โซนนิ่ง 6 พืชศก. จูงใจเกษตรกรปลูกให้เหมาะพื้นที่-แก้ผลผลิตล้น
กษ. ออกประกาศกระทรวงโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ ข้าว-มัน-ยางพารา-ปาล์ม-อ้อย-ข้าวโพด ยันไม่บังคับ-เน้นจูงใจเกษตรกรปลูกพืชเหมาะกับพื้นที่-แก้ผลผลิตล้นตลาด เตรียมส่งต่อผู้ว่าฯทุกจังหวัดดำเนินการ
วันที่ 6 ก.พ. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กษ.ได้ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช 6 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดินกับปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิดตาม สภาพที่มีการเพาะปลูกร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อื่นๆ เช่น เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทาน เป็นต้น โดยขั้นตอนหลังจากนี้กระทรวงฯ จะจัดส่งข้อมูลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำการผลิตหรือการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม มีปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถรักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
ทั้งนี้สำหรับเขตเหมาะสมต่อการปลูกข้าวมีทั้งสิ้น 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด
เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด
พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารามีทั้งสิ้น 68 จังหวัด 499 อำเภอ 2,251 ตำบล แบ่ง เป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลังมีทั้งสิ้น 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,314 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน มีทั้งสิ้น 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด
โดยยืนยันว่าประกาศฉบับนี้ไม่ใช่การบังคับเกษตรกร แต่เพื่อให้ทราบแนวทางการทำงานของรัฐ ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินกำลังดำเนินการนำข้อมูลมาจัดทำเป็นแผนที่จำแนกตามคุณภาพดินทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการรวมแผนที่กับหน่วยงานอื่นๆ เช่นแผนที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อจะได้เห็นภาพชัดว่า พื้นที่เพาะปลูกใดกลายเป็นที่พักอาศัยหรือโรงงานแล้ว และยังเหลือจุดใดที่ยังทำเกษตรกรรมได้อยู่
“การประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืช 6 ชนิดในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการให้เกษตรกรพิจารณาและตัดสินใจร่วมกับเจ้าหน้าที่ ของกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ เพื่อให้การเพาะปลูกของตัวเองเกิดความเหมาะสมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องมีการพิจารณาหามาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ มีความเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเรื่องน้ำ หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ ควบคู่ด้วย“ นายยุคล กล่าว