ส.ผู้สื่อข่าวออนไลน์ เตรียมออกกฏซื้อขายข่าว แก้ละเมิดลิขสิทธิ์
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เตรียมตั้งกฎขอใช้เนื้อหาข่าวสื่อออนไลน์ ลดละเมิดลิขสิทธิ์ เผยฟ้องแล้ว 1 คดี ที่ปรึกษากฎหมายฯ ระบุ เว็บไซต์ส่วนใหญ่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
วันที่ 25 ม.ค. 56 ที่โรงแรม เซ็นจูรี่ พาร์ค สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดแนะนำสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ พร้อมเสวนา ‘การละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์’ ในฐานะเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยปราศจากการปิดกลั้นจากอำนาจใด ๆ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจการนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ รวมถึงนำเนื้อหาจากสมาชิกสมาคมฯ ไปเผยแพร่อย่างถูกต้อง โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ คือ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์อย่างถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน รวมถึงยกระดับวิชาชีพให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทั้งด้านคุณภาพและการนำเสนอข่าวอย่างมีจริยธรรม
แต่ปัจจุบันมีการละเมิดลิขสิทธิ์การนำเสนอข่าวบนสื่อออนไลน์มาก แบ่งเป็น การละเมิดลิขสิทธิ์ในข่าว สารคดีเชิงข่าว และบทความ, การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพข่าวและคลิปวิดีโอ, การละเมิดลิขสิทธิ์จากการใช้โซเซียลมีเดีย, การละเมิดลิขสิทธิ์จากการนำข่าวและภาพข่าวไปให้บริการในโปรแกรมประยุกต์ (แอพพลิเคชั่น), การละเมิดลิขสิทธิ์จากการนำข่าวผ่านระบบเอสเอ็มเอส
ทั้งนี้ ยกกรณีนำข่าวจากเว็บไซต์สำนักข่าวมาเรียบเรียงใหม่เพื่อเผยแพร่ โดยระบุท้ายข่าวว่า ‘เรียบเรียงโดย...’ ยังถกเถียงกันว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ม.7 ระบุว่า ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ จึงต้องอาศัยการตีความ เช่น นักข่าวสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีเขียนเป็นข่าว (เรียกว่าข่าวทั่วไป) แต่บางสำนักข่าวอาจมีการสัมภาษณ์เจาะประเด็นเฉพาะแล้วมีการนำเผยแพร่ โดยไม่ขออนุญาต จึงต้องถกเถียงกันว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้หลายเว็บไซต์ยังมีความต้องการนำเนื้อหาจากสมาชิกสมาคมฯ ไปใช้อยู่มากขึ้น ซึ่งต้องฝากคณะกรรมการสมาคมฯ ให้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาออกเป็นหลักเกณฑ์อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ และสร้างความสบายใจให้เกิดขึ้นกับเว็บไซต์ที่ต้องการ แต่คงไม่ง่ายเพราะมีหลายปัจจัยที่ยังซับซ้อนอยู่ อย่างไรก็ตามส่วนตัวเสนอให้ออกแนวทางปฏิบัติทิศทางเดียวกันของสมาคมฯ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่แน่นอนต่อไป
ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม.7 ระบุไว้ชัดเจนว่า ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ดังนั้นหากเราเขียนสื่อสารขึ้นเองถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากนำข้อเท็จจริงที่มีการเขียนออกมา โดยผ่านการกลั่นกรองภาษากลายเป็นบทความ มีภาพประกอบ นำมาเผยแพร่ ถือว่าเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่นหากลอกการเขียนสกู๊ปผ่านหนังสือพิมพ์จะโดนข้อหาการละเมิด 4 ด้าน คือ งานวรรณกรรม งานศิลปกรรม (ภาพถ่าย) และงานรวบรวม แต่หากลอกผ่านเว็บไซต์จะโดนอย่างน้อย 4 ด้าน คือ งานวรรณกรรม งานศิลปกรรม (ภาพถ่าย รูปแบบเว็บไซต์ ตัวอักษร) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และงานรวบรวม
“ข่าวเป็นข้อเท็จจริงทั่วไปที่ไม่มีลิขสิทธิ์ แต่เมื่อใดที่นำข้อเท็จจริงมาเขียนเป็นวรรณกรรม ถือเป็นลิขสิทธิ์ ซึ่งจะนำมาใช้ได้ต้องขออนุญาตจากผู้เขียน แต่กฎหมายเปิดช่องให้นำงานเขียนผู้อื่นใช้ได้เพียงบางส่วน โดยต้องอ้างอิงแหล่งที่มา และไม่แสวงหาผลกำไรที่กระทบเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร”
ดังนั้น จะเห็นว่าสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เมื่อมีการนำเนื้อหาไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ คือ เว็บไซต์ส่วนใหญ่ล้วนแสวงหาผลกำไร แม้จะมีแหล่งที่มา แต่หากมีป้ายโฆษณาปรากฏอยู่ถือว่าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ฉะนั้นต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือสร้างลิงก์เนื้อข่าว (ไฮเปอร์ลิงก์) ตามหลักสากล ทั้งนี้ ตั้งแต่จัดตั้งสมาคมฯ มีการฟ้องร้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว 1 คดี
นายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ผู้อำนวยกลุ่มธุรกิจอินเตอร์เน็ต บ. โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีนำเนื้อหาข่าวเผยแพร่ในเว็บบอร์ดนั้น ยอมรับได้ตรวจสอบเฉพาะประเด็นการดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูงเท่านั้น โดยละเลยเรื่องเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ด้านอื่น ฉะนั้นเสนอให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องจากสมาคมฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ม.7 ระบุถึงงานที่ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ได้แก่ 1. ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ 2.รัฐธรรมนูญและกฎหมาย 3.ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น 4.คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ และ 5.คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตามข้อ 1-4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่นจัดทำขึ้น.