เปิดสมุดพก นายกฯปู ติดโผ ส.ส. ที่มีสถิติเข้าประชุมต่ำกว่า 75%
เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยเปิดสมุดพกนักการเมือง '54-'55 พบมีโดดประชุม-ไม่ลงคะแนนเสียง มี "ยิ่งลักษณ์" ติดโผด้วย "ดร.จรัส" จี้กวดขันวินัย ทำงานให้คุ้มเงินเดือน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย และเว็บไซต์ www.tpd.in.th ได้จัดทำ และเปิดตัว "สมุดพกนักการเมือง '54-'55" ณ อาคารศศนิเวศ ศศินทร์ เพื่อนำเสนอข้อมูลการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 19 มิถุนายน 2555 โดยมี ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ผู้จัดการเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย นำเสนอ ซึ่งข้อมูลโดยรวมเป็นสถิติการเข้าประชุม และขาดประชุมสภาฯ การเสนอกระทู้ ญัตติ และการลงมติ-ไม่ลงมติของ ส.ส. และ ส.ว.
ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า จากการรวมรวบข้อมูลการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. พบว่า ในรอบปี 2554-2555 มี ส.ส. เข้าประชุมมากขึ้น ส.ส. เข้าประชุมสูงกว่าร้อยละ 95 ถึง 334 คน (ร้อยละ 68) ส.ส. 140 คน (ร้อยละ 28 ) เข้าประชุมครบทุกครั้ง ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2554-55 (สภาที่แล้ว) ที่เข้าประชุมเฉลี่ยร้อยละ 95 มี ส.ส. ออกเสียงลงมติมากขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 74 ดีกว่าปี 2554-55 (สภาที่แล้ว) และมี ส.ส. ออกเสียงลงมติมากกว่าร้อยละ 90 ถึง 211 คน ส.ส. ออกเสียงลงมติต่ำกว่าร้อยละ 50 ถึง 95 คน (ร้อยละ 20) ส.ส. 19 คน (ร้อยละ 4 ) ออกเสียงลงมติต่ำกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25
โดยที่ค่าเฉลี่ยการออกเสียงลงมติ ส.ส. ทั้ง สภา ร้อยละ 74 ค่าเฉลี่ย ส.ส. พรรคฝ่ายรัฐบาล ร้อยละ 88 ค่าเฉลี่ย ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 58 ซึ่งพบว่า พรรคขนาดใหญ่จะมีบทบาทนำในการเสนอร่างกฎหมาย ญัตติหรือกระทู้ต่างๆ ส่วนพรรคเล็กแทบไม่มีบทบาทในสภาและไม่ค่อยได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านนิติบัญญัติหรือการตรวจสอบรัฐบาล
ศ.ดร.จรัส กล่าวถึงการประเมินว่า ส.ส. หรือ ส.ว. คนใดสอบได้-สอบตก หรือ "ให้ดาว" ด้วยว่า ยึดจากสถิติการเข้าประชุมสภาฯ การออกเสียงลงมติเรื่องพิจารณาต่างๆ พบว่า มี ส.ส. ระดับ 5 ดาว (ได้คะแนนดี) ถึง 228 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด และมี ส.ส. ที่ไม่ได้ดาวเลย จำนวน 7 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด
"การทำงานและจริยธรรมของ ส.ส. ปีที่ผ่านมา ทำงานด้วยความตั้งใจดีขึ้นกว่าสภาชุดที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องไปยัง ส.ส. หลายคนที่ยังมีสถิติการเข้าประชุมสภาฯ ต่ำ ให้มีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชน ให้คุ้มค่ากับความไว้วางใจของประชาชน และคุ้มกับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ประชาชนต้องจ่ายให้" ศ.ดร.จรัส กล่าว และว่า ส.ส. แต่ละคนมีเงินเดือนท่านละ 634,394.70 บาท คิดเป็นวันละ 20,856.79 บาท และเท่ากับปีละ 7,340,000 บาท
"ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองกวดขันวินัย ส.ส. ในพรรค ให้มีวินัยในการเข้าประชุม โดยเฉพาะ ส.ส. ที่มีสถิติเข้าประชุมต่ำ หรือมีสถิติเข้าประชุมสูง แต่ลงมติน้อย เพราะไม่อยู่ในห้องประชุม (โดดประชุม) หรือไม่แสดงตน เมื่อมีการโหวตลงคะแนน ถ้าไม่ดีขึ้น เลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ควรส่งลงสมัคร เช่นเดียวกับ ส.ส. ที่ลาป่วยนานๆ เข้าประชุมไม่ได้ ส.ส. ควรพิจารณาตัวเอง เนื่องจากไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่พร้อมกว่าได้เข้ามาทำงาน รวมทั้งให้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ให้ตรวจสุขภาพผู้ลงสมัครทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย"
ศ.ดร.จรัส กล่าวด้วยว่า ไม่สนับสนุน การใช้ "แทคติก" ไม่เข้าร่วมลงมติ และไม่แสดงตนฯ ของทั้งพรรคฝ่านค้าน และฝ่ายรัฐบาลที่ใช้เพื่อการต่อรองกันเอง โดยขอให้พรรคการเมืองทุกพรรค และ ส.ส. ใช้การประชุมสภาเป็นเวทีต่อสู้ในทางการเมือง หากไม่เห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมาย หรือญัตติใดๆ ต้องอธิบายให้สาธารณชนทราบถึงจุดยืน
ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภานั้น ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า ไม่มีสถิติการเข้าประชุม เนื่องจากวุฒิสภาไม่เปิดเผยบนเว็บไซต์ ทั้งนี้ มี ส.ว. ออกเสียงลงมติเฉลี่ยร้อยละ 62 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการออกเสียงลงมติของ ส.ส. ในรอบปีเดียวกันอยู่ร้อยละ 12 ออกเสียงลงมติสูงกว่าร้อยละ 70 จำนวน 46 คน (ร้อยละ 31) ส.ว. ที่ออกเสียงลงมติครบทุกครั้ง เพียง 1 คน (ร้อยละ 0.7) ออกเสียงลงมติต่ำกว่าร้อยละ 50 จำนวน 32 คน (ร้อยละ 21) จึงมี ส.ว. ระดับ 5 ดาว (ได้คะแนนดี) เพียง 4 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด และมี ส.ว. ที่ไม่ได้ดาวเลย จำนวน 32 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด
สำหรับกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีรายชื่อติดอันดับทั้ง ส.ส. ที่มีสถิติการเข้าประชุมต่ำกว่าร้อยละ 75 ส.ส. ที่มีสถิติการออกเสียงลงมติต่ำกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25 และ ส.ส. ที่มีสถิติเข้าประชุมสูง แต่ลงมติต่ำ เช่นเดียวกับ ส.ส. ที่มีตำแหน่งถาวรรายอื่นๆ ว่า แม้จะเป็นปกติที่เข้าประชุมสภาฯ ได้น้อย เนื่องจากมีภารกิจหลักต้องปฏิบัติ แต่ถ้าไม่เข้าประชุมเลยคงมีปัญหา ทั้งนี้ มีผู้ที่ใช้ตำแหน่งเพื่อไม่เข้าประชุมสภาฯ มากเกินไป เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญและเข้าประชุมสภาฯ ให้มากกว่าที่ผ่านมา