ปลอดประสพ เคาะแล้ว 6 กลุ่มบริษัทร่วมประมูลจัดการน้ำ 3 แสนล้าน
ปลอดประสพ เผยชื่อ 6 กลุ่มบริษัท ผ่านชิงเค้กประมูลจัดการน้ำ ส่งไม้ต่อ "ธงทอง" พิจารณาการออกแบบ คาดเบิกจ่ายทัน เม.ย.
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก กรอบแนวคิด เพื่อออกแบบและก่อสร้าง ระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศว่า กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา ได้แก่
1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์เปอร์เรชั่น (เค วอเตอร์)
2.กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย
3. ITD-POWERCHAINA JV
4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์
5.กลุ่มบริษัทร่วมค้า ล็อกซเลย์
6.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที
ทั้งนี้กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิดและมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา จำนวน 6 กลุ่มบริษัทดังกล่าว จะประกอบด้วย 31 บริษัท ซึ่งใน 31 บริษัท เป็นบริษัทของไทย 16 บริษัท และเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งและทำงานอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปี อีกจำนวน 3 บริษัท ซึ่งก็หมายความว่าเป็นบริษัทไทย 19 บริษัท ในจำนวน 31 บริษัท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 65 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นผลการพิจารณาครั้งนี้ บริษัทที่จะได้มีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาจึงเป็นบริษัทของคนไทย ซึ่งไม่ใช่บริษัทต่างชาติอย่างที่มีหลายฝ่ายการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินการดังกล่าว
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า จากนี้ไปจะเป็นขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยจะออกหลักเกณฑ์สำหรับ การก่อสร้าง แบ่งเป็นซองประกวดประมูล 3 ซอง ได้แก่ ซองเทคนิค ราคา และระยะเวลา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ ซึ่งตนและฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งหรือร่วมดำเนินการ จะมีคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และแต่งตั้งอนุกรรมการอีกอย่างน้อย 10 ชุด เพื่อพิจารณาการออกแบบต่อไป ทั้งนี้ ทั้ง 6 กลุ่มบริษัทจะต้องเสนอราคา เทคนิคต่างๆ ให้เป็นไปตามระเบียบของการประมูล และหลังจากนี้ก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะเริ่มเซ็นสัญญา และเบิกจ่ายเงินได้ภายในเดือนเมษายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า แหล่งข่าวในกลุ่มบริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ ให้ข้อมูลว่า ได้รับแจ้งว่าเอกสารยังไม่ครบและยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อการคัดเลือกได้อีกครั้งหนึ่ง
8 กลุ่มบริษัทที่เสนอกรอบแนวคิดดังกล่าวเข้ามา ก่อนหน้านี้มีดังนี้
1.Module A1: การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย (3) ITD-POWERCHINA JV
2. Module A2: การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย (3) ITD-POWERCHINA JV
3. Module A3: การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือจังหวัดนครสวรรค์และเหนือจังหวัดอยุธยาเพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการค้าร่วม ทีมไทยแลนด์ (3) ITD-POWERCHINA JV
4. Module A4: การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย (3) ITD-POWERCHINA JV
5. Module A5: การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และ/หรือ ทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ) ไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย (3) ITD-POWERCHINA JV
6. Module A6: การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งบริหารจัดการน้ำ กรณีต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ (3) ITD-POWERCHINA JV
7. Module B1: การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย (3) ITD-POWERCHINA JV
8. Module B2: การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที (3) ITD-POWERCHINA JV
9. Module B3: การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย (3) ITD-POWERCHINA JV
และ10. Module B4: การปรับปรุงคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ กรณีต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ได้แก่ (1) บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) (2) กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ (3) ITD-POWERCHINA JV