“หมอประเวศ” ย้ำชัดไม่ชอบปฏิรูปได้ แต่อย่าเป็นศัตรูกับการลดความเหลื่อมล้ำ
ระดมความเห็นสื่อรับไม้ต่อปฏิรูปประเทศ สื่อใหญ่สะท้อนปัญหาขาดองค์ความรู้ จี้ควรทบทวนตัวเอง ตระหนักรู้ต่อหน้าที่ ใช้ทีวีดิจิทัล เปิดภูมิทัศน์ใหม่สร้างสื่อดีแก่สังคม
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย และสถาบันอิศรา จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "สื่อมวลชนกับการปฏิรูปประเทศไทย" (ส่วนกลาง) ณ ห้องดวงกมล โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และสื่อมวลชนอาวุโส อาทิ น.ส.ดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายเทพชัย หย่อง กรรมการบริหารเครือเนชั่น และอดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และนายประกิต หลิมสกุล คอลัมนิสต์ น.ส.พ.ไทยรัฐ (กิเลน ประลองเชิง) ฯลฯ เข้าร่วมระดมความเห็น
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การสื่อสารและเทคโนโลยีต่างๆ ช่วยให้คนเชื่อมต่อกันง่าย แม่นยำ มีประโยชน์และมีเสน่ห์ ช่วยเคลื่อนเรื่องยากๆ ในสังคมได้ ทั้งนี้ การสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร เป็นส่วนที่ทำให้เกิดบูรณภาพและดุลยภาพของประเทศ จะโยงทุกปัญหาเข้าด้วยกัน หากอยากเห็นสังคมมีความเป็นปกติสุขต้องลงทุนเรื่องข้อมูลข่าวสารและการศึกษาให้รู้เท่ากันทั้งสังคม ไม่เล่นเรื่องการเมือง เพราะการต่อสู้เรื่องการเมืองไม่ได้ยั่งยืนและไม่มีผลชัดเจน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงการจะเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศ ต้องสางเรื่องโครงสร้างอำนาจ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ไม่ได้เปลี่ยน เปลี่ยนแต่ตัวบุคคล ซึ่งอำนาจรวมศูนย์ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ เกิดความขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระบบราชการอ่อนแอ แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ จนกลายเป็นรัฐล้มเหลว คอร์รัปชั่นสูงและทำรัฐประหารได้ง่าย ฉะนั้น ปฏิรูปประเทศไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับสังคมไทย ที่มักจะคิดแต่เรื่องดีชั่ว ส่วนบุคคล ชาติพันธุ์ ทั้งที่โครงสร้างอำนาจเป็นเครื่องกำหนดคุณสมบัติในสังคม ปัญหาต่างๆ จึงวนเวียนอยู่
"สังคมและสื่อมวลชนอาจไม่ต้องชอบ หรือเห็นด้วยกับสมัชชาปฏิรูปก็ได้ หากเห็นว่า เริ่มต้นมาจากรัฐบาลที่แล้ว แต่ไม่ควรเป็นศัตรูกับการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ อยากฝากให้ติดตามเรื่องความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ เรื่องโครงสร้างอำนาจและสร้างความเข้าใจแก่สังคมให้มากขึ้น"
จากนั้นในเวทีเปิดให้สื่อแสดงความคิดเห็น โดยน.ส.ดวงกมล กล่าวว่า ตั้งแต่แรกเริ่มการขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน สื่อให้ความสนใจกับเรื่องปฏิรูปประเทศน้อยลงเรื่อยๆ ฉะนั้น การขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปต่อจากนี้ควรที่จะพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่จำนวนมากให้กระจายตัวไปในวงกว้างโดยอาศัยทั้งสื่อหลัก สื่อสาธารณะ และโซเชียลมีเดีย และเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับทีวีดิจิทัล ซึ่งจะเป็น "ภูมิทัศน์ใหม่" (media landscape) ที่เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นและทุกระดับ อีกทั้งมีราคาถูกลง ทั้งนี้ ประเด็นและเนื้อหาจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานปฏิรูปในแบบการรวมกลุ่มตามธรรมชาติ
"สมัชชาปฏิรูปควรขับเคลื่อนอย่างมีการเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรม มากกว่าแค่เรื่องขององค์ความรู้ เช่น เคลื่อนไหวต่อเนื่องและขยายผลในบางประเด็น จะทำให้สื่อเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความสนใจมากขึ้น ในขณะที่ตัวสื่อเองก็ต้องทบทวนหน้าที่และการทำงานของตนเองว่า ยังทำงานรับใช้ศูนย์อำนาจอยู่หรือไม่"
ด้านนายเทพชัย กล่าวว่า สื่อต้องมีบทบาทให้สังคมเกิดความตื่นตัวและรู้เท่าทันประเด็นต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะประเด็นต่างๆ ของการปฏิรูปประเทศล้วนเป็นประเด็นที่สื่อติดตามอยู่แล้ว แต่สื่อจะมีมุมมองและรายงานข่าวในประเด็นต่างๆ เหล่านั้นให้คนเข้าใจได้จริงแค่ไหน สื่อต้องทบทวนบทบาทของตนเองว่านำเสนอแต่เรื่องของความเห็นนั้นเพียงพอหรือไม่
"สื่อใหม่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนในสังคมสามารถมีความเห็นได้ จึงเกิด ความอื้ออึงของเสียงสนทนาในโลกสื่อใหม่ และสื่อกระแสหลักก็มีเสียงเบากว่าเสียงอื้ออึงเหล่านั้น จึงมีความจำเป็นที่สื่อต้องเปลี่ยนวิธีคิด หยิบเรื่องที่มีความหมายต่อสังคม ให้สังคมตื่นตัว รู้เท่าทัน เห็นคุณค่าและลุกขึ้นร่วมผลักดัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ควรทำเรื่องปฏิรูปให้เข้าถึงโดยหารูปแบบและช่องทางที่เหมาะสมจะเป็นพลังสำคัญได้"
ส่วนนายก่อเขต กล่าวว่า คนทำสื่อทั้งเจ้าของสื่อ บรรณาธิการและนักข่าวมีความจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของการปฏิรูปประเทศอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปคือทางรอดของประเทศ และเป็นสิ่งสำคัญ ถึงจะสร้างความเชื่อของผู้รับสื่อได้ ฉะนั้น เห็นว่า ทั้งองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพต้องสร้างความเข้มแข็งในเชิงเนื้อหาด้านปฏิรูปประเทศ และสร้างความเชื่อ ความตระหนักและองค์ความรู้แก่นักข่าวภาคสนามให้เกิดขึ้นให้ได้เป็นอันดับแรก
ขณะที่นายประกิต กล่าวว่า หากต้องการเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ ต้องปฏิรูปการศึกษา ให้ความรู้ทางปัญญาแก่นักข่าวใหม่ๆ ให้มีชุดความคิดที่ตระหนักรู้ต่อหน้าที่และรับผิดชอบต่อผู้ยากไร้ในสังคมมากกว่ารับใช้กลุ่มทุน มีความฉลาดแหลมคม รวมทั้งผลิตข่าวสารที่มีเสน่ห์ คือมีประเด็นที่น่าสนใจ เฉียบแหลม และให้ประโยชน์แก่สังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา