สุรเกียรติ์ มองการต่างประเทศ ทศวรรษหน้า เน้น "สันติสุข-พอเพียง-ไม่ทิ้งสังคม"
2 กูรูสวมแว่นตามองทศวรรษหน้า "หมอประเวศ" แนะผนึกกำลังชุมชนพัฒนาสังคมจากจุดแข็ง ด้านสุรเกียรติ์ จี้สร้างนโยบายตปท.ใหม่ที่ไม่ทิ้งสังคม ไม่เปลี่ยนตามเกมพรรคการเมือง
เมื่อวันที่ 24 มกราคม สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) จัดเวที Think Tank ครั้งที่ 9 เรื่อง ประเทศไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2556-2565) ณ ห้องจามจุรีบอลรูม A ชั้นM โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส พญาไท กทม. โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่ปรึกษาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกำกับทิศทางแผนงาน นสธ. และศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกล่าวนำ โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.กระทรวงการคลัง และม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอาวุโส และอดีตกรรมการปฏิรูป เข้าร่วมฟังด้วย
ดึง 3 จุดแข็ง พัฒนาสังคม-ท้องถิ่นไทย
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงสังคมท้องถิ่นไทยในทศวรรษหน้าท่ามกลางวิกฤตโลกที่ค่อนข้างรุนแรงในหลายด้าน เช่น สภาวะเศรษฐกิจของยุโรป และสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติและความเหลื่อมล้ำในสังคมว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาจากจุดแข็งของตนเอง จากที่เดินตามแนวคิดตะวันตก ซึ่งคิดแยกส่วนไม่เชื่อมโยงสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ที่ผ่านมาไทยพัฒนาจากความด้อยของตนเอง
"เราเชื่อในพลังอำนาจของยุโรป จนจัดการศึกษาชนิด "ต่อท่อความรู้" มาจากยุโรป และพัฒนาประเทศตามแนวตะวันตก ทั้งที่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง การศึกษาเช่นนี้ทำให้คนไทยไม่รู้จักแผ่นดินไทย เป็นการศึกษาที่ไล่ต้อนคนขึ้นข้างบน" ราษฎณอาวุโส กล่าว และว่า ส่วนระบบการเมืองก็มุ่งแต่ประชาธิปไตยระดับชาติ ทั้งที่ไม่มีประชาธิปไตยใดอยู่ข้างบนได้โดยไม่มีฐานล่าง ที่จะเป็นทางออกเดียวในการสร้างสันติภาพ
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาจศึกษาจากประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ได้แก่ สแกนดิเนเวีย ที่จัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยการเก็บภาษีสูง และประเทศญี่ปุ่น ที่มีฐานรายได้ในประเทศใกล้เคียงกันทุกระดับ ส่วนแนวทางการพัฒนาประเทศในทศวรรษหน้าต้องพัฒนาจากจุดแข็ง 3 ประการ ได้แก่
1.อาหาร ที่ต้องสร้างยุทธศาสตร์ด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรม รองรับภาวการณ์ขาดแคลนอาหารโลก ยึดหลักพอกินและเป็นธรรม ไม่ปล่อยให้ชาวนายากจน 2.ที่ตั้งของประเทศ เป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงควรสร้างยุทธศาสตร์ที่ผนึกประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน 3.วัฒนธรรม มีความอ่อนโยนและมีทักษะในการไกล่เกลี่ย ควรยะระดับตัวเองไปทำเรื่องสันติภาพโลก
"หากชุมชนและประชาชนรวมพลังอย่างเข้มแข็ง มีพลังทางปัญญาและพลังในการจัดการอย่างถูกต้องและสันติวิธี มาพัฒนาจากจุดแข็งทั้ง 3 ประการ จะดียิ่งกว่าการปฏิวัติทางการเมือง อย่างที่ผ่านมาสามารถล้มรัฐบาลได้แต่จัดการอะไรไม่ได้ จากนี้อนาคตประเทศไทยอยู่ที่พลังบูรณภาพ (ความถูกต้องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) 3 ระดับ คือ พลังบูรณภาพในตัวเอง พลังบูรณภาพในระดับอาเซียนและพลังบูรณภาพเรื่องสันติภาพโลก"
ยกระดับไทยเป็น "สะพานเชื่อม" คู่ขัดแย้ง
