จากยิงชาวนาถึงฆ่าพ่อค้าผลไม้...มุมมองฝ่ายมั่นคง-ปกครอง-ท้องถิ่น
"ขณะนี้ผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่กำลังมุ่งก่อเหตุกับประชาชนโดยไม่เลือกศาสนา เพื่อข่มขู่ขัดขวางเรื่องการประกอบอาชีพและทำมาค้าขาย โดยเฉพาะกับบุคคลที่มาจากนอกพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าหมาย"
เป็นคำเตือนอย่างเป็นทางการ และบทสรุปวิเคราะห์สถานการณ์แบบกระชับ ตรงไปตรงมา ที่เห็นพ้องต้องกันทั้งหน่วยใช้กำลังและหน่วยพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ 2 ครั้งต่อเนื่องกันที่สร้างความสลดหดหู่ไปทั่ว คือ เหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มชาวนาจาก จ.สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ที่ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านฟื้นฟูนาร้างตามโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใน ต.บาโลย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บกว่า 10 ราย เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.2556 และถัดจากนั้นอีกเพียง 4 วัน ก็เกิดเหตุคนร้ายบุกยิงพ่อค้ารับซื้อผลไม้พร้อมลูกน้อง เสียชีวิตถึง 4 ราย ในเพิงพักริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ท้องที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา
โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังที่เป็นการกระทำอย่างโหดเหี้ยม มีการมัดมือและเท้าก่อนจ่อยิง เหยื่อมีทั้งชายและหญิง หนำซ้ำจุดเกิดเหตุยังอยู่ห่างจากโรงพัก สภ.กรงปินัง ไม่ไกลนัก
เหตุรุนแรงทั้ง 2 เหตุการณ์ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์และตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง ทั้งแนวโน้มสถานการณ์ วิธีการกระทำต่อเป้าหมาย และปัญหาการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น
"ทีมข่าวอิศรา" สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องจาก 3 ฝ่าย คือฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนา และฝ่ายท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่
ผู้การยะลา ชี้ จงใจสร้างเงื่อนไข
พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (ผบก.ภ.จว.ยะลา) กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุรุนแรงทั้ง 2 เหตุการณ์ ในห้วงที่ผ่านมาก็มีข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ จ.ยะลา ก็มีการเพิ่มความเข้ม เพิ่มการปฏิบัติการในเชิงรุกมาตลอด มีผลการปฏิบัติงานโดยเฉพาะผลการจับกุมที่เป็นรูปธรรม มีการยืดระยะเวลาการเกิดเหตุมาได้พอสมควร
กระทั่งเกิดเหตุการณ์เมื่อหลังเที่ยงคืนของวันที่ 4 ก.พ. คนร้ายเข้าไปยิงชาวไทยพุทธที่มาจาก จ.ระยอง เสียชีวิตถึง 4 ราย ประกอบด้วย เถ้าแก่รับซื้อผลไม้ ภรรยา และลูกจ้าง โดยคนร้ายได้ใช้เชือกป่านมัดมือมัดเท้า แล้วใช้อาวุธสงครามยิง ซึ่งในขณะนั้นเป็นเวลาที่ดึกมากแล้ว และไม่มีชาวบ้านนำทุเรียนมาขายแล้ว ผู้เสียชีวิตทั้งหมดกำลังเตรียมตัวนอนพักผ่อน คาดว่าคนร้ายน่าจะรู้ช่วงเวลาว่าช่วงไหนเหมาะสมกับการก่อเหตุ
"ผมมีคำถามคาใจที่อยากจะถามผู้ก่อเหตุว่า ที่ไปจับคนไทยพุทธ 4 คนมัดมือมัดเท้า แล้วจ่อยิงศีรษะด้วยอาวุธปืนสงคราม มันหมายความอย่างไร ที่ผ่านมากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามสื่อถึงรัฐว่าเจ้าหน้าที่รัฐสร้างเงื่อนไข แต่กรณีอย่างนี้อยากถามว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขหรือไม่ ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเข้าไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับซื้อผลไม้ซึ่งเป็นวัตถุดิบในพื้นที่ เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ หากชาวสวนในพื้นที่นำผลไม้ไปขายเองในส่วนกลางแล้วถูกกดราคา จะมีความลำบากมากแค่ไหน"
