จี้ไทย เปิดรับ UNHCR ช่วยกลั่นกรองชาวโรฮิงญา- ขจัดขบวนการค้ามนุษย์
กลุ่มเครือข่าวปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ จัดเวทีถกหาทางออกอนาคต “โรฮิงญา” จี้ไทยขันน็อตใช้มาตรการทางกม.จริงจัง ด้านตัวแทนสถานทูตฯ มาเลเซีย เสนอเร่งนำประเด็นนี้เข้าหารือในเวทีอาเซียนด่วน
จากรายงานการพบชาวโรฮิงญาที่เคลื่อนย้ายออกจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทยที่ อ.ปะดังเบซา จ.สงขลา จนนำไปสู่การตั้งประเด็นเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์เพื่อนำคนเหล่านี้ไปสู่ประเทศปลายทาง เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่าวปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ และจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ “โรฮิงญาหนีเสือปะจระเข้: อนาคตและทางออกสำหรับประเทศไทย” ขึ้น ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ราชเทวี เพื่อร่วมหารือหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว
ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ควรมีการเสนอมาตรการให้รัฐบาลไทยมีมาตรการใช้กฎหมายอย่างถูกต้องจริงจัง เพราะที่ผ่านมารัฐไทยใช้กฎหมายในเรื่องนี้แบบหละหลวมมาโดยตลอด พร้อมกับแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในระดับอาเซียน บังกลาเทศ อินเดีย และออสเตรเลียด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายชาติเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ
นายฟิล โรบินสัน ตัวแทนจากองค์กร Human Rights Watch กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจทำไมรัฐบาลไทยจึงมีนโยบายพิเศษในการจัดการกับคนอพยพ 3 สัญชาติ ได้แก่ โรฮิงญา ม้ง และเกาหลีเหนือ โดยไม่ยอมให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เข้ามาทำหน้าที่คัดกรอง จึงขอเรียกร้องให้ไทยเปิดช่องให้ UNHCR รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะหน้าที่ในการคัดกรองชาวโรฮิงญาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อที่จะสามารถอนุมัติให้คนเหล่านั้นเป็นผู้อพยพลี้ภัยได้
ทางด้าน พ.ต.ต.จตุพร อรุณฤกษ์ถวิล กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กล่าวถึงพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2552 มาตรา 55 กำหนดไว้ว่า การจะส่งคนหลบหนีเข้าเมืองกลับประเทศต้นทางนั้นจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากคนเหล่านั้นก่อน และต้องดูแลส่งกลับอย่างปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไทยทำเพียงแค่จับกุมและส่งกลับโดยไม่มีกระบวนการติดตามหรือการขึ้นทะเบียนใดๆ เลย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เอื้อต่อการนำชาวโรฮิงญาพวกนี้กลับเข้าสู่ไทยผ่านขบวนการค้ามนุษย์ในจำนวนที่มากขึ้น
ทั้งนี้ นายจตุพร ได้แสดงหลักฐานตัวเลขด้วยว่า ในปี 2552 มีการจับกุมชาวโรฮิงญาได้น้อยที่สุด คือ 93 คน เนื่องจากก่อนหน้านั้น ไทยได้จับกุม ดำเนินคดี และส่งชาวโรฮิงญากลับอย่างถูกต้องตามกระบวนการนั่นเอง ดังนั้น หากภาครัฐดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตนเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาทั้งจำนวนการอพยพและปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ได้
ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านแห่งชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ อย่างเช่น การส่งกลับในปี 2551 ที่ส่งชาวโรฮิงญาจำนวน 78 คนกลับอย่างปลอดภัย และบางคนได้สัญชาติบังกลาเทศแล้วด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยควรเร่งรัดแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตั้งแต่กลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ที่มีนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ผ่านมา คือเจ้าหน้าที่ไทย โดยเฉพาะทหารเข้าไปใช้อำนาจตัดสินใจผลักดันชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ยังได้เสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐหลายข้อ เช่น ให้ประสานงานกับพม่าและบังกลาเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงต้องออกมาแสดงบทบาทให้ชัดเจน ให้ชาวโรฮิงญาอยู่ในไทยชั่วคราวอย่างปลอดภัย ไม่ใช่อยู่ในห้องขัง เปิดรับ UNHCR เข้ามาทำกระบวนการกลั่นกรองชาวโรฮิงญา จัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสัมภาษณ์และศึกษาข้อมูลกลุ่มคนที่อพยพเข้ามา เป็นต้น ซึ่งหากรัฐไทยยังไม่รีบจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังอาจเกิดผลเสียตามมามากมายกว่าที่คิด
“ที่เป็นข่าวใหญ่อยู่ทุกวันนี้ เพราะทั่วโลกให้ความสนใจ คนพวกนี้ถูกกระทำมามากและไม่ควรถูกซ้ำเติมโดยขบวนการค้ามนุษย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือใครก็แล้วแต่ ทั่วโลกพร้อมที่ประนามประเทศไทยเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ ปัญหาที่ย่ำแย่จะจมดินอยู่แล้วก็จะจมดินกันคราวนี้และส่งผลถึงเรื่องการค้าเศรษฐกิจก็จะถูกกีดกัน มีผลมหาศาลกับประเทศเรา เพราะฉะนั้น วันนี้รัฐต้องทำงานอย่างจริงจัง ละเอียดถี่ถ้วน และเป็นไปตามกฎหมาย เราก็จะได้รับการชมเชยจากทั่วโลกว่าแก้ปัญหาได้ดี แต่ถ้าทำอย่างที่ผ่านมา เอาผลประโยชน์แค่กลุ่มใครกลุ่มมันนี่จะเกิดผลเสียกับประเทศไทย” นายสุรพงษ์กล่าว
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้แสดงหลักฐานต่อที่ประชุมว่า ชาวโรฮิงญาเป็นคนพม่าชัดเจน แต่เพิ่งจะถูกกีดกันจากรัฐบาลทหารพม่าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ด้วยการยึดบัตรประชาชนและเผาทะเบียนบ้าน ตนจึงเชื่อว่า ไม่มีชาวโรฮิงญาคนใดที่อยากถูกส่งตัวไปประเทศที่สาม ดังนั้น นอกจากจะต้องการให้ UNHCR เข้ามาช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในไทยแล้ว ยังขอเรียกร้องให้ UN เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่รัฐอาระกันซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดด้วย เพราะที่ผ่านมา UN ที่มีหน้าที่โดยตรงกลับไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือใดๆ อย่างจริงจังเลย
อนึ่ง ในที่ประชุมมีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ เข้าร่วม เช่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา โดยตัวแทนจากสถานทูตเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ได้เสนอแนะว่า มาเลเซียเองก็ประสบปัญหาชาวโรฮิงญาไหลทะลักเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ตนอยากให้มีการนำประเด็นนี้เข้าหารือในเวทีอาเซียนเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกัน มาตรการทางกฎหมาย ตลอดจนมาตรการการคัดกรองผู้อพยพทั่วไปและผู้อพยพทางการเมืองด้วย ซึ่งก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจาก UN และ UNHCR เช่นกัน
ล่าสุด มีรายงานด้วยว่า ยังพบปัญหาชาวโรฮิงญาพยายามหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย โดยตำรวจน้ำและตำรวจตะเวนชายแดนจังหวัดพังงาได้ สกัดจับชาวโรฮิงญา 176 คน ซึ่งเป็นการจับกุมครั้งที่ 2 ในเดือนนี้ และในวันศุกร์นี้ กระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับนายกรัฐมนตรีและ สมช. ถึงแนวทางการตั้งสถานที่พักพิงสำหรับชาวโรฮิงญา หลังจากที่ได้หารือกับ UNHCR มาแล้ว