ขณะที่ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงการต่างประเทศของไทยในทศวรรษหน้าว่า ต้องเป็นการต่างประเทศที่นำไปสู่ความสันติสุข ท่ามกลางความท้าทายและทิศทางของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการต่างประเทศที่มีความพอดี ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เช่น หากจะเปิดเสรีทางการค้าหรือการเชื่อมโยงต่างๆ ก็ต้องไม่ทิ้งสังคม ต้องสมเหตุสมผลและมีภูมิคุ้มกันให้คนในสังคมทุกระดับด้วย
ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ต้องมุ่งการสร้างสันติภาพและความเข้าใจในอาเซียน สร้างมิตรใหม่ และสนิทกับทุกประเทศ เมื่อเกิดความขัดแย้ง ไทยต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคู่ขัดแย้ง ไม่กดขี่ประเทศเพื่อนบ้านและให้เกียรติประเทศตะวันตก รวมถึงเป็นการต่างประเทศที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชาติต่อ ต่อนโยบายต่างประเทศ เน้นตามความหมายตรงตัวของ ASEAN Community ที่หมายถึง ชุมชนของอาเซียน ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า ในทศวรรษหน้าสังคมจะเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน 1.กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงขึ้น จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการวางแผนธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ กองทุนบำเหน็จบำนาญต้องตั้งตัวให้ดี
2.การเติบโตของคนชนชั้นกลางจะนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม และการเรียกร้องประชาธิปไตยระดับชาติ หรือการปฏิวัติประชาชน เป็นประชาธิปไตยเชิงรูปแบบมากขึ้น 3.การเกิดเมืองใหม่ ที่จะทำให้วิถีชีวิตทั้งเชิงสังคมและธุรกิจเปลี่ยนไป 4.ขาดอาหารและพลังงาน ซึ่งไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมเรื่องพลังงาน มีแต่การเมืองเรื่องพลังงาน ทั้งที่นโยบายความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง 5.การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะมีการปรับตัวทุกรูปแบบและเกิดอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"ในทศวรรษข้างหน้าการต่างประเทศของไทยจะต้องมาจากองคาพยพทั้งประเทศ เรื่องพลังงานต้องเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศและเชื่อมโยงต่อทิศทางโลกและยุทธศาสตร์ของเพื่อนบ้าน ที่สำคัญต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปตามพรรคการเมือง"
เชื่อมความสัมพันธ์ชุมชน แก้ปม "เขาพระวิหาร"
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวเชื่อมโยงถึงการใช้ความสัมพันธ์ระดับชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีพลังทางปัญญาและพลังในการจัดการตามแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ ว่าสามารถใช้การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหากรณีปราสาทเขาพระวิหารได้ โดยเริ่มจากระดับชุมชนที่ใกล้เคียง
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า แท้จริงแล้วการแบ่งเส้นเขตแดนนั้นเกิดขึ้นจากประเทศอื่นมาขีดแบ่งให้ และเกิดขึ้นภายหลังโบราณสถานต่างๆ ที่มีปัญหาอยู่นี้ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ก้าวข้ามเรื่องเขตแดนไปแล้ว ที่พูดคุยต่อรองกันเรื่องเขตแดนมีเพียงการจัดเก็บภาษี ดังนั้น การใช้ประเทศหรือเส้นเขตแดนเป็นตัวตั้งจะไม่สามารถแก้ปัญหาหรือขยับขยายอะไรได้
"กรณีเขาพระวิหาร เป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งและถกเถียงกันอย่างใช้อารมณ์ และไม่สามารถหาทางออกหรือตัดสินด้วยกระบวนการ แม้จะมีเสียเลือดเนื้อ มีการเจรจาผ่านองค์การสหประชาชาติ หรือศาลโลกก็ไม่ยอมรับผล และไม่คลี่คลายปัญหาได้ อาจต้องย้อนไปก่อนหน้าที่จะมีศาล ให้ระดับชุมชนตัดสิน คลี่คลายปัญหาและอยู่ร่วมกัน โดยให้กรณีเขาพระวิหารเป็นกรณีนำร่องสานความร่วมมือแก้ปัญหาจากระดับชุมชน พร้อมๆ กับการเจรจา ตกลงกันในระดับหน่วยงานส่วนกลางของประเทศการแก้ไขปัญหาจะคลี่คลายได้ง่ายขึ้น"