น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร...ดับไฟใต้ต้องปลดชนวนระเบิดในใจคน
เหตุการณ์ยิงครูครั้งล่าสุดเมื่อ 23 ม.ค.2556 เกิดขึ้นใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พื้นที่รับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ ซึ่งมี น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร เป็นผู้บังคับหน่วย
"ทีมข่าวอิศรา" สัมภาษณ์ น.อ.สมเกียรติ เอาไว้ตั้งแต่ปลายปี 2555 ในห้วงเวลาคับขันที่มีครูถูกยิงติดๆ กันหลายราย แนวคิดและมุมมองของ น.อ.สมเกียรติ ต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้นับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับ "การศึกษา" ซึ่งเขาเห็นว่าต้องเร่งพัฒนา เพราะเป็นการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
ในความเห็นของ น.อ.สมเกียรติ แม้ภารกิจ "รปภ.ครู" โดยใช้กำลังพลของฝ่ายความมั่นคงจักสำคัญอย่างยิ่ง แต่นั่นยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หากยังไม่ปลดชนวนระเบิดจากใจคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเยาวชนผู้กำอนาคตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ในมือของพวกเขาทุกคน
คำกล่าวที่ว่า "จะส่งกำลังลงมาอีกกี่แสนก็ไม่พอ" ได้ยืนยันความถูกต้องของมันอีกครั้งหนึ่งแล้วในวันนี้...
ภารกิจนาวิกโยธินภาคใต้
"เมื่อ นย.เหยียบฝั่งพลัน เหตุคับขันจักคลี่คลาย" เป็นคำขวัญตัวโตที่จารึกไว้หน้าค่ายจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งสามารถปลุกขวัญกำลังใจของกำลังพลและเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีต่อ "นาวิกโยธิน กองทัพเรือ" ได้เป็นอย่างดี
แม้ภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานจะมี "กองทัพบก" เป็นหน่วยกำลังหลัก แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของพื้นที่ 37 อำเภอ เพราะหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ ร่วมรับผิดชอบด้วย 5 อำเภอ 34 ตำบล 230 หมู่บ้าน โดยอำเภอที่อยู่ในความดูแลของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินฯ เป็นอำเภอติดชายทะเลเกือบทั้งหมด ได้แก่
- อ.สายบุรี กับ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี มีหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 26 เป็นผู้รับผิดชอบ
- อ.บาเจาะ กับ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส มีหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 เป็นผู้รับผิดชอบ
- อ.เมืองนราธิวาส มีหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 33 เป็นผู้รับผิดชอบ
"รุก-รับ"สัประยุทธ์
การปฏิบัติภารกิจของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินฯตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในห้วงที่ น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนั้น ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือแม้กระทั่ง "ฝ่ายการเมือง" อย่างพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยหยิบยกชื่อ น.อ.สมเกียรติ และหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ขึ้นเป็นตัวอย่างของการทำงานด้านความมั่นคงควบคู่กับงานมวลชนที่ประสบความสำเร็จ ระหว่างการให้ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
น.อ.สมเกียรติ เล่าให้ฟังว่า หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ปฏิบัติภารกิจในกรอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รับผิดชอบงาน 2 เรื่องหลักๆ คือ แก้ปัญหาการก่อเหตุรุนแรง และทำงานกับพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ ในเนื้องานแก้ไขปัญหาการก่อเหตุรุนแรงนั้น มีทั้งงานเชิงรับ ได้แก่ การคุ้มครองเป้าหมายที่อาจถูกกระทำ และงานเชิงรุก ได้แก่ การปราบปรามผู้กระทำให้เกิดความรุนแรง
