ชี้อุ้มนักพัฒนาแมกไซไซ "สมบัด สมพอน"สะท้อนปัญหาสิทธิชุมชน
คนลุ่มน้ำโขงชี้อุ้มนักพัฒนาแมกไซไซ‘สมบัด สมพอน’ สะท้อนความรุนแรงแย่งชิงทรัพยากร รัฐ-ทุน-สิทธิชุมชน ยกกรณีเขื่อนปากมูล-ไซยะบุีรี โรงไฟฟ้าบ่อนอก-จะนะ
วันที่ 5 ก.พ. 56 ที่ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล จัดเสวนา ‘มองไปไกลกว่ากรณีสมบัด สมพอน:ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขง-ผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว’ ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสของประเทศลาว และเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมร่วมพัฒนา เพื่อช่วยเหลือด้านการพัฒนาสังคมและการศึกษา อีกทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ปี 48 จนได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของอาเซียน ได้หายตัวไปเมื่อ 15 ธ.ค. 55 กลางกรุงเวียงจันทร์ ขณะขับรถจากที่ทำงานกลับบ้าน ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน
โดยมีกิจกรรมการแสดงบทเพลงเพื่อสันติภาพข้ามพรมแดน นำเสนอภาพการเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเร่งติดตามค้นหานายสมบัด สมพอน ร่วมทำสัญลักษณ์เพื่อสันติภาพเพื่อเป็นกำลังใจให้เยาวชนในลาวต่อต้านการใช้ความรุนแรง พร้อมอ่านสารแด่กลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง จาก เง็ก ชุย เมง ภรรยาของนายสมบัด ใจความตอนหนึ่งว่า งานแสดงดนตรีและงานเสวนาของพวกเธอในประเด็นความยุติธรรม ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า งานของลุงบัดและความศรัทธาในเยาวชนของเขาไม่ได้สูญเปล่า พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่า พวกเธอเข้าใจความสำคัญของสันติภาพ และความสำคัญของความรัก ความห่วงใย และความยุติธรรม พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่าเธอมีหัวใจ ลุงบัดจะต้องภูมิใจในตัวเธออย่างแน่นอน และฉันก็ภูมิใจในตัวเธอเช่นกัน ลุงบัดจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอและคนหนุ่มสาวอีกนับล้านคน ที่จะนำพาหนทางทำให้ครอบครัวของเธอ ชุมชนของเธอ ครอบครัวของเธอ และโลกของเธอดีขึ้น เพื่อตัวเองและเพื่อลูกหลานในอนาคตของเธอด้วย
นายอนุวัฒน์ พรหมมา โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียนมิได้เกิดอยู่เฉพาะระดับประเทศเท่านั้น แต่ปัจจุบันความรุนแรงเหล่านั้นได้ปรากฏในระดับชุมชนมากขึ้น เพราะภาครัฐและกลุ่มทุนมีแนวคิดว่ากฎหมายได้ให้อำนาจในการใช้ความรุนแรงเหนือพลเมืองอย่างชอบธรรม เช่น กรณีการสร้างเขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้าบ่อนอก หรือลำน้ำพอง ทำให้เกิดการลักพาตัว จับกุมดำเนินคดี หรือลอบสังหาร ตามมา ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้านทุกภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เยาวชนรุ่นใหม่ต่างหันมาให้ความสำคัญเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชนมากขึ้น โดยการรวมตัวตั้งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค และตั้งพรรคการเมือง ‘สามัญชน’ ขึ้น เพื่อสานงานต่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม แต่ยังคงพบว่าความรุนแรงดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งเรื่องการจัดการฐานทรัพยากรในชุมชนระหว่างภาครัฐกับประชาชน ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการ ไม่เพียงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เท่านั้น
น.ส.นวพร ศุภวิทย์กุล ผู้แทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงถูกพัฒนาจากภาครัฐและกลุ่มทุนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนท้องถิ่น ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจเพียงการละเมิดสิทธิจะเกิดในภาวะสงครามเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ฉะนั้นหากต้องการให้สังคมได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีสันติภาพ ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนในชาติตามที่เคยลงนามความร่วมมือในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง
Thi Anh Thu Nguyen จากประเทศเวียดนาม นักศึกษาปริญญาโท สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ในเวียดนามจะไม่มีการลักพาตัวหรือใช้ความรุนแรงเหมือนกรณีนายสมบัด แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ในประเทศลาวจะไม่ส่งผลถึงประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ควรปลุกพลังเยาวชนให้ตื่นตัวต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนในชาติ โดยใช้วิธีแบบสันติ อย่างไรก็ตาม ทราบดีว่าหลายคนยังเกิดความหวาดกลัวอำนาจมืด แต่หากมีการรวมตัวกัน และยืนหยัดที่จะดำเนินการต่อไป เชื่อมั่นว่าหลักสันติวิธีจะส่งผลดีได้ในอนาคต
Zau Lawt จากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า นักศึกษาปริญญาโท สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่พม่าประกาศนำชาติเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ยังคงเกิดความรุนแรงในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยอยู่ โดยเฉพาะรัฐคะฉิ่น ซึ่งต่อต้านการทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากภาครัฐและกลุ่มทุน เพราะขณะนี้มีบริษัทข้ามชาติ เช่น จีน เข้ามาลงทุนในพม่า ลาว กัมพูชา จนคาดว่าอนาคตทรัพยากรที่เคยมีมากอาจลดปริมาณลงได้ นอกจากนี้นโยบายการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจะทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี ตั้งข้อสังเกตว่า การหายตัวไปของนายสมบัด ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของลาวนั้น อาจขัดแย้งผลประโยชน์เรื่องสิทธิที่ดินทำกินของคนท้องถิ่นกับกลุ่มทุนและภาครัฐ จนเป็นสาเหตุของการถูกลักพาตัวได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง.