'โพลเฟ้อ โพลเชียร์' มีเยอะเกิน นักวิจัย ชี้ ไม่ได้เพิ่มองค์ความรู้ให้สังคม
ผอ.ศูนย์วิจัย มธบ. ชี้ภาวะ "โพลเฟ้อ" มีเยอะ แต่ไม่ให้ความรู้สังคม แนะตั้งคำถามเชิงนโยบายให้มาก เตือน ปชช.ในสังคมปชต.ต้องชี้นำตัวเอง
จากกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำผลสำรวจ (โพล) ที่เกี่ยวกับกระแสการเมือง และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่เผยแพร่แบบรายวัน ว่ามีความโน้มเอียงและชี้นำ โดยเฉพาะกรณีของ "สวนดุสิตโพล" ที่นายมานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนอาวุโส อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต รับไม่ได้กับผลโพลเอาใจนักการเมือง และการรับจ้างจัด 108 เวที แก้รัฐธรรมนูญ 2550 ถึงกับประกาศลาออกจากการเป็นนายกสภาฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2530
ขณะที่รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล ก็ออกมาให้ความเห็นว่า เป็นสิทธิ์ของท่านที่จะมีความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ และตนคงไม่เข้าไปชี้แจง หรือทำความเข้าใจใดๆ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าข่าวที่เกิดขึ้น ไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ หรือความน่าเชื่อถือของสวนดุสิตโพล เพราะทุกอย่างถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่รับจ้างแก่ใครทั้งสิ้น
ต่อกรณีดังกล่าว ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะนักวิจัย เห็นว่า ระยะนี้เป็นช่วง "โพลเฟ้อ" มีเยอะเกินไป แต่ไม่ได้เพิ่มองค์ความรู้หรือประเด็นให้สังคมได้ถกเถียงหรือต่อยอดเกี่ยวกับนโยบายเพิ่มเติม เป็นลักษณะโพลเชียร์ หรือทำขึ้นเพื่อให้รู้ว่าผู้สมัครมีตัวตนอยู่มากกว่า
"ผมอยากเห็นโพลในเชิงนโยบายมากขึ้น คงต้องถอยมาก้าวหนึ่งและถามว่า วันนี้สังคมต้องการข้อมูลแบบไหน อยากจะเห็นอะไร คน กทม.ไม่ได้อยากรู้แค่ใครจะได้ หรือใครคะแนนนำ แต่เขาอยากรู้ว่า ถ้าได้มาแล้วชีวิตเขาจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง ฉะนั้น คำถามน่าจะไปให้ไกลกว่าใครจะได้หรือไม่ได้"
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าสำนักโพลยึดแบบอย่างจากต่างประเทศในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่เบื้องหลังของคนทำโพลที่นั่นเขาก็มองเรื่องนโยบายมาก่อน แต่บ้านเราไม่ได้ปูพื้นตรงนี้เลย ทีมทำโพลน่าจะปูพื้นเรื่องนโยบายและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ มาก่อนด้วย เพราะโพลอาจจะมีผลต่อคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ทั้งนี้ การตั้งคำถามก็เป็นส่วนสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติคนได้ ควรตั้งคำถามว่านโยบายด้านไหนจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวมากกว่าถามว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ
"หน่วยงานทำโพลไม่ควรยุ่งกับการเมืองหรือหากรับงานมาจริงก็ไม่แปลก เพราะคือหน่วยธุรกิจหน่วยหนึ่ง แต่ต้องเปิดเผยแก่สังคมให้ชัดเจนก่อนว่าผลประโยชน์มีอะไรบ้าง เพราะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องความโปร่งใสเป็นเรื่องใหญ่ ที่คนไม่เชื่อถือ เพราะเห็นว่าเป็นโพลรับจ้าง ทั้งที่อาจไม่ได้รับจ้าง แต่เมื่อไม่ทำให้ตัวเองโปร่งใสตั้งแต่แรกก็ทำให้คนเชื่อถือน้อยลง" ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว และว่า สำหรับประชาชนที่ติดตามโพลก็ควรฟังหูไว้หู เพราะในสังคมประชาธิปไตย เราต้องเป็นผู้ชี้นำตัวเอง
"1 คะแนนเสียงจะทำให้สังคมเดินหน้าไปได้ ต้องศึกษาข้อมูลและรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เลือกคนจากความต้องการที่แท้จริง สุดท้ายกระบวนการประชาธิปไตยจะเดินหน้าไปได้และเราจะได้คนดี การดูโพลดูได้แต่อย่าเชื่อ แค่ให้เป็นข้อมูลประกอบ อย่าให้มาชี้นำเรา"
สำหรับข้อร้องเรียนของผู้สมัครฯ ขอให้การระงับการทำโพลในช่วงเลือกตั้งนั้น ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ตนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในมุมที่เห็นด้วยคิดว่าจะมีการหาประโยชน์จริง ทั้งทำมาอย่างถูกต้องหรือไม่ก็ตาม มีการชิงกระแสและทำให้คนไม่ได้เลือกด้วยเหตุด้วยผลทั้งหมด แต่มีอารมณ์มาเจือปน อีกแง่หนึ่งหากมีเป็นตัวกระตุ้นกระแสการเลือกตั้งก็จะคึกคักขึ้น
ด้านน.ส.ปวริศา เรืองพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน "นิด้าโพล" กล่าวว่า ตามแนววิชาการแล้วการสำรวจโพล คือสำรวจความคิดเห็นที่จะใช้หลักสถิติในการตอบแบบสอบถาม หรือประมวลผลข้อมูล โดยใช้กลุ่มตัวอย่างแทนจำนวนประชากร ซึ่งแค่ความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่นำมาใช้เปรียบเทียบตามหลักสถิติ
หากจะถามว่าสำนักโพลชี้นำหรือไม่นั้น น.ส.ปวริศา บอกว่าอยู่ที่วิธีการดูโพล ประชาชนจะต้องดูวันที่สำรวจเก็บข้อมูล จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่นำมาแทนประชากร และคำถามที่ใช้ว่าเป็นอย่างไร อยากให้ประชาชนรู้เท่าทันโพลและใช้วิจารณญาณในการดูด้วย จะไม่เกิดคำถามเรื่องการชี้นำหากเข้าใจว่าโพลคืออะไรและใช้ข้อมูลอะไรจากโพลได้บ้าง
"การตั้งคำถามมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำโพลและทำวิจัย หากเป็นคำถามปลายเปิดคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นปลายปิด มีคำตอบจำนวนหนึ่งแบบบังคับเลือกก็ถือว่าเป็นการชี้นำแล้ว ยอมรับว่าเป็นปัญหาหนึ่งในการทำโพลและการวิจัยในปัจจุบัน ทั้งที่ ทุกสำนักรู้อยู่แล้วว่าคำถามจะชี้นำไม่ได้ ต้องมีการทดสอบแบบสอดถามก่อนว่าชี้นำหรือไม่ เพราะจะมีผลทำให้ผลให้ไม่น่าเชื่อถือ เน้นย้ำให้ดูคำถามเป็นหลัก หากคำถามชี้นำ โพลนั้นก็ไม่ถูกต้องตามหลัก"
อย่างไรก็ตาม น.ส.ปวริศา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทุกสำนักฯ ยังไม่อยู่ในขั้นวิกฤติขาดความเชื่อถือ เนื่องจากทุกสำนักยังยึดตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ หากจะมีข้อบังคับทางกฎหมายไม่ให้ทำโพลในช่วงการเลือกตั้งก็เคารพกฎหมายนั้น แต่เชื่อว่ามี 2 แง่ ทั้งช่วยให้ผู้สมัครรู้ว่าประชาชนชอบใคร ตนเองต้องหาเสียงเพิ่มหรือไม่และประชานก็ได้รู้จักผู้สมัครมากขึ้นด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รับไม่ได้ผลโพล "มานิจ สุขสมจิตร" ทิ้งเก้าอี้นายกสภา มรภ.สวนดุสิต
เปิดงบฯ"รับจ๊อบ"มรภ.สวนดุสิต 42 ครั้ง 141.8 ล้าน