ความคิด ชีวิต และงาน ‘ดร.อคิน รพีพัฒน์’ นักวิชาการเพื่อคนชายขอบ
‘ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์’เป็นนักวิชาการอาวุโสที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่มีบทบาทพัฒนาสังคม-ชุมชน ในวาระอายุ 80 ปีจึงมีการจัดงานมุทิตาจิตแด่อาจารย์…ไปพบกับความคิด-ชีวิต-งานของท่าน
‘ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์’ นักวิชาการอาวุโส ที่มีบทบาทพัฒนาสังคมโดยเฉพาะการช่วยเหลือคนชายขอบ และเคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) แสดงปาฐกถาพิเศษ ‘ความยุติธรรมตามตัวอักษร : ความเป็นธรรม...ตามความเป็นจริง’
“เพราะมีเพื่อนดี ผมจึงโชคดีมหาศาล”
หลายท่านพูดถึงผมดีเกินไป บางทีผมก็สงสัยว่ามันไม่ใช่ตัวผม ครั้งหนึ่งสมัยเรียน อาจารย์คนหนึ่งนักเรียนบอกสอนไม่รู้เรื่อง แกบอกว่า มีคุณคนเดียว(ผม)ที่รู้เรื่อง แต่จริงๆแล้วผมไม่รู้เรื่องหรอก(หัวเราะ) นี่เป็นอุทาหรณ์ อย่างไรก็ตามขอบคุณทุกคนที่พูดชื่นชมผม ผมคิดว่าที่ผมอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้อายุ 80 ปีเพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
การที่ผมทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ถือว่าโชคดีมหาศาลเพราะผมมีเพื่อนดี ทั้งเพื่อนร่วมงานและทุกคนที่รู้จักรวมทั้งชาวบ้าน แม้ว่าผมจะบริหารงานมาเยอะในหลายสถาบัน แต่ความจริงคือผมบริหารไม่เป็นและไม่เคยต้องบริหาร แม้ว่าจะเป็นประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนไท แต่คุณปรีดา(ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท)ก็ทำให้หมด แล้วยกความดีให้ผม หลายคนบอกผมถ่อมตัว แต่ผมคงเป็นคนน่าสงสารที่คนเห็นว่าทำอะไรไม่เป็น เลยมีแต่คนช่วยเหลือ ช่วยทำให้(หัวเราะ) จึงถือว่าผมเป็นหนี้บุญคุณคนจำนวนมาก รวมทั้งชาวบ้านที่เขาเป็นครูของผม เพราะผมเรียนรู้จากเขาและรู้สึกว่าคนจนเขามีความกรุณามาก
“ชาวบ้านถูกฟ้องบุกรุก-ไล่ที่” ต้นตอจากความเหลื่อมล้ำที่ดิน
มาถึงเรื่องความยุติธรรม มีหลายเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์กระจุกอยู่ในมือคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลปี 2547 พบการขึ้นทะเบียนคนจนที่มีปัญหาที่ดินถึง 2.22 ล้านราย เป็นปัญหาที่ดินรัฐทับซ้อนกับชุมชน 1.1 ล้านรายในพื้นที่ 21 ล้านไร่ มีที่ดินเกษตรกร 39 ล้านไร่เข้าสู่กระบวนการการฟ้องร้องเพื่อขายทอดตลาด ถูกไล่ที่ และมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า 48 ล้านไร่เพราะคนซื้อและกักตุนไว้
ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องการไม่มีที่ทำกินมาก และมีชาวบ้านที่ถูกจำคุกถึง 836 รายด้วยคดีบุกรุกที่ดิน และเขารู้สึกว่าสถาบันศาลซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ขจัดความไม่เป็นธรรมพึ่งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโฉนดทับที่ชาวบ้าน เช่นกรมที่ดินแทบไม่เคยเพิกถอนโฉนดนายทุน โดยอ้างว่าออกโฉนดถูกต้องตามระเบียบ วิธีการตรวจสอบมันมีปัญหาเพราะดูแค่ว่าตัวเอกสารออกถูกระเบียบหรือเปล่า ไม่ได้ไปถามชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ว่านายทุนได้ที่ดินเหล่านั้นมาถูกต้องหรือไม่
เช่นที่อุบลฯ อยู่ดีๆก็มีส.ส.ไปบอกชาวบ้านให้มาลงชื่อแล้วจะออกโฉนดให้ อีกส่วนก็บอกให้เอาที่มาขาย ปรากฏว่าเช็คเด้งหมด แล้วเขาก็เอาชื่อที่เซ็นมอบอำนาจ เซ็นขายให้ไปออกโฉนดเป็นชื่อตัวเอง ชาวบ้านถูกไล่ถูกฟ้องบุกรุก แม้ศาลจะมีทนายให้คนยากจน แต่ทนายที่ศาลจัดให้มักไม่มีความสามารถ(หัวเราะ) ดีไม่ดียังไปเข้ากับฝ่ายนายทุน ชาวบ้านจึงร้องเรียนลำบากมาก
“ช่องว่างกระบวนยุติธรรมไทย” ที่ชาวบ้านชายขอบเข้าไม่ถึง
ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม คือวิธีพิจารณาของศาลจะถือว่าเอกสารราชการเป็นหลักฐานสำคัญ โฉนดจึงสำคัญสุดที่พิสูจน์ว่าที่ดินเป็นของใคร เมื่อโฉนดออกทับที่ ศาลก็เชื่อโฉนด และเมื่อมีพยานบุคคลไปพูดในศาล หากเจ้าหน้าที่ราชการพูดด้านหนึ่ง ชาวบ้านพูดอีกด้านหนึ่ง มักเชื่อคำพูดเจ้าหน้าที่น่าเชื่อถือ เพราะมีข้อสันนิษฐานว่ารัฐทำอะไรถูกต้อง ดังนั้นเวลาฟ้องร้องคดีอะไรชาวบ้านจึงแพ้
ศาลไทยใช้ระบบกล่าวหา คือให้คนสองฝ่ายมาพูดโต้กัน โดยถือว่าสองฝ่ายเท่ากัน และพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ยกมาพูด แต่ประเด็นนอกเหนือจากนั้นไม่พูดเลย แต่ความจริงในสังคมไทยคือมันไม่เท่ากัน คนหนึ่งรวย อีกคนจน ข้อสันนิษฐานของกฎหมายเช่นนี้จึงมีข้อบกพร่อง ปัญหาของชาวบ้านคือถ้าเอกสารสิทธิ์บอกว่าบุกรุกก็คือบุกรุก สืบต่อไปไม่ได้ว่าเบื้องหลังการออกมีคอรัปชั่นเปล่า มีอิทธิพลบีบบังคับให้โฉนดออกมาเป็นแบบนี้หรือไม่ เพราะระบบกล่าวหาไม่สืบไปหรอก
ต่างจากระบบไต่สวน(ศาลมีอำนาจล้วงลูกสืบค้นข้อเท็จจริงนอกเหนือจากหลักฐานที่นำมาแสดงได้) แต่ศาลยุติธรรมของเรามักไม่ใช้ระบบไต่สวน เพราะถูกสั่งสอนมาว่าต้องเป็นเรื่องที่จำเป็นจริงๆถึงใช้ระบบไต่สวนซึ่งศาลต้องลงมาดูความเป็นจริงในพื้นที่ด้วย โดยมากอ้างว่าคดีเต็มมือและกลัวว่าจะช้า
ศาลอังกฤษใช้ระบบกล่าวหา และระบบไต่สวนถูกใช้ในยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมัน ปัญหาของเร คื เราใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่กลับใช้ระบบกล่าวหา ซึ่งเป็นวิธีการของศาลในประเทศที่ไม่ได้ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร และผู้พิพากษาของเราก็ถูกส่งไปเรียนอังกฤษ ไปเรียนวิธีพิจารณาความเพ่งความอาญา มากกว่าที่จะไปเรียนเนื้อหากฎหมาย และโดยมากก็เรียนแบบระบบกล่าวหาจึงไม่มีการสืบค้นเรื่องเบื้องหลัง มันจึงมีปัญหาว่าถ้าผู้พิพากษารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมก็พิพากษาให้เป็นธรรมไม่ได้เพราะกฎหมายลายลักษณ์อักษรมันบังคับอยู่ แต่ไทยก็มีศาลที่ใช้ระบบไต่สวนคือศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ แต่คนยากจน แค่หาเงินมาสู้คดีก็จะตายอยู่แล้ว ถ้าต้องไปฟ้องอีกคดีที่ศาลปกครองจะเอาเงินที่ไหน และถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ให้ยุบศาลปกครองอีกก็ยิ่งร้ายใหญ่ (หัวเราะ)
และแม้ว่ารัฐบาลจะมีกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แต่พอชาวบ้านไปขอจริงๆก็ลำบากมาก ฉะนั้นเราจึงพยายามทำงานวิจัย และคิดกันว่าจะจัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น เพื่อช่วยชาวบ้านพวกนี้ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เราอยากช่วยชาวบ้านที่ลำบากจริงๆ .
