ค้าน ครม.แบ่งเค้ก 3.5 แสนล้าน 6 กลุ่มบริษัทจัดการน้ำ งบไม่โปร่งใส-ทำลายป่า
ชาวสะเอียบแถลงการณ์ค้านมติ ครม.คัด 6 กลุ่มบริษัทจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน กระแสวิจารณ์งบไม่โปร่งใส- โครงการกระทบชุมชนสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านอีเอชไอเอตามรัฐธรรมนูญ
วันที่ 6 ก.พ.56 กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์ต่อต้านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่พิจารณาผู้ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย 6 กลุ่มบริษัทซึ่งประกอบด้วย 31 บริษัทย่อย ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWER CHINA JV 4.กิจการ ร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ 6.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที
โดยกลุ่มราษฎร์รักป่า ระบุว่าแผนจัดการน้ำดังกล่าวมีการหมกเม็ดทำลายป่า อาทิ แผนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง นอกจากจะเป็นการทำลายป่ามหาศาลแล้ว ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และมาตรา 67 วรรค 2 จึงขอวิงวอนให้ยกเลิกการประมูลแผนงานดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้ดำเนินการตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณก้อนนี้ไม่จ่ายทีเดียว ซึ่งปัจจุบันเพิ่งแค่ได้คนมาทำงานแต่ยังไม่เริ่มสร้างหรือทำอะไร แต่ต้องกู้มากองไว้เป็นเหตุให้ต้องเสียดอกเบี้ยต่อปีๆละหมื่นกว่าล้านบาท ในด้านความโปร่งใสของการตรวจสอบโครงการมีน้อยมาก เพราะเคยมีมติครม.ละเว้นระเบียบจัดซื้อจัดจ้างปกติ โดยให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ดูแลเพียงผู้เดียว และผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหลายคนถูกกันออกจากวงประชุม และมีกรแสวิจารณ์ว่าเลือกที่จะฟังผู้รับเหมาและนักการเมืองแค่ไม่กี่คนที่รัฐบาลแต่งตั้งเอง
โครงการนี้ดำเนินการล่าช้ามากว่า 1 ปีและจำต้องกู้มากองให้หมดภายใน มิ.ย.56 นี้ บริษัทที่ได้ก่อสร้างมากอันดับ 1 คือบริษัท "เกาหลีใต้" อันดับ 2 บริษัทอิตาเลียนไทยที่ร่วมลงทุนกับ "จีน" ซึ่ง 2 บริษัทนี้คว้างานไปในอัตราส่วนที่สูงถึง 90% ของงบเงินกู้ทั้งหมด อันดับ 3 คือ บริษัทจาก"ญี่ปุ่น" ขณะที่บริษัทของไทยได้อันดับ 4 ,5 และ 6
นอกจากนี้หลายโครงการขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยังไม่ผ่านกระบวนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ฯลฯ
ก่อนหน้านี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ.แถลงผลการพิจารณาผู้ผ่านการคัดเลือกฯโดยมีกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิดและมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอด้าน เทคนิคและราคาดังนี้
1.การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพิ้นที่ลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก
2.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ปรโยชน์ที่ดินในลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนแลเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย และ ITD POWERCHAINA JA
3.การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทาน เหนือจังหวัดนครสรรค์และเหนือจังหวัดอยุธยา เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กิจการค้าร่วมทีมไทยแลนด์ และ ITD POWERCHAINA JA
4.การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ
5.โครงการการจัดทำทางน้ำหลาก(Floodway) หรือทางผันน้ำ ZFLeeddiversion channel) ขนาดไม่น่อยกว่า1,500 ลบ.มต่อวินาที รวมทั้งการจัดทำทางหลวงระดับประเทศในพร้อมๆกัน แก่ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย และ ITD POWERCHAINA JA
6.การปรับปรุงระบบข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการ กรณีต่างๆในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ และ ITD POWERCHAINA JA
7.การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่ม น้ำ17ลุ่มน้ำ ได้แก่บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย และ ITD POWERCHAINA JA
8.การทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนละเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำ17ลุ่มน้ำ ได้แก่บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กิจการค้าร่วม ซัมมิท เอสยูที และ ITD POWERCHAINA JA
9.การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำได้แก่บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กิจการค้าร่วมญี่ปุ่น-ไทย และ ITD POWERCHAINA JA และ10.ประเภทการปรับปรุงระบบข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ กรณีต่างๆในพื้นที่ลุ่มน้ำ17ลุ่มน้ำ ได้แก่ โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส(เค.วอเตอร์) กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ และ ITD POWERCHAINA JA .
(ล้อมกรอบ)
จดหมายถึง “นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร” “ขอให้ยุติแผนทำลายป่าโดยการสร้างเขื่อน”
ศูนย์ประสานงานชุมชน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120 วันที่ 1 ก.พ.56
เรื่อง ขอให้ยุติแผนการทำลายป่าโดยการสร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) และเขื่อนแม่วงก์
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ 24 บริษัทข้ามชาติ
จากการที่รัฐบาลได้เร่ขายแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ให้กับ 24 บริษัทข้ามชาติ ซึ่งในแผนการจัดการน้ำดังกล่าว ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้ในนั้นด้วย อาทิ แผนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ จะทำลายป่า 41,750 ไร่ แผนการสร้างเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นแยกออกเป็น 2 เขื่อน ก็จะทำลายป่าไม่น้อยไปกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น และแผนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ก็จะทำลายป่า 13,000 ไร่
แผนการจัดการน้ำดังกล่าว ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อันจะนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย และภัยพิบัติ ตามมาอย่างรุนแรงขึ้น ดั่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจุบันปัญหาโลกร้อนคุกคามโลกอย่างต่อเนื่อง จึงควรยุติการทำลายป่าซึ่งเหลืออยู่น้อยมากแล้ว
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาล และ 24 บริษัทข้ามชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาการทำลายป่าและปัญหาโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยกลุ่มราษฎรรักป่าขอเสนอให้รัฐบาลและ 24 บริษัทข้ามชาติ ได้ยุติแผนการทำลายป่า ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ และเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เป็นต้น
หากยังผลักดันการทำลายป่าต่อไป รัฐบาล ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น รัฐบาลนรกสำหรับสิ่งแวดล้อม และ 24 บริษัทข้ามชาติ ก็ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นบริษัท ทำลายป่า ธุรกิจของบริษัทของท่านก็จะถูกประณามและถูกตราหน้าว่าเป็นบริษัทนรกสำหรับสิ่งแวดล้อม เช่นกัน
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ขอเสนอเหตุผลที่ไม่สมควรสร้างเขื่อน และขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน ดังต่อไปนี้
เหตุผล 8 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์
2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก
4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ
5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
6. ผลการศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
7. ผลการศึกษากรมทรัพยากรธรณีชี้ว่าบริเวณจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่
8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น
แนวทางแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ
1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติ
2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะในเมือง สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า
4.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
5.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ
6.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
7.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
8.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม
9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
11.ทบทวนนโยบายส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาล และ 24 บริษัทข้ามชาติ จะได้ตระหนักในปัญหาการทำลายป่า อันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน และยุติการผลักดันแผนหมกเม็ดการทำลายป่า ยุติการประมูล สัมปทานโครงการทำลายป่า ดังกล่าว และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน และแนวทาง 12 ประการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน
(บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนชัย บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น)