ประชาสังคม 4 จว.อีสานบน ถกประเด็น “รากหญ้าได้บวกหรือติดลบรับอาเซียน”
ประชาคมอาเซียน รากหญ้าได้บวกหรือติดลบ? กระจายที่ดิน สร้างหลักประกันภาคเกษตรได้ไหม? ข้ามพ้นอุปสรรคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนชุมชน-ประเทศได้อย่างไร?...คนอีสานเหนือ 4 จังหวัดร่วมค้นหาพลัง
เร็วๆนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคอิสานตอนบน โซนตะวันออก หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู และจ.เลย ประชุมหารือการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคม
ประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอิสาน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจ.เลย ประชาสังคมจ.เลย เครือข่ายอนุรักษ์ป่าภูหินเหล็กไฟ จ.เลย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอิสาน สภาองค์กรชุมชนจ.อุดรธานี เครือข่ายพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต จ.อุดรธานี ประชาสังคม จ.อุดรธานี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ จ.อุดรธานี ขบวนสื่อจ.อุดรธานี สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน กลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุข มหาลัยราชภัฏอุดรธานี สถาบันพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันส่งเสริมศักยภาพชุมชน สหพันธ์เยาวชนอิสาน มูลนิธิบ้านนิจจานุเคราะห์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
ดร.อรุณศรี อื้อศรีวงศ์ คณะทำงานประชาสังคมภาคอีสานตอนบน กล่าวว่าวันนี้บ้านเมืองกำลังมีความเปลี่ยนแปลงที่จะมากระทบกับพี่น้องในภาคอิสานตอนบน จึงต้องเตรียมตัวเตรียมคน พัฒนาเครื่องมือขับเคลื่อน เปลี่ยนวิธีคิดเปิดหัวใจค้นหาทางเดินไปข้างหน้าร่วมกัน เวทีครั้งนี้เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์รอบนอกก่อนเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 และร่วมกันทบทวนบทบาทภาคประชาสังคมที่ผ่านมา วิเคราะห์ฐานทรัพยากร ปัญหาและความเหลื่อมล้ำและแนวโน้ม กำหนดประเด็นหรือพื้นที่กลางที่จะเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมให้เกิดรูปธรรม มุ่งสร้างประชาสังคมโมเดลอิสานตอนบน หนุนขบวนองค์กรชุมชนให้เกิดความเท่าทัน สร้างความร่วมมือเป็นภาคีหุ้นส่วนในระดับภาคและจังหวัด รวมถึงการเชื่อมกับภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป
ประชาคมอาเซียนมา คนรากหญ้าได้บวกหรือติดลบ?
อ.ชุมพล เลิศรัฐการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ม.ราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่าแนวคิดการรวมประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นตั้งแต่สมัย อ.ปรีดี พนมยงค์ ในช่วงที่โลกยังคงอยู่ในยุคสงครามเย็น ประกอบกับการมีปฏิญญากรุงเทพที่คำนึงถึงผลประโยชน์และการสร้างความเข้มแข็งร่วมมือในภูมิภาคเพื่อสันติภาพ จึงก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาความร่วมมือเรื่อยมานับจาก คศ.1967 จนประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียน คศ.2003 และมีความชัดเจนยิ่งขึ้นจากการประชุมที่เซบู ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2007 ที่อาเซียนจะร่วมมือกันใน 3ด้านคือ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
