กรมควบคุมโรค รุกสร้าง “อำเภอเข้มแข็งควบคุมเหล้าบุหรี่” นำร่อง 12 จว.
สธ.ชี้ทั้งผู้ซื้อผู้ขายละเมิด กม.เหล้าบุรี่ พบ 2 ปีสูบเพิ่มจาก 10.9 เป็น 11.5 ล้านคน ตลาดแหล่งควันมือสองอันดับหนึ่ง ตามด้วยบ้าน ที่ทำงาน รุกสร้างอำเภอเข้มแข็งควบคุมเหล้าบุหรี่ นำร่อง 12 จว.
วันที่ 8 ก.พ.56ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงสาระสำคัญและแนว ทางการเนินการอำเภอควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มแข็ง โดยนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดงานกล่าวว่าการสูบบุหรี่และการดื่มสุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพและส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนากฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์และมีมาตรการบังคับใช้ กฎหมายอย่างจริงจัง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยกรมควบคุมโรค สธ.จะสร้างความร่วมมือในการดำเนินการอำเภอควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศ
ที่ปรึกษา รมว.สธ. กล่าวอีกว่าปัจจุบันการควบคุมการบริโภคยาสูบมีการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายมากว่า 20 ปีและมีกฎหมายสำคัญในกำกับดูแล 2 ฉบับคือพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อมุ่งคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบจากควันบุหรี่มือสองในสถานที่สาธารณะ นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ.2553 เพื่อขยายขอบเขตสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมสถานที่ทำงานภายในอาคารทุกแห่ง
ส่วนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และกำหนดให้มี “คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด” ปัจจุบันยังพบว่าผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบและละเมิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นหน่วยงานของรัฐ และองค์กรเครือข่ายระดับพื้นที่ จึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องเข้ามาเป็นแกนหลักดำเนินงานร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคม ให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการในระดับพื้นที่ให้คลอบคลุมมากที่สุด
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าปัจจุบันการสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2554 พบว่าอัตราการบริโภคยาสูบปัจจุบันชนิดมีควันของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 21.40 (11.5 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมาร้อยละ 20.70 (10.91 ล้านคน) และผลสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในช่วง 30 วันก่อนของประชากรนอกเขตเทศบาลในปี 2554 ยังพบว่าตลาดสด/นัด เป็นสถานที่ที่ประชาชนได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด ร้อยละ 69 รองลงมาเป็นที่บ้าน และสถานที่ทำงาน ร้อยละ 41.4 และ 35.2 ตามลำดับ
ปัจจุบันประเทศไทยมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ปริมาณ 13.59 ลิตร/คน/ปี จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคปี2554 พบว่าผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร 80,962 ราย โดยผู้บาดเจ็บ 1 ใน 3 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย คดีทำร้ายร่างกาย 15,714 ราย พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 45
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือของเครือข่ายในการดำเนินการอำเภอควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มแข็ง การบังคับใช้กฎหมายและเฝ้าระวังแบบบูรณาการ ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดยจัดกิจกรรมความร่วมมืออำเภอควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มแข็งใน 12 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ อยุธยา ชัยนาท จันทบุรี นครปฐม สุรินทร์ มหาสารคาม นครพนม พิจิตร สุโขทัย ลำพูน พังงา สงขลา .