"การคุ้มครองเป้าหมายเป็นมาตรการเชิงรับ กำลังเกือบทั้งหมดทำตรงจุดนี้ มีเป้าหมายการคุ้มครอง 10 อย่าง คือ ชุมชนเมือง ชุมชนไทยพุทธ วัด พระ โรงเรียน ครู เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า รถไฟ และเขื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมีเสรีในการก่อเหตุ ส่วนมาตรการเชิงรุกเป็นการดำเนินการกับกลุ่มผู้ก่อเหตุและผู้ถืออาวุธ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) และกฎหมายพิเศษ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457)"
อย่างไรก็ดี น.อ.สมเกียรติ บอกว่า การดำเนินการกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ไม่ได้เน้นใช้กฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือกดดันด้วยปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมเพียงด้านเดียว เพราะอีกด้านหนึ่งที่ทำคู่ขนานกันไปก็คือ นโยบายพาคนกลับบ้าน ด้วยการเข้าไปพบปะพูดคุยกับญาติพี่น้องของผู้ก่อเหตุเพื่อโน้มน้าวให้ยอมวางอาวุธ แล้วหันมาต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี หากใครมีหมายจับหรือคดีความติดตัว ก็จะอำนวยความสะดวกเรื่องการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
"วันนี้ในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ เราทราบหมดแล้วว่าใครเป็นผู้ก่อการ ก็บอกให้ญาติพี่น้องไปพูดคุยให้ออกมาต่อสู้แบบสันติวิธี" ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กล่าว
"เยาวชน"ชี้ขาดอนาคต
จากการปฏิบัติงานในพื้นที่มานานกว่า 2 ปี ทำให้ น.อ.สมเกียรติ ตระหนักว่าการจะหยุดวงจรความรุนแรงที่ชายแดนใต้ หาใช่การส่งกำลังทหารตำรวจลงไปเฝ้าถนน โรงเรียน หรือสถานที่ราชการไม่ เพราะนั่นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุอยู่ที่การหยุดยั้งการบ่มเพาะเยาวชนไม่ให้ไหลเข้าไปร่วมกับกลุ่มขบวนการเป็น "ผู้ก่อเหตุรุ่นใหม่"
"ประชากรของ 5 อำเภอที่เรารับผิดชอบมีราวๆ 3 แสนคน เป็นมุสลิม 2.7 แสนคน บอกได้เลยว่าประชาชนคือบทบาทหลัก และจะเป็นผู้ชี้ขาดสถานการณ์ที่นี่ในอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่ทหาร การเข้าถึงประชาชนและการส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนคือกุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ การเข้าถึงที่เราถอดบทเรียนมาจากยุทธศาสตร์พระราชทาน 'เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา' คือการเข้าถึงบ้าน เข้าถึงจิตใจ และช่วยเหลือ เรามีศูนย์ส่งเสริมอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน จัดฝึกอบรมและหาตลาดรองรับ รวมทั้งมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปให้การรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วย"
"ส่วนเรื่่องการศึกษาก็พยายามส่งเสริมเต็มที่ด้วยการดึงเยาวชนจาก 5 อำเภอมาให้ความรู้ มีหน่วยแนะแนวการศึกษาเพื่อชี้ให้เยาวชนเห็นว่ามีสถาบันการศึกษาที่ไหนบ้างที่จะรองรับอนาคตและการประกอบอาชีพของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านประมง เกษตรกรรม หรือวิทยาการด้านต่างๆ นอกจากนั้นเรายังมีโครงการทัศนศึกษานอกพื้นที่ พาเด็กและเยาวชนออกไปศึกษาโลกกว้าง ทั้งที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงด้วย" น.อ.สมเกียรติ ระบุ
ประเด็นเรื่องการศึกษาและทัศนคติของเยาวชนเป็นสิ่งที่ น.อ.สมเกียรติ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