AEC จะเข้ามากระทบกับประเทศไทยทั้งด้านบวกและลบ เราควรเตรียมความพร้อมด้านการค้าการลงทุน และด้านบริการ รวมถึงเตรียมความพร้อมของทรัพยากรบุคคล ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน แต่หากลองย้อนมองการพัฒนาที่มุ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขจีดีพี รายได้ประชาชาติไม่เคยคิดเรื่องความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ คน 20 % เป็นเจ้าของทรัพย์สินรายได้ 80% กลับกัน คน 80% เป็นเจ้าของ 20% เมื่ออาเซียนเข้ามาคนรากหญ้าจะเป็นอย่างไร อาจมีการผันตัวออกจากภาคเกษตร ต้องเตรียมตัวออกไปสู่ภาคบริการหรือออกไปต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่เดิมแล้วอาจเพิ่มมากขึ้น ประชากรเกษตรต้องรีบหาทางออก
และเส้นทางคมนาคม East west Corridors จะส่งผลกระทบ ซึ่งขณะนี้กำลังกระทบอย่างถนนที่จะผ่านหน้า ม.เกษตรศาสตร์ ที่จะมีถนนยกระดับความสูง 30 เมตร และที่อื่นๆที่ถนนตัดผ่านด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นผลกระทบรูปธรรมที่เกิดจากโครงการด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และโครงการอื่นๆ อย่างแม่โขงคอมมิสชั่น ACMECS 2003 ที่จะเชื่อมการพัฒนาใน 3 ลุ่มน้ำ (อิรวดี เจ้าพระยา แม่น้ำโขง) โครงการทวายที่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุดแหลมฉบังนับ 10เท่า สิ่งแวดล้อมจะกระทบ คนจะพลัดที่นาพาที่อยู่ ในทางกลับกันทวายก็เป็นโอกาสของคนไทย บริษัทอิตาเลี่ยน-ไทยชนะการประมูลเป็นผู้ก่อสร้างพัฒนาโครงการนี้
ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป ทางตอนเหนือกำลังกลายเป็นเขื่อนเพื่อพลังงาน การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวที่กระทบคน ต้องอพยพกว่า 2แสนครัวเรือน กระทบการเพาะปลูก คนร่อนทองในแม่น้ำโขงหมดอาชีพ การพัฒนาอาจทำให้ปลาหลายชนิดสูญพันธ์ กระทบเกษตรกรที่พึ่งน้ำ พึ่งปลาริมฝั่ง
เพราะอาเซียนต้องการพลังงาน บางประเทศจึงกั้นเขื่อนขายไฟฟ้า อนาคตจะมีเขื่อนเกิดขึ้นในจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม มากกว่า 300 เขื่อน ประเทศเพื่อนบ้าน ลาวตั้งธงจะเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานไฟฟ้าโดยสร้างเขื่อนทั่วประเทศ อนาคตลาวจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่ใส่ใจผลกระทบ ไม่น่าเชื่อว่าการสร้างเขื่อนในจีนจะกระทบถึงทะเลสาบในเขมรให้ตื้นเขินมากขึ้นและขยายพื้นที่กว้างมากขึ้น
อ.ชุมพล กล่าวอีกว่า การขึ้นลงผิดปกติของน้ำ บางครั้งเราจะพบว่าแม่น้ำโขงแห้งขอด อย่างที่หน้า จ.บึงกาฬ แห้งจนเดินข้ามได้ และกระทบภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานทั้งภาคที่มีลำน้ำสาขาแม่น้ำชี แม่น้ำมูล จะเกิดความแห้งแล้งรุนแรง น้ำท่วมรุนแรง ข้างหน้าอันตรายร้ายแรงรออยู่
ข้ามพ้นอุปสรรค “ประชาสังคมไทย” เพื่อขับเคลื่อนชุมชน-ประเทศ