"สำหรับเหตุการณ์นี้ ชัดเจนว่ากลุ่มคนร้ายต้องการทำร้ายชาวสวนในพื้นที่เพื่อไม่ให้ได้รับประโยชน์ ทำให้ภาคเศรษฐกิจเกิดผลกระทบไม่มากก็น้อย"
ยิงคนไร้ทางสู้ "อุดมการณ์อยู่ตรงไหน"
"อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือ ผู้ที่มีอุดมการณ์ (ต่อสู้กับรัฐ) ในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หรือมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ในตะวันออกกลาง นักรบก็ต้องรบกับนักรบ ไม่มีประเทศไหนที่นักรบมาสู้รบกับเป้าหมายอ่อนแอแบบนี้ ถึงแม้ว่าจะคิดแบ่งแยกดินแดน เพราะในแต่ละดินแดนก็มีคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ผมอยากฝากไปยังกลุ่มคนร้ายที่เป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ให้ไปคิดในเรื่องนี้ด้วย"
สำหรับการดูแลความปลอดภัยให้กับพ่อค้าที่เข้าไปรับซื้อผลไม้นั้น พล.ต.ต.พีระ กล่าวว่า ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกโรงพักในพื้นที่ 8 อำเภอ ให้ดูแลคนจากนอกพื้นที่ที่เข้าไปรับซื้อผลไม้เป็นพิเศษ ส่วนฤดูกาลต่อไปคงไม่มีพ่อค้าจากส่วนกลางเข้าไปรับซื้อผลไม้ของชาวสวนในพื้นที่อีกแล้ว ชาวสวนคงต้องนำไปขายกันเอง
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เหมือนกับเหตุการณ์คนร้ายถล่มรถยนต์ของครูชาวนาจาก จ.สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ที่ไปช่วยฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิด และเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าคนร้ายมีอุดมการณ์จริงต้องสู้รบกับคนที่เป็นคู่ต่อสู้"
นายกฯอ๋า ระบุ ก่อเหตุหวังผลความรู้สึก
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา มองว่า เมื่อพิจารณาการก่อเหตุรุนแรงในระยะหลัง สถิติลดลงจริง แต่การลงมือก่อเหตุแต่ละครั้ง ฝ่ายผู้ก่อเหตุเลือกกระทำเฉพาะเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะในแง่ความรู้สึก
"เช่น ยิงครูกลางวงข้าว ไม่ยิงตอนเดินทาง จากนั้นก็ยิงชาวนา ตามติดด้วยเหตุการณ์ยิงพ่อค้ารับซื้อลองกอง ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่ก่อผลทางความรู้สึกซ้ำๆ กับสังคม"
นายพงษ์ศักดิ์ วิเคราะห์อีกว่า รูปแบบการก่อเหตุรุนแรงในระยะหลัง จะกระทำเป็นชุดๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดผลทางความรู้สึกขยายวงกว้าง อย่างเมื่อปลายปีที่แล้วก็เป็นการยิงครูต่อเนื่อง ส่วนตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก็เป็นการพุ่งเป้าผู้ประกอบอาชีพ หรือคนจากนอกพื้นที่ที่เข้ามาค้าขายหรือช่วยเรื่องประกอบอาชีพ ทั้งยิงชาวนาและพ่อค้ารับซื้อลองกอง
รองเลขาฯศอ.บต.เตือนอย่ารุนแรงตอบโต้
นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การสังหารประชาชนจากนอกพื้นที่ 2 เหตุการณ์ติดต่อกัน ทำให้เป้าหมายของการก่อเหตุรุนแรงกว้างขวางมาก วันนี้ไม่ว่าใครก็สามารถตกเป็นเป้าหมายได้ โดยเฉพาะคนจากต่างพื้นที่ หรือต่างศาสนา
นอกจากนั้น การใช้วิธีที่ทารุณโหดร้ายยังต้องการให้เกิดผลทางความรู้สึก ซึ่งฝ่ายรัฐรวมทั้งกลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายถูกกระทำต้องระมัดระวังไม่ให้เกิด การล้างแค้นกันเอง หรือเกิดปรากฏการณ์การใช้ความรุนแรงตอบโต้
"เมื่อไหร่ที่เกิดการล้างแค้นกันเอง กลุ่มผู้ก่อเหตุจะได้กำไร เพราะเขาไม่ได้ทำอะไร แต่ก็เกิดเหตุการณ์ ฉะนั้นถ้าปล่อยให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับ ประชาชนด้วยกันจะยิ่งอันตราย และขอให้ทุกฝ่ายพึงระมัดระวัง"
นายปิยะ กล่าวด้วยว่า จากการระดมความเห็นทุกฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องทำ 3 ประการนี้ให้สำเร็จ คือ 1.ส่งข้าราชการที่ดีที่สุดลงไปทำงาน 2.อย่าทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติ และ 3.มุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐาน โดยเฉพาะความยากจน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง นายพงษ์ศักดิ์ ยิงชนม์เจริญ และ นายปิยะ กิจถาวร