3 กูรูทีดีอาร์ไอ ห่วงรบ.ก่อหนี้สาธารณะเกิน แนะคุมจำนำข้าว
สมเกียรติ-สมชัย-เดือนเด่น วิเคราะห์ศก. ปี '56 คาดขยายตัวดี ห่วงหนี้สาธารณะสูง แนะบริหารพื้นที่การคลัง ปรับลดจำนำข้าว ปฏิรูปภาคบริการก้าวข้ามกับดักปท.รายได้ปานกลาง
เมื่อวันที่ 25 มกราคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2556" ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ และดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2556 : โอกาส ความเสี่ยง และความท้าทายของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งประเมินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
ลดหนี้สาธารณะ-เพิ่มพื้นที่การคลัง
ดร.สมชัย กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ว่ากำลังฟื้นตัวจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาก้าวพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วและจะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีกไม่นาน ส่วนเศรษฐกิจจีนก็กำลังทรงตัว ส่งผลให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ถูกจับตามอง จะมีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมามากขึ้น ฉะนั้น ในปีนี้ ควรบริหารเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงการสร้างความต่อเนื่องของการฟื้นตัวและบริหารโอกาสทางเศรษฐกิจให้ดี
ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างมากในขณะนี้ คือ การบริหารหนี้สาธารณะ ต้องบริหารให้มีพื้นที่การคลังมากพอที่จะรองรับความจำเป็นในอนาคตและวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ควรก่อหนี้เกินความจำเป็น โดยเฉพาะการก่อหนี้สาธารณะในโครงการพิเศษในช่วงปี 2556-2560 เช่น หนี้จากการขาดทุนจากโครงการรับจำนำ การใช้จ่ายเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การใช้จ่ายเพื่อลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำท่วม และหนี้จากการลดลงของภาษีเงินได้นิติบุคคลตามนโยบายของรัฐบาล
"คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป การขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว จะขาดทุนปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญในการวางมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดหนี้สาธารณะที่สูงเกิน"
สำหรับโครงการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลวางไว้นั้น ดร.สมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีและควรสนับสนุน จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องสร้างพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีความเสี่ยงอีกหลายด้าน โดย ปรับลดโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูง เช่น จำนำข้าว คุมการขยายตัวของรายได้ประจำ และปรับเพิ่มภาษีบางประเภท เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าไทยจะสามารถหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้หรือไม่ หากรัฐบาลยังไม่มีแผนปรับระบบภาษีอย่างที่ควรจะเป็น
หนุนสร้างทศวรรษการเพิ่มผลิตภาพธุรกิจไทย
ขณะที่ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงข้อเสนอแนะทางนโยบาย เพื่อปรับตัวของภาคการผลิตหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นนโยบายที่เกิดผลดีต่อแรงงาน สร้างกำลังซื้อภายในประเทศ และยังเป็นการกระตุ้นการยกระดับอุตสาหกรรมภาคการผลิตและไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานมากนัก เนื่องจากตลาดแรงงานไทยอยู่ในภาวะตึงตัว แต่วิธีการปฏิบัติที่ปรับขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วนั้นมีปัญหาและส่งผลกระทบต่อกลุ่มเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนระยะยาวต้องส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาโดยมุ่งเน้นการปฏิรูปการศึกษา
"ขอเสนอรัฐบาลประกาศให้ปี 2556-2565 เป็นทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจไทย เพื่อเพิ่มผลิตภาพประเทศ ซึ่งเป็นการต่อยอดยุทศาสตร์ข้อรกที่รัฐบาลเสนอ โดยใช้การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นจุดเริ่ม ทั้งนี้ต้องเพิ่มทักษะแรงงานและประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นด้วย โดยเร่งรัดมาตรการเงินกู้และส่งเสริมการลงทุนในการปรับมาใช้เครื่องจักรและอาจนำโครงการชุบชีวิตเศรษฐกิจไทยกลับมาใช้ใหม่ ในส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำควรปรับอย่างเป็นระบบทุกปี ไม่ควรปรับอย่างก้าวกระโดดและปรับเท่ากันทุกพื้นที่ ให้เป็นไปตามผลิตภาพในแต่ละจังหวัด"
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ส่วนเศรษฐกิจไทยก็เข้มแข็งดี แต่มีความเปราะบางในการเติบโต ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับวินัยทางการคลังและไม่ควรก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญภาครัฐไม่ควรใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องระยะยาว เช่น นโยบายจำนำข้าว รถคันแรกหรือบ้านหลังแรกจนเกินไป ต้องเพิ่มที่ผลิตภาพธุรกิจไทยจึงจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างแท้จริง
"ปฏิรูปภาคบริการ" หนีกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ด้านดร.เดือนเด่น กล่าวถึงแนวทางให้ประเทศไทยหนีกับดักรายได้ปานกลางตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลประกาศไว้ว่า มีความจำเป็นต้องปฏิรูปภาคบริการที่เป็นตัวถ่วงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ มีผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม และขยายตัวช้ากว่าภาคการผลิต เนื่องจากมีกฎกติกาที่เป็นข้อจำกัด ปิดกั้นเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ (ตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติที่ร้อยละ 49) เมื่อกฎกติกาไม่เอื้อต่อการแข่งขันจึงทำให้เกิดการผูกขาด แรงงานในภาคบริการมีรายได้ต่ำ ขณะที่ต่ำทุนของภาคบริการสูงเกิน
"การไม่ปรับตัวของภาคบริการ ส่งผลให้ส่วนแบ่งเงินลงทุนในประเทศไทยน้อยกว่าขนาดของเศรษฐกิจ เงินทุนจากต่างประเทศไหลไปประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่เปิดเสรีภาคบริหารมากที่สุด ไทยจะกลายเป็นเพียงแหล่งที่รับเงินทุนมือสองเท่านั้น ที่สำคัญคือแนวโน้มการลงทุนสู่อาเซียนมุ่งไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ไทยจึงควรปฏิรูปภาคบริการอย่างเร่งด่วน"
สำหรับแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพภาคบริการ ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อเสริมพัฒนาการทางเทคโนโลยี รวมทั้งปฏิรูป กฎ กติกาในการกำกับดูแลธุรกิจบริการหลักของประเทศ และปรับปรุง กฎ ระเบียบ ที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านโทรคมนาคม พลังงานและการเงิน