นายคณิน เชื้อดวงผุย คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว่าแนวคิดพื้นฐานประชาสังคม (Civil Society) เป็นแนวคิดตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่รัฐกับประชาชนไม่ได้แยกจากกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ชนชั้นกลางกล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐ ในทางกลับกันรัฐเองก็มีบทบาทน้อยลง จึงเกิดพื้นที่สาธารณะและชนชั้นกลางที่ตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น สำหรับบ้านเรา เริ่มมีพัฒนาการและภาพรวมขององค์กรภาคประชาสังคมในไทยระหว่างปี 2524-2539 แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการทำงานพัฒนาชนบทโดยวิพากษ์รัฐและแพร่หลายขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และในช่วงปี 2539-2542 เป็นช่วงที่ภาครัฐระดมช่วงชิงวาทกรรมประชาสังคมไปใช้ในการจัดตั้งประชาคมระดับต่างๆ อีกช่วงคือ 2542-ปัจจุบันเป็นช่วงที่การสร้างประชาสังคมทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชนและภาครัฐที่กลมกลืนกัน แต่การสร้างของภาครัฐค่อนข้างมีบทบาทที่ชัดเจนกว่า
วิเคราะห์แนวคิดประชาสังคมไทยมี 3 กลุ่มคือ กลุ่ม1 ต้องการรวมพลังทุกภาคส่วนในสังคมทั้งรัฐเอกชน เป็นแนวสมานฉันท์ กลุ่ม 2 นักรัฐศาสตร์ มองการต่อสู้เรียกร้องคานอำนาจกับภาครัฐการเมืองภาคธุรกิจเป็นสำคัญ มองว่าความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องธรรมดาแต่ต้องหาทางออกอย่างอารยะ กลุ่ม 3 เป็นประชาสังคมแบบจัดตั้งจากภาครัฐโดยตรงของมหาดไทย การรวมตัวขององค์กรรัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมกันแก้ปัญหา มีระเบียบกติกาชัดเจน โดยหลักคือเป็นได้ทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน ที่มาร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกัน
จากผลการศึกษาภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัด ขอนแก่น กาฬสินธ์ มหาสารคาม พบว่าองค์กรสาธารณประโยชน์ถูกจัดตั้งโดยรัฐเกือบ 97% มีเพียง 3% ที่จัดตั้งโดยชาวบ้านและภาคเอกชน ซึ่งประเด็นการทำงานจะมีมากที่สุดในด้านเกษตร รองลงมาเป็นองค์กรที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ การศึกษา เด็กเยาวชนตามลำดับ น้อยที่สุดคือภูมิปัญญาวัฒนธรรม เป็นองค์กรที่จดทะเบียน 34 % ไม่จดทะเบียบ 66% กิจกรรมส่วนใหญ่ขององค์กรภาคประชาสังคมจะเป็นเรื่องการอบรม ดูงานสัมมนา รณรงค์ จัดอภิปราย และส่วนมากต้องการพัฒนาศักยภาพคนทำงาน ออกแบบและเขียนโครงการ การระดมทุน ทำรายงาน ทักษะการผลิตสื่อ และต้องการการหนุนเสริมมากที่สุดคือการอบรมแนวคิดเชิงระบบ การวางแผนยุทธศาสตร์ การหาแหล่งทุนการสื่อสารสาธารณะ การเชื่อมโยง พัฒนาทักษะการผลิตสื่อ ฯลฯ
ส่วนเงื่อนไขที่ทำให้รวมตัวกันเป็นประชาสังคม ก็เพื่อแก้ปัญหาสังคมชุมชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ปัญหาอุปสรรคสำคัญคือไม่สามารถสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจถึงการทำงาน สังคมมีความเชื่อถือค่อนข้างน้อย และขาดพลังคนทำงานรุ่นใหม่ในองค์กรภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้นมากมาย ทุนที่ได้รับไม่สนับสนุน NGos ด้านการบริหารจัดการ
