เสียงจากครูใต้..."สถานการณ์น่ากลัว แต่ก็ต้องไปสอนเพราะนักเรียนคอยอยู่"
เปิดศักราชใหม่มาเพียง 23 วันก็เกิดเหตุการณ์สังหารครูขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นที่โรงเรียนบ้านตันหยง ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทั้งๆ ที่ครูเพิ่งร่วมกิจกรรม "วันครู" กันมาได้ไม่นาน
ในวันครู 16 ม.ค.2556 ที่ผ่านมา มีกิจกรรมพิเศษที่ จ.ปัตตานี ทำให้ครูเกือบทั้งจังหวัดไปร่วมงาน คืองาน "พระแม่แห่งแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นครู แปดสิบพรรษาพระราชินี ราษฎร์รัฐภักดี ครูศรีแผ่นดิน" ที่หอประชุมโรงเรียนเบญจมราชูทิศปัตตานี
ภายในงานมีการประกาศยกย่องครูผู้ทำความดีและประโยชน์ให้กับวงการครูหลากหลายรางวัล เช่น รางวัลคุรุสดุดี รางวัลผู้ทำประโยชน์ทางการศึกษา รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น รางวัลครูดี ศรีปัตตานี รางวัลครูผู้สอนดีเด่น รางวัลหนึ่งแสนครูดี เป็นต้น
"ทีมข่าวอิศรา" ได้พูดคุยกับครูหลายๆ คนถึงความตั้งใจและการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งแม้ฝ่ายความมั่นคงจะยืนยันว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ทว่าครูยังคงตกเป็นเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง นับเฉพาะห้วงเดือน ก.ย.2555 จนถึงสิ้นปี ราวๆ 4 เดือน มีครูถูกยิงถูกทำร้ายมากถึง 11 กรณี ส่วนใหญ่เสียชีวิต มีเพียงไม่กี่กรณีที่ได้รับบาดเจ็บ
แม้จะต้องทำงานและดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางข่าวร้ายของเพื่อนร่วมอาชีพ แต่ครูทุกคนที่นั่งพูดคุยด้วย ยังคงยืนยันถึงจิตวิญญาณความเป็นครู และจักเดินหน้าสอนหนังสือในพื้นที่ต่อไป
และแม้การพูดคุยในวันนั้นยังไม่มีข่าวร้ายล่าสุด คือเหตุยิง ครูชลธี เจริญชล แห่งโรงเรียนบ้านตันหยง เมื่อช่วงพักเที่ยงวันพุธที่ 23 ม.ค. แต่ก็เชื่อได้ว่าไม่ว่าจะถามวันไหน สถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร...คำตอบของครูก็จะยังคงเดิม
ลภัสรดา แซ่อุ้ย ครูโรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี บอกว่า สถานการณ์ร้ายที่เกิดกับครูบ่อยๆ เป็นเรื่องน่ากลัว แต่ก็ต้องไปสอนเป็นปกติทุกวัน เพราะนักเรียนคอยครูอยู่
"ฉันสอนชั้นป.1 มา 6-7 ปี ภูมิใจที่ได้สอนเด็กให้เป็นคนดีของสังคม แนะนำให้เขาช่วยเหลือตัวเองและใช้ชีวิตในสังคมได้ กลัวเหมือนกันกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดกับครู แต่ก็ต้องไปสอนตามปกติเพราะเด็กคอยเราอยู่ ก็ต้องระมัดระวังตัวเอง ถ้าเราหยุดบ่อย ไม่ไปสอน ผลกระทบทุกอย่างจะเกิดกับเด็ก"
ขณะที่ สมมาตร สาเล็ง ครูจากโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งสอนหนังสือมานานกว่า 30 ปี และอีก 2 ปีจะเกษียณอายุราชการ บอกว่า งานวันครูที่ผ่านมาไม่ค่อยมีสาระอะไรนอกจากมาพบแล้วเฮฮากัน แต่ปีนี้ดีขึ้นที่มีการยกย่องให้รางวัลครู เพราะถือเป็นกำลังใจในการทำงาน การให้กำลังใจครูไม่ต้องรอให้ครบปีในวันครูก็ได้ เทอมหนึ่งให้กำลังใจกันสักครั้ง ยกย่องชมเชยเรื่องการสอนเพื่อช่วยกระตุ้นให้ครูได้มีการพัฒนาก็พอ
ส่วนสถานการณ์ที่เกิดกับครูส่งผลกระทบกับเด็กที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตอำเภอเมืองอย่างมาก เด็กหวาดกลัวกับการไปโรงเรียนเพราะอาจต้องเจอเหตุร้ายระหว่างเดินทางหรือเกิดