รัฐเข้มระเบียบต่างด้าว หวังหลุดค้ามนุษย์แรงงานประมง
ก.แรงงานขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติต่างด้าวถึง 16 มี.ค. เข้มระเบียบแรงงานหวังหลุดแบล็กลิสต์ค้ามนุษย์ภาคประมง ลูกจ้างเผยนายหน้ารีดค่าหัวเข้าประเทศ 2 หมื่นบ.
วันที่ 8 ก.พ. 56 ที่โรงแรมปริ๊นส์ตัน ปาร์ค สวีท กรุงเทพฯ กรมการจัดหางานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโย้กย้ายถิ่นฐาน (IOM) และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จัดเวที ‘ประชาสัมพันธ์กระบวนการผ่อนผันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย’ ตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2556 ที่เห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้วรวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษออกไปอีก 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2555 เป็นต้นไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายให้ได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องในราชอาณาจักรได้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า แรงงานสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา ถือเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ขออนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมายแล้วราว 1.2 ล้านคน ขณะที่ปัญหาแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไขโดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ดีตามมติครม.เดิมได้กำหนดเวลาสิ้นสุดการพิสูจน์สัญชาติไว้เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2555 แต่ยังพบว่ายังมีแรงงานต่างด้าวตกค้างและไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการกฎหมายได้ทันตามกำหนด โดยแบ่งเป็นแรงงานพม่าที่ตกค้างการพิสูจน์สัญชาติ(ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว)ประมาณ 2.4 หมื่นคน แรงงานกัมพูชา 1.6 แสนคน และแรงงานลาว 9.9 หมื่นคน ภาคอุตสาหกรรมจึงมีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบเพราะขาดแคลนแรงงาน และได้ร้องขอให้มีการขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไป ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบและขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติอีก 120 วัน
โดยนายจ้างจะต้องมายื่นความจำนงขอโควต้าจ้างแรงงานจากประเทศต้นทาง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันนี้ - 16 มี.ค. 56 จากนั้นกรมการจัดหางานจะส่งโควตาพร้อมรายชื่อแรงงาน ต่างด้าวไปยังประเทศต้นทาง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและออกหนังสือเดินทางชั่วคราว ( Temporary Passport ) เมื่อขั้นตอนดังกล่าวแล้วเสร็จนายจ้างสามารถพาแรงงานต่างด้าวมารับหนังสือ เดินทางชั่วคราวได้ที่ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จพิสูจน์สัญชาติ ( One Stop Service ) ซึ่งมีอยู่ 12 แห่งทั่วประเทศ จากนั้นขอตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวกับสำนักงาน ตรวจคนเข้าเมือง และยื่นคำขออนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551
โดยยืนยันว่าขั้นตอนต่างๆจะไม่ล่าช้าเพราะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจะลดขั้นตอนต่างๆ โดยมีการประสานงานให้มีเจ้าหน้าที่ของต่างชาติมาประจำที่ศูนย์เพื่อพิสูจน์สัญชาติ, มีหน่วยงานสาธารณสุขตรวจโรคต้องห้าม พร้อมทั้งจัดให้มีการขอใบอนุญาตทำงานที่ศูนย์ทันทีหลังจากขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จ เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วหลบหนีการจ้างงานจากนายจ้าง โดยกรมฯจะอนุญาตให้แรงงานเปลี่ยนนายจ้างเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งหากผิดสัญญาแรงงานจะต้องถูกส่งกลับประเทศ โดยนับจากนี้แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติจะสามารถอยู่ทำงานได้ 2 ปี หลังจากนั้นจะต้องเดินทางกลับประเทศเป็นระยะเวลา 1 เดือน แล้วจึงขอกลับเข้ามาใหม่ตามบันทึกข้อตกลงการจ้างงานระหว่างรัฐ (เอ็มโอยู) เพื่อป้องกันแรงงานเข้ามาตั้งถิ่นฐาน นอกจากนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะมีการอบรมแรงงานต่างด้าวให้ทราบถึงกฎระเบียบสัญญาจ้างและสิทธิประโยชน์ ตลอดจนจะดำเนินการสำรวจสอบถามแรงงานว่าได้ผ่านกระบวนการการค้ามนุษย์หรือไม่ โดยจะเปิดโทรศัพท์สายด่วนรับเรื่องร้องทุกข์จากแรงงานด้วย