"ทุกวันนี้การศึกษาในพื้นที่เสียสมดุล เพราะคนในพื้นที่ต้องการให้ลูกหลานศึกษาศาสนา แต่ภาครัฐต้องการให้ศึกษาสายสามัญ หากเรียนศาสนาอย่างเดียวเมื่อสำเร็จการศึกษาจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ความไม่สมดุลคือสาเหตุของปัญหา"
"ในอดีตเด็กๆ มุสลิมจะเรียนสายสามัญในระดับชั้นประถมศึกษา เพราะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะรับเฉพาะระดับมัธยม แต่ปัจจุบันเด็กในพื้นที่เรียนชั้นประถมสายสามัญน้อยลง เพราะสภาพความทรุดโทรมของโรงเรียน และปัญหาความขาดแคลนบุคลากรครูจากสถานการณ์ความรุนแรง ทำให้ผู้ปกครองต้องหาทางเลือกใหม่ให้กับบุตรหลาน ประกอบกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเปิดรับสมัครตั้งแต่ชั้นอนุบาล ทำให้เด็กมุสลิมเกือบทั้งหมดไหลไปอยู่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ส่งผลให้ความผูกพันระหว่างเด็กไทยพุทธกับมุสลิมลดน้อยลง"
เขาบอกด้วยว่า แผ่นดินใต้จะสงบต้องสกัดกั้นแหล่งบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่เข้าขบวนการ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ภารกิจเร่งด่วนที่สุด ณ ขณะนี้คือต้องเดินเข้าไปที่สถาบันการศึกษาด้านศาสนาเพื่อทำความเข้าใจ และพยายามจัดโครงการต่างๆ เพื่อปรับทัศนคติให้ได้ โดยเฉพาะครูสอนศาสนาที่เรียกว่า "อุสตาซ" ต้องทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ให้ได้ ถ้าไม่ทำ แล้วเอาแต่ไปตามจับแนวร่วมขบวนการอย่างเดียว บอกได้เลยว่าจับเท่าไรก็ไม่มีทางหมด
ภารกิจ"ครูต้องปลอดภัย"
สำหรับ "ภารกิจร้อน" ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยครูในช่วงนี้นั้น น.อ.สมเกียรติ บอกว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น โดยให้เริ่มดูแลครูตั้งแต่อยู่ที่บ้าน และตลอดเส้นทางไป-กลับโรงเรียน รวมถึงภายในโรงเรียนด้วย ให้ตกลงจุดนัดพบซึ่งมีชุดคุ้มกันครูอย่างรัดกุม จากนั้นก็นำพาครูไปโรงเรียน มีชุดเฝ้าโรงเรียนไม่ให้มีการก่อเหตุร้าย เมื่อโรงเรียนเลิกก็มีชุดคุ้มกันพาครูออกจากโรงเรียนกลับไปยังจุดนัดพบ แล้วพาส่งถึงบ้าน
"แต่เดิมการ รปภ.เส้นทางจะมีการวางกำลังบนถนนระหว่างเวลา 07.00-09.00 น. และ 15.00-17.00 น. แต่มาตรการใหม่ให้ขยายเวลาออกไปตามความจำเป็นของครู ต้องมีการสื่อสารกันตลอด หากครูจะออกเดินทางก่อนหรือหลังช่วงเวลา รปภ. ฝ่ายกองกำลังต้องจัดกำลังไปดูแลให้ได้ เพื่อให้เกิดช่องโหว่น้อยที่สุด แต่การจะรับประกัน 100% คงบอกไม่ได้ ยืนยันว่าทุกหน่วยได้ทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง"
เมื่อให้วิเคราะห์สถานภาพของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในวันนี้ น.อ.สมเกียรติ ยืนยันว่า ภายในขบวนการมีปัญหาพอสมควร สืบเนื่องจากสาเหตุ 3 ประการ คือ 1.กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเดินมาไกลเกินไป และเชื่อมต่อแนวคิดแนวทางกันไม่ค่อยได้ 2.ไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะสู้รบอย่างไร และ 3.เจ้าหน้าที่รัฐเปิดพื้นที่พูดคุยมากขึ้น
สื่อต้อง"พลิกมุมเสนอ"
กับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งฝ่ายความมั่นคงมักมองว่าเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ และโฆษณาผลงานให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น น.อ.สมเกียรติ มองในมิติที่แตกต่างออกไป
