5เหตุผลที่"เคอร์ฟิว"ไม่ตอบโจทย์ดับไฟใต้
"ในพื้นที่ที่เกิดเหตุซ้ำๆ อย่าง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต้องเอามาเป็นกรณีศึกษาในการประกาศเคอร์ฟิวช่วงเวลากลางคืน และเราจะประกาศเฉพาะพื้นที่ที่มีสถิติเกิดเหตุซ้ำซาก โดยเรื่องนี้ต้องกล้าตัดสินใจคิดเปลี่ยน ปล่อยไว้อย่างนี้เหมือนดื้อยา ข้อเสนอนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่บอกมา จะไม่เชื่อเขาได้อย่างไร"
เป็นคำกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ผอ.ศปก.กปต. ที่ "โยนหินถามทาง" เกี่ยวกับการประกาศใช้มาตรการ "เคอร์ฟิว" เที่ยวล่าสุด
จะว่าไปครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่คิดใช้มาตรการ "เคอร์ฟิว" เพราะเมื่อช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค.2555 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม) มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งเกิดเหตุคาร์บอมบ์ถึง 3 ครั้งในรอบ 11 วัน และมีเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามสังหารทหารเสียชีวิต 4 นายต่อหน้ากล้องโทรทัศน์วงจรปิโดยมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ฝ่ายความมั่นคงก็เสนอรัฐบาลให้ประกาศ "เคอร์ฟิว" มาครั้งหนึ่งแล้ว
ครั้งนั้นเป็นแผนการประกาศเคอร์ฟิวบน "ถนนสายรอง" ทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 4 ไปจัดทำรายละเอียด เพื่อให้ประกาศหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน
แต่เมื่อเจอเสียงค้าน...แผนการก็ถูกพับไป
สำหรับมาตรการเคอร์ฟิวนั้น หมายถึงมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด มีระบุไว้ในกฎหมายหลายฉบับให้อำนาจฝ่ายรัฐสามารถประกาศใช้ได้ โดยเฉพาะในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (1) ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
ส่วนการห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (4) ระบุว่า ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
มาตรการเหล่านี้ หากเป็นพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศได้ทันทีโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 11 (6) ระบุอำนาจการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วย โดยให้อำนาจนายทหารระดับรองแม่ทัพสามารถประกาศได้ทันทีที่เห็นสมควร ในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก
อย่างไรก็ดี มาตรการเคอร์ฟิวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หากนับเฉพาะในห้วงเวลาเกือบ 9 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบ ฝ่ายทหารเคยประกาศมาแล้วในเขตพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2550 ในสมัยที่ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และประกาศยกเลิกมาตรการเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2552 ในสมัยที่ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 รวมระยะเวลาการประกาศนานกว่า 2 ปี
โดยการประกาศเคอร์ฟิวดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งกองทัพภาคที่ 4 (เฉพาะ) ที่ 103/50 เรื่อง การห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน ลงวันที่ 15 มี.ค.2550 ห้ามประชาชนในเขตพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00 น. ถึงเวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
จากความเป็นมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน. มีแนวคิดประกาศมาตรการเคอร์ฟิวมาโดยตลอด และยังเคยประกาศมาแล้วใน 2 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่ถ้าหากย้อนไปดูสถานการณ์ในเขต อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในห้วงที่ประกาศเคอร์ฟิว ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นเลย หนำซ้ำยังเป็นการสร้างเงื่อนไขทางความรู้สึกกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในเวลากลางคืน และออกกรีดยางในช่วงเช้ามืด
ผลสุดท้ายก็ต้องยกเลิกมาตรการ และสถานการณ์ในพื้นที่ก็ไม่ได้สงบสันติ ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะเช่นเดิม แม้จะมีการใช้มาตรการเคอร์ฟิวมานานกว่า 2 ปีแล้วก็ตาม
ฉะนั้นหากรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงคิดจะใช้มาตรการ "เคอร์ฟิว" อีกครั้งในปี 2556 ก็ต้องตอบโจทย์อย่างน้อย 5 ข้อนี้ให้ได้เสียก่อน เพราะมิฉะนั้นการประกาศเคอร์ฟิวก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด
1.การเตรียมประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่เกิดเหตุรุนแรงซ้ำซาก ถามว่า "พื้นที่เกิดเหตุรุนแรงซ้ำซาก" จะกำหนดนิยามอย่างไร เพราะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เกิดเหตุรุนแรงซ้ำซากแทบทุกอำเภอ ยกเว้นราว 10 อำเภอ (รวม 4 อำเภอของ จ.สงขลา) ที่มีเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง คำถามคือ "ตัวชี้วัด" ของความ "รุนแรงซ้ำซาก" อยู่ตรงไหน มีมาตรฐานอย่างไร
2.พื้นที่ 2 อำเภอที่ ร.ต.อ.เฉลิม ยกขึ้นมาระหว่างการให้สัมภาษณ์ คือ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จริงๆ แล้วหากพิจารณาจากข้อมูลสถิติย้อนหลังเกี่ยวกับการเกิดเหตุรุนแรง จะพบว่าไม่ใช่อำเภอที่ติดกลุ่มมีสถิติการเกิดเหตุสูงที่สุด ทั้งสถิติรายเดือนและรายปี โดยเฉพาะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา
ฉะนั้นการยกพื้นที่ 2 อำเภอนี้ขึ้นเป็นตัวอย่าง จึงเป็นผลมาจากเหตุรุนแรง 2 เหตุการณ์ล่าสุด คือเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มชาวนาจาก จ.สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ที่ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านฟื้นฟูนาร้างตามโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใน ต.บาโลย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บกว่า 10 ราย เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.2556 และถัดจากนั้นอีกเพียง 4 วัน ก็เกิดเหตุคนร้ายบุกยิงพ่อค้ารับซื้อผลไม้พร้อมลูกน้อง เสียชีวิตถึง 4 ราย ในเพิงพักริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ท้องที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์หาใช่ดัชนีชี้วัด "พื้นที่รุนแรงซ้ำซาก" แต่อย่างใด
3.คำสัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่อ้างถึงข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ประกาศเคอร์ฟิวในเวลากลางคืนนั้น มีข้อสังเกตว่า เหตุรุนแรง 1 ใน 2 เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น คือ เหตุยิงชาวนาจาก จ.สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ไม่ได้เกิดในเวลากลางคืน แต่เกิดในเวลาประมาณ 16.40-16.50 น. หากเทียบกับห้วงเวลาประกาศเคอร์ฟิวที่เคยประกาศในพื้นที่ อ.ยะหา กับ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อปี 2550-2552 คือระหว่าง 21.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. จะพบว่าเวลาเกิดเหตุที่ ต.บาโลย จ.ยะหริ่ง ห่างจากช่วงเวลาที่เคยประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 2 อำเภอของ จ.ยะลา อย่างมาก
ขณะที่เหตุสังหารพ่อค้ารับซื้อผลไม้ในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา แม้จะเกิดขึ้นกลางดึก หลังเที่ยงคืน แต่จุดเกิดเหตุก็อยู่ห่างจากโรงพัก สภ.กรงปินัง เพียงราวๆ 500 เมตร และยังอยู่ริมถนนสายหลัก คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ไม่ใช่ "ถนนสายรอง" ตามแนวคิดที่ กอ.รมน.เคยเสนอให้ประกาศเคอร์ฟิวเมื่อปีที่แล้วด้วย
4.มาตรการเคอร์ฟิวส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะการออกไปกรีดยางตอนเช้ามืด เวลาประมาณ 04.00 น.หรือก่อนหน้านั้น และการปฏิบัติภารกิจของพี่น้องมุสลิม ซึ่งมีการละหมาดในช่วงค่ำและช่วงเช้ามืด บางห้วงเวลา เช่น เดือนรอมฎอน ต้องไปละหมาดที่มัสยิด ถามว่าฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลจะบรรเทาผลกระทบดังกล่าวนี้อย่างไร โดยเฉพาะหากใช้มาตรการลิดรอนสิทธิของประชาชนอันเปรียบเสมือนเป็น "ยาแรง" แล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบและการก่อเหตุรุนแรงได้
5.การใช้มาตรการเคอร์ฟิวจะสวนทางกับแผนการถอนกำลังทหารหลักจากภาคอื่นออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ โดยเฉพาะการส่งสัญญาณต่อนานาประเทศ ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยยืนกรานมาตลอดว่าสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเตรียมจะถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ เพื่อถ่ายโอนภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับ "ตำรวจ" และ "กองกำลังภาคประชาชน" ดูแลแทน
นี่คือโจทย์ 5 ข้อที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต้องตอบให้ชัดเจน ก่อนที่จะประกาศใช้มาตรการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มเติม โดยที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าดำเนินการแล้วปัญหาจะจบ!
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การตั้งด่านตรวจด่านสกัดในเวลากลางคืน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติของฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และกองกำลังประชาชนอยู่แล้วในปัจจุบัน
ขอบคุณ : พ.ต.อ.โพท สวยสุวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เอื้อเฟื้อภาพ