………………………………
(ล้อมกรอบ)
ด้วยความเป็นนักวิชาการอาวุโสที่ไม่ได้นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ลงมาคลุกคลีมีบทบาทพัฒนาสังคม-ชุมชน ‘ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์’ จึงเป็นที่รักใคร่นับถือของนักวิชาการสายสังคม เอ็นจีโอ ชาวบ้าน…ไปสัมผัสชีวิตและงานของท่านผ่านเสวนา‘คมความคิด ผลงาน...ชีวิตอาจารย์อคิน รพีพัฒน์’ ที่ลูกศิษย์มาช่วยกันถ่ายทอดความเป็นตัวตนอันเป็นปูชนียบุคคลของท่าน…
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา
อ.อคินเป็น “นักมานุษยวิทยาการเมือง” ที่เก่งที่สุดของเมืองไทย ท่านเป็นนักพัฒนาที่คลุกคลีอยู่กับชุมชนต่อเนื่อง ย้อนไปช่วงแรกที่ยังไม่รู้จักกันมีงานสัมมนาหนึ่งต้องเชิญ อ.อคินมาบรรยาย นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งแย้งทันทีไม่ให้เชิญท่านเพราะชอบเล่านิทาน สุดท้ายก็เชิญมาและทำให้รู้ว่าชอบเล่านิทานจริงๆ ท่านมิได้เล่านิทานเรื่อยเปื่อย แต่กำลังจะตอบคำถามบางอย่างที่ผู้ฟังต้องตีความเอง
ท่านยังชอบเก็บเรื่องเล็กเรื่องน้อยมาวิเคราะห์และพูดคุยและช่างสังเกตลักษณะท่าทีคำพูดคน ซึ่งตอนแรกตนคิดว่าคนบ้าอะไรนั่งจับคำคนมาวิเคราะห์ แต่ปัจจุบันผมได้นำวิธีดังกล่าวมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะความเข้าใจคนนั้นต้องสังเกตลักษณะอย่างรอบด้าน
การประชุมต่างๆ ที่มีอ.อคินเป็นประธาน ทุกครั้งท่านจะถามความคิดเห็นที่ประชุมโดยไม่แทรกแซงความคิดหรือสั่งการ เมื่อมีมติอย่างไรก็ทำตามนั้น ท่านใช้หลักการบริหารแบบไม่ต้องบริหาร นั่นคือเปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมในกระบวนการแสดงความคิดเห็น โดยไม่ใช้วิธีการสั่งการตามอำนาจ
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ครั้งผมเป็นลูกศิษย์ อ.อคินสมัยเรียนธรรมศาสตร์ ครั้งหนึ่งท่านกลับมาจากการทำวิจัยภาคสนาม เลยไม่ได้เตรียมการสอนนักศึกษา แล้วให้ล้อมวงคุยกัน เราได้ซักถามหลายคำถาม แต่ส่วนใหญ่ท่านจะเป็นฝ่ายถามเรา เพื่อชวนให้คิดตาม ซึ่งเป็นเคล็ดลับการสอนแบบแกล้งไม่สอน
อ.อคินเคยเปรียบกฎหมายไทยให้นักศึกษาฟังว่า เหมือนกับสุกี้ยากี้ที่รวมเนื้อหาและโครงสร้างทางกฎหมายจากหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน โดยไม่มีการศึกษาบริบทที่แท้จริงของชาติ ส่งผลให้ขาดโครงสร้างทางกฎหมายที่ชัดเจน แม้ว่าคนไทยชำนาญเรื่องดัดแปลงกฎหมาย แต่น่าเสียดายว่าในปัจจุบันกลับทำเพื่อเน้นเรื่องอำนาจเอาเปรียบคนในสังคมมากขึ้น
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล
ผมเรียนรู้วิธีคิดและการสื่อสารจากผลงานต่างๆของท่าน โดยเฉพาะงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จนสามารถนำความรู้ถ่ายทอดแก่คนอื่นได้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมงานในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรรมการฯ 20 คนมีความคิดเห็นในแนวทางพัฒนาประเทศแตกต่างกันขึ้นอยู่กับภูมิความรู้แต่ละคน แต่ อ.อคินเป็นผู้ทำให้ความคิดต่างๆเกิดความลงตัว ด้วยการพยายามเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปทางสังคมเข้าไปอยู่ในหลักการ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้การทำงานดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง.
………………
ทั้งนี้เนื่องในโอกาสที่ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์มีอายุครบ 80 ปี จึงมีการระดมทุนจัดตั้ง “กองทุนยุติธรรม 80 ปี อคิน รพีพัฒน์” เพื่อช่วยเหลือบรรเทาปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการ ยุติธรรมโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ผู้สนใจร่วมสมทบทุนสามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี‘กองทุนยุติธรรม 80 ปี อคิน รพีพัฒน์’ ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีนครินทร์ บัญชีเลขที่ 061-0-22786-6
ที่มาภาพ :::