มีเดียมอนิเตอร์พบสื่อ นสพ.ยัง “ไม่เต็มที่” กับข่าวเพื่อผู้บริโภค
สำรวจหนังสือพิมพ์-เว็บไซต์กระแสหลักเชิงธุรกิจ 6 ฉบับ พบภาพรวม ASTV ผู้จัดการลงข่าวเพื่อผู้บริโภคมากที่สุด ส่วนฉบับอื่น ๆ ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่เรื่องผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นเรื่องใกล้ตัว มีผลกระทบต่อทุกคน ด้านเครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยกขบวนถึงหน้ารัฐสภา จี้ ส.ส.-ส.ว.เห็นใจประชาชน เห็นชอบร่างกฎหมาย
(วานนี้) ที่ห้องประชุม 1001 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ Thai Civic Education มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค จัดการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “ความเป็นพลเมืองในสื่อหนังสือพิมพ์ : กรณีการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึง บทบาทสื่อกับการพัฒนาความเป็นพลเมืองว่า สำหรับการศึกษาครั้งนี้ รูปธรรมของความเป็นพลเมืองที่ศึกษาคือ สิทธิประชาชนในฐานะผู้บริโภค ซึ่งระบุในมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ “สิทธิของประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค...” โดยให้มีองค์การอิสระมาทำหน้าที่เพื่อให้สิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่เวลาผ่านมาถึง 15 ปีแล้ว ก็ยังไม่สามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้
ดร.เอื้อจิต กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงเวลาที่เลือกทำการศึกษาเรื่อง “ความเป็นพลเมืองในสื่อหนังสือพิมพ์ : กรณีการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” มี 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม - 8 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เครือข่ายผู้บริโภค ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.นี้ เข้าสู่สภาภายใน 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
และ ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 5 กันยายน - 15 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นช่วง 70 วันแรกของการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมาย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... โดยทำการศึกษาจากข่าวที่ค้นหาจากเว็บไซต์รวมข่าวจากหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ คือ ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ และ ASTV ผู้จัดการ
ผลการศึกษา พบว่า
1.จำนวนข่าว จำนวนข่าวในช่วงที่มีการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.เข้าสภา มีจำนวนมากกว่าช่วงประมาณ 70 วัน ของการทำงานของคณะกรรมาธิการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ASTV ผู้จัดการ นำเสนอข่าวมากที่สุด 8 ชิ้นรองลงมาเป็นมติชน 5 ชิ้น โพสต์ทูเดย์ ( 4 ชิ้น และ เดลินิวส์ กับ กรุงเทพธุรกิจ มีจำนวนเท่ากัน 2 ชิ้น
2.วิธีการนำเสนอ พบว่า ข่าวทั้งหมดเน้นการรายงานข่าวลักษณะ 5W1H โดย ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนข่าวมากที่สุด 8 ชิ้น รองลงมาคือมติชน 5 ชิ้น โพสต์ทูเดย์4 ชิ้น ในขณะที่เดลินิวส์และกรุงเทพธุรกิจมีจำนวนข่าวเท่ากัน 2 ชิ้น
ในการนำเสนอสาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ASTV ผู้จัดการมีจำนวนมากที่สุด 5 ชิ้น รองลงมาเป็นมติชน 2 ชิ้น ในขณะที่เดลินิวส์และโพสต์ทูเดย์นำเสนอเท่ากัน 1 ชิ้น
สำหรับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญหรือประโยชน์ของ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนมากที่สุด 3 ชิ้น รองลงมาเป็นโพสต์ทูเดย์ 2 ชิ้น ในขณะที่มติชนและกรุงเทพธุรกิจนำเสนอเท่ากัน 1 ชิ้น
ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใด นำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนขบวนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. ในขณะที่ ไทยรัฐ ไม่นำเสนอเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับเรื่อง (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 บุกสภา จี้ ส.ส.เห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ก.พ.) เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กว่า 300 คน ร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์ ปั่นจักรยานทวงสิทธิและเดินชูป้ายเรียกร้อง โดยเริ่มตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้ามาจนถึงบริเวณหน้ารัฐสภา
แกนนำของเครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 กล่าวชี้แจงว่า การผลักดันกฎหมายมาตรา 61 เพื่อจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นับจากวันที่เริ่มมีการล่ารายชื่อประชาชนกว่า 50,000 รายชื่อ เมื่อปี 2542 เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้น มาจนถึงบัดนี้นับเป็นเวลากว่า 15 ปี บัดนี้ ร่างกฎหมายได้ผ่านการพิจารณาของ 'กรรมาธิการร่วมสองสภา' เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 และจะเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการทำกฎหมาย ว่าจะผ่านหรืออาจจะตกไป เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา และหากเป็นแบบนั้นก็ ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งเรื่องนี้กันใหม่
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากสองสภาเห็นชอบ (รับ) กฎหมายฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศได้เลย แต่หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ กฎหมายฉบับนี้ก็ตกไป หรือหากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแต่วุฒิสภาไม่เห็นชอบ วุฒิสภาจะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติคืนให้สภาผู้แทนราษฎร และนำร่างกฎหมายองค์การอิสระนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน และถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ ให้ถือว่าร่าง พ.ร.บ.ได้รับความเห็นชอบ
"ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกลไกใหม่ที่เป็นความหวังของผู้บริโภค ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น สภาที่ถือว่าเป็นผู้แทนของประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็ควรจะทำหน้าที่เพื่อผู้บริโภคบ้าง จะเป็นไรไป แทนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของนักธุรกิจ" น.ส.สารีกล่าว
__________________________________
ภาพชุด เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปั่นจักรยานทวงสิทธฺิ
(ภาพถ่ายโดย: เสกสรร โรจนเมธากุล)