรายละเอียดประเด็นนี้ต้องมีการถกเถียงกันอีก เพื่อความรอบคอบ และเพื่อมิให้นักการเมืองที่ทุจริตเมื่อถูกศาลพิพากษาอ้างว่า ถูกกลั่นแกล้ง เพราะการพิจารณาเพียงศาลเดียว”
ในประเด็นที่มาของ ส.ว.นั้น นายถาวร กล่าวว่า การสรรหา ส.ว.หลายคนไม่ได้มาตรงกับภาคนั้นๆ ก็ต้องโทษผู้ทำหน้าที่สรรหา พร้อมเสนอให้มีการแก้ไขด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆ เท่านั้น ห้ามส่งตัวแทนเข้ามาโดยเด็ดขาด
ส่วนการดำรงอยู่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายถาวร กล่าวว่า อิทธิพลเหลือหลาย มีอำนาจยาวนาน จึงเสนอขอตัดอายุของการดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ให้เหลือ 5 ปี วาระดำรงตำแหน่งจะ 7 หรือ9 ปีนั้น ไม่เอาแล้ว เพราะยาวนานเกินไป
สำหรับในเดือนเมษายนนี้ ประเทศไทยจะมี ป.ป.ช. จังหวัด นายถาวร แสดงความกังวลว่า ป.ป.ช. จังหวัด แทนที่จะไปส่งเสริมป้องกันการทุจริต กลับจะทุจริตเสียเอง ดังนั้น จึงเสนอให้ยุบป.ป.ช. จังหวัด แล้วไปสนับสนุนภาคประชาชน ภาคประชาสังคมให้เข้มแข็งแทน
“องค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง ดังนั้น ในส่วนของการสรรหาองค์กรอิสระ ก็ไม่ควรมาจากกลุ่มตัวแทนจากภาคการเมือง เช่น ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน เข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ ขณะเดียวกันเมื่อองค์กรอิสระทำผิด ส่อทุจริต เสนอให้ประชาชนมีโอกาสร้องทุกข์กล่าวโทษ กับบุคคลเหล่านั้นได้ เพราะในรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้สิทธิ์ ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้นที่ร้องทุกข์กล่าวโทษ แม้แต่การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งมาจากระดับ 10 ขึ้นไป ผมเห็นว่า ไม่เหมาะสม เพราะอาจได้รับการอุปถัมภ์จากกนักการเมือง จึงจำเป็นต้องเปิดกว้างให้มากกว่านี้ ไม่ควรจำกัดสิทธิ์ไว้ในวงแคบ ต้องนำผู้สุจริต มีประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์ พี่น้องประชาชนไว้ใจเข้ามาทำงาน”
สำหรับกรอบเวลาการทำงานขององค์กรอิสระนั้น นายถาวร เสนอด้วยว่า ควรมีกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน เช่น เมื่อ ป.ป.ช รับเรื่องร้องแล้วต้องสืบสวนสอบสวนได้เสร็จภายใน 1 ปี อัยการสั่งคดีภายใน 4 เดือน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 1 ปี เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย
ขณะที่ ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวถึงประเด็นพึงพิจารณา หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หัวใจสำคัญคือการกำหนดโจทย์ เพราะหากกำหนดโจทย์ผิดก็เลิกกัน เช่น ถ้าประเทศไทยต้องปฏิรูประบอบการเมือง โจทย์ของเรา คืออะไร หากตีโจทย์ไม่แตก อย่าคิดว่า ปฏิรูประบอบการเมืองสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมา 80 ปี ประชาธิปไตยไทย ไม่เคยตั้งโจทย์ ถึงได้วนเวียนอยู่แบบนี้
“สังคมไทยควรเป็นคนกำหนดโจทย์ ไม่ใช่นักการเมือง เพราะเรื่องใหญ่เกินกว่านักการเมืองกำหนด ชี้ขาด และหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องแก้ให้เป็นประชาธิปไตย” คณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าว และว่า ณ วันนี้โจทย์ของประเทศไทย มีข้อเดียว คือ อำนาจทางการเมืองถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ พื้นที่ของประชาชนจริงๆ ยังไม่รู้อยู่ตรงไหน อีกทั้งไม่รู้ด้วยว่า พรรคการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ หรือไม่ พร้อมกับเปรียบเทียบพรรคการเมืองไทยเป็น 'บริษัท' ตามรัฐธรรมนูญ นี่จึงเป็นคำถามใหญ่ ว่า ระบบพรรคการเมืองจะสามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนที่หลากหลายได้จริงหรือไม่
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า ไม่ควรเอารัฐธรรมนูญ เป็นตัวตั้ง แต่ควรมองผลประโยชน์และทิศทางข้างหน้าเป็นตัวตั้ง รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเพียงผลิตผลของความขัดแย้งชนชั้น ชนชั้นนำใหม่ ชนชั้นนำเก่า โดยไม่มีพื้นที่ประชาชนเลย ซึ่งหากตั้งโจทย์จริงๆ ว่า คืออะไร แล้วจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ที่ไม่ใช่เรื่องการปะผุ ต้องทำใหม่
สุดท้ายรศ.ณรงค์เดช กล่าวถึงมาตรา 237 การยุบพรรค ได้ถูกนำไปใช้กำจัดศัตรูคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งผิดครรลองประชาธิปไตย ฉะนั้นมาตรานี้ต้องมีการแก้ไข พร้อมกันนี้ยังเสนอให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เปิดประตู เพื่อไม่ให้มีการแบ่งขั้ว