"ผมคิดว่าสื่อมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ เพียงแต่อย่าเสนอแค่การก่อเหตุรุนแรงเพียงด้านเดียว ต้องบอกให้ประชาชนรู้ด้วยว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นสร้างความสูญเสียอะไรบ้าง และใครได้รับผลกระทบบ้าง อย่างเช่นการวางระเบิดรถนักเรียน (รถบัสของกองทัพเรือ ใกล้กับแยกบ้านทอน เหตุเกิดเมื่อ 7 ส.ค.2555) บนรถมีทั้งนักเรียนไทยพุทธและมุสลิม เป็นลูกหลานคนในพื้นที่ทั้งนั้น การก่อเหตุลักษณะนี้กระทบกับทุกคน จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง"
"สมมติวันนี้มีระเบิดซึ่งถือเป็นเรื่องร้าย แต่ผมเห็นว่ายังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเสมอเช่นกัน สื่อนำเสนอเหตุการณ์ระเบิดไม่มีใครว่า เป็นหน้าที่ของสื่ออยู่แล้ว แต่ต้องเสนอต่อไปด้วยว่าเกิดผลกระทบอะไร กับใคร และที่สำคัญคือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ชาวบ้านรวมตัวกัน กำนันก็มา ผู้ใหญ่บ้านก็มา พากันมาขอโทษเจ้าหน้าที่ที่แจ้งข่าวไม่ทัน เห็นแล้วว่ามีคนเคลื่อนไหวท้ายหมู่บ้าน และหลังจากนั้นก็ช่วยกันแจ้งเบาะแสจนสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้"
"ถ้าสื่อเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้เข้าไปด้วย ก็จะทำให้สังคมได้เข้าใจว่าสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และประชาชนส่วนใหญ่พร้อมให้ความช่วยเหลือร่วมมือ ถ้าสื่อพลิกมุมนำเสนอ บรรยากาศต่างๆ ก็จะดีขึ้น คนทำผิดก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่"
ปลดชนวนระเบิดในใจคน
ส่วนงานด้านการข่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลว เพราะไม่สามารถสกัดกั้นการก่อเหตุรุนแรงของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น น.อ.สมเกียรติ มองตรงกันข้าม
"ผมคิดว่างานการข่าวของเราดีขึ้นมาก และประสบผลสำเร็จหลายครั้ง ช่วยยับยั้งเหตุการณ์รุนแรงได้จำนวนไม่น้อย เพียงแต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำมาบอกเล่าผ่านสื่อ แต่งานการข่าวต้องเข้าใจว่าไม่สามารถบอกได้ 100% ว่าคนร้ายใช้รถคันนี้ และจะจุดระเบิดเวลานั้นเวลานี้ จริงๆ งานการข่าวที่บอกได้ระดับนั้นก็เคยมี แต่ไม่บ่อยครั้งนัก ส่วนใหญ่เรารู้ว่าจะเกิดเหตุ แต่ไม่รู้จุดหรือสถานที่ก่อเหตุที่แน่นอน ก็ต้องใช้การทำงานด้านอื่นเข้าไปช่วย"
ขณะที่งานต่อต้าน "ข่าวลือ" ซึ่งกลุ่มก่อความไม่สงบใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อตอกลิ่มระหว่างทหารกับประชาชนให้หวาดระแวงซึ่งกันและกัน น.อ.สมเกียรติ ชี้ว่าเป็นงานที่ฝ่ายความมั่นคงให้ความสำคัญ โดยการหยุดข่าวลือนั้นมีอยู่ 2 วิธี หนึ่ง คือ ชี้แจงผ่านสื่อ และ สอง เข้าหาพี่น้องประชาชน
"ตรงนี้คือบทบาทของสื่อ ซึ่งช่วยได้มากในภาพกว้าง แต่ในทางลึกก็ต้องเดินเข้าไปยังชุมชนเพื่อชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจด้วย เพราะชาวบ้านไม่ได้ดูทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์ทุกคน ทุกวันนี้ข่าวลือต่างๆ ก็ค่อยๆ ลดลง หรือไม่ส่งผลต่อสถานการณ์ในภาพรวม"
น.อ.สมเกียรติ ย้ำด้วยว่า การส่งกำลังทหาร ตำรวจ ลงไปป้องกันเหตุระเบิดหรือเหตุร้ายต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน แต่จุดเปลี่ยนที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้จริง คือ การปลดชนวนระเบิดจากหัวใจประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน
"คนจ้องจะทำ เขาจ้องตลอดเวลา มีโอกาสเขาก็ทำทันที แค่เอาระเบิดใส่ถุงพลาสติกไปหย่อนตรงไหนก็ได้ ฉะนั้นเฝ้าอย่างไรก็ดูแลได้ไม่หมด จะส่งกำลังลงมาอีกกี่แสนก็ไม่พอ ถามว่าคนที่ก่อเหตุวันนี้เป็นใคร คำตอบก็คือชายวัยหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการปลูกฝังในทางที่ผิด ทางออกของปัญหาภาคใต้จึงต้องสกัดไม่ให้เยาวชนเข้าไปเติมเชื้อไฟความรุนแรง"