นายประวิทย์กล่าวต่อว่า นับจากวันที่ 16 มี.ค. 56 หากประเทศต้นทางสามารถออกเอกสารพิสูจน์สัญชาติได้แล้วเสร็จก็คงไม่ขยายเวลา แต่หากยังมีแรงงานตกค้างจำนวนมากอาจจะมีการหารือกับรัฐบาลต่อไปว่าจะขยายเวลาเพิ่มหรือไม่ หลังจากนั้นจะมีการปราบปรามและจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอย่างจริงจังต่อไป โดยมุ่งหวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ไทยถูกปลดจากการจัดอันดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยสหรัฐอเมริการะดับเทียร์ 2 เป็นระดับเทียร์ 1 ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีการเข้มงวดกวดขันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ เพื่อไม่ให้กระทบการค้าและการส่งออกระหว่างประเทศที่ใช้ปัญหาด้านแรงงานมาเป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้ากับไทย
ด้านนายภาคภูมิ แสวงคำ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศไทยมาโดยผิดกฎหมายต้องเสียค่าใช้จ่ายนับตั้งแต่ด่านแม่สอดมายังจ.สมุทรสาครทั้งสิ้น 18,000 – 20,000 บาท โดยมีนายหน้าไปรับถึงในหมู่บ้าน ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจะในการขอเข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ซึ่งถูกกว่าหลายเท่า แต่แรงงานบางส่วนก็ยังเลือกใช้ระบบนายหน้าเนื่องจากมีการรับประกันว่าจะได้ทำงาน โดยที่นายหน้าบางรายออกเงินค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตให้ก่อนแล้วจึงมาหักจากค่าจ้างทีหลัง ขณะที่การขอเข้ามาเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมายบางรายต้องใช้เวลารอไม่ต่ำกว่า 4 เดือน นอกจากนี้ยังมีแรงงานบางส่วนที่ถูกนายหน้าซึ่งอุปโลกน์ตนเป็นนายจ้างหลอกเก็บเงินพาไปขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแต่ไม่ได้ขอใบอนุญาตทำงานให้ จึงต้องเสียเงินไปฟรี
อีกปัญหาที่พบคือ แรงงานขาดอำนาจในการต่อรองกับกระบวนการทางราชการ จึงต้องหันไปพึ่งนายหน้า ขณะที่การประชาสัมพันธ์เรื่องกฎระเบียบต่างๆควรเพิ่มเติมสื่อที่เป็นภาษาแรงงานให้มากขึ้น และเผยแพร่ให้เข้าถึงแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวภาคเกษตรที่มักอยู่แต่ในพื้นที่ห่างไกลเมือง นอกจากนี้แรงงานภาคประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลยังประสบปัญหาขาดรายได้ อันเนื่องมาจากการที่ไทยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุนการค้ามนุษย์ ทำให้โรงงานแปรรูปอาหารทะเลต้องหยุดดำเนินกิจการหลายวันต่อเดือน เพราะถูกกีดกันทางการค้า-ลดยอดสั่งซื้อ แรงงานจึงหันไปประกอบอาชีพเสริมอื่น เช่น ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเพราะผิดเงื่อนไขใบอนุญาตทำงานอีก
นางสาวเอมาโฉ่ ผู้แทนแรงงานสัญชาติพม่า กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยประสบปัญหานายจ้างยึดใบอนุญาตทำงานไว้ เมื่อถูกตรวจสอบจึงถูกจับ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตหากไม่ใช่แรงงานอาชีพแม่บ้านซึ่งอยู่กับนายจ้างมานานนายจ้างก็จะไม่รับผิดชอบให้ โดยเห็นว่าทางราชการควรมีการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวด้วยสื่อภาษาของแรงงานที่มากกว่านี้
ขณะที่นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานโดยการยึดบัตรอนุญาตทำงานไว้ ปฏิบัติไม่ดีต่อแรงงาน หรือใช้แรงงานเด็กนั้นมีจำนวนน้อย ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องเร่งหามาตรการจัดการที่เข้มข้นกับนายจ้างเหล่านี้เพื่อไม่ให้นายจ้างที่เคารพกฎกติกามาด้วยดีต้องพลอยเดือดร้อน และถูกกล่าวหาเหมารวมว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการค้ามนุษย์จนถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
โดยเห็นว่าการตัดกระบวนการการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องจัดการให้แรงงานที่เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายเมื่อเข้ามาสามารถเข้าถึงแหล่งจ้างงานได้ ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า นอกจากนี้รัฐบาลควรจำกัดการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวคนใหม่ๆให้ได้ มิเช่นนั้นปัญหาแรงงานถูกเอาเปรียบและถูกหลอกล่อโดยกระบวนการค้ามนุษย์ก็จะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งนี้ควรจัดการให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติลดขั้นตอนและระบบที่ยุ่งยากลงเพราะจะยิ่งทำให้กระบวนการนายหน้าเข้ามาหากินกับแรงงาน
นอกจากนี้ยังในส่วนของนายจ้างยังได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ซึ่งนายจ้างแม้ยินดีจ้างแต่ก็คาดหวังว่าแรงงานต่างด้าวที่ได้ค่าจ้างระดับนี้จะมีฝีมือดี แต่ปรากฏว่าเมื่อขอให้แรงงานต่างด้าวไปพัฒนาฝีมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมฯกลับบอกว่างบพัฒนาฝีมือแรงงานอุดหนุนให้เฉพาะผู้มีบัตรประชาชนไทยเท่านั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง
ที่มาภาพ ::: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000124491