กระจายที่ดิน-สร้างหลักประกันภาคเกษตร รากหญ้าจึงรอด
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวถึง “ฐานทรัพยากร ปัญหา และความเหลื่อมล้ำ” ว่าการขับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้น ไม่มีชีวิตผู้คนอยู่ในนั้น การเจริญเติบโตทางเงินตราไม่สามารถวัดประโยชน์สุขทางสังคมได้ ที่ดินที่มีอยู่มีคนถือครองอยู่แล้ว เกษตรกร 26 ล้านคน 1.5 ล้านครัวเรือนมีที่ดินไม่พอทำกิน ในขณะที่ ส.ส.กลับมีที่ดินจำนวนมาก อีกด้านหนึ่งมูลค่าจากภาคเกษตรก็มีเพียง 7% ของ GDP และภาคเกษตรก็ไม่สามารถรองรับแรงงานจำนวนมากได้ทั้งปี ซ้ำภาคเกษตรหมดบทบาทการเป็นกระดูกสันหลังของชาติลง
นโยบายรัฐข้าวที่ผ่านมาไม่สร้างผลกระทบได้เท่าการทำตลาดนัดสีเขียวที่จ.สุรินทร์ ที่นั่นชาวบ้านได้เสาร์ละ 4 พันบาท รายได้มั่นคงเพิ่มขึ้น ยังเป็นอาหารปลอดภัยคนบริโภคปลอดภัย ใครทำอาหารปลอดภัยอนาคตจะไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ตอนนี้ที่มหาสารคามกำลังขยายได้ 10 จุด ซึ่งสร้างผลกระทบที่มากกว่า
นายอุบล กล่าวอีกว่าการแย่งชิงทรัพยากรเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งที่มากสุดคือที่ดิน สังคมไทยไม่ได้อยู่บนฐานคิดการกระจายการถือครองที่ดิน สิ่งที่รัฐคิดอยากจัดระบบที่ดินใหม่ มีกฎหมายที่ดินหลายประเภทแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับคนจนไร้ที่ดินได้ เพราะที่ดินกลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม ที่ดินเป็นทรัพยากรธรรมที่มีอยู่อย่างจำกัด ฉะนั้นการสร้างหลักประกันให้คนมีที่ดินทำกินจึงเป็นทางออกของสังคม
การแย่งยึดที่ดินมีความซับซ้อนมากขึ้น นักเศรษฐศาตร์บางคนเสนอให้เอาที่ดินเป็นหลักประกันแทนทองคำเพราะความผันผวนน้อยกว่า การออกบัตรสินเชื่อเกษตรกรแทนที่จะช่วยกลับเป็นโอกาสทางการตลาดของผู้จำหน่ายปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมี ความแข็งแรงของพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องผนึกกำลังกันไว้ในระยเร่งด่วน และมีเป้าหมายปฏิรูประบบกฏหมายเป็นธงระยะยาว
บทบาทประชาสังคมสำคัญในการขยายพลังการแก้ไขปัญหา เพราะประชาสังคมเป็นกลไกความร่วมมือของหลายฝ่ายที่จะเข้ามาช่วยขยายฐานความรู้ ความเข้าใจกับปัญหาในพื้นที่ ให้เกิดการขยายตัวของแนวร่วม เพราะโดยธรรมชาติคู่ขัดแย้งรัฐกับชาวบ้าน ต้องการบุคคลที่ 3 ที่ 4 มารับฟังและหาทางออกร่วม
อุบล บอกว่าอีกบทบาทประชาสังคมคือขยายผลรูปธรรมความสำเร็จสู่วงกว้าง กระจายการรับรู้ การยอมรับเข้าร่วมจะเกิดขึ้นได้หรือจะเริ่มต้นสร้างจุดคานงัดในปัญหาต่างๆของพื้นที่ เอาเนื้อหามาสร้างแนวทางสร้างกรอบแก้ปัญหา สนับสนุนสร้างกลไกปรึกษาหารือกับกลุ่มกิจกรรมต่างๆในพื้นที่เพื่อร่วมแก้ปัญหา
…………………….
ทั้งนี้การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมภาคอิสานตอนบน 4 จังหวัด อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู และหนองคายจะขยายวงกลุ่มองค์กรต่างๆ ภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดมาร่วมกันปรึกษาพูดคุยและขยับสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนให้มีวงกว้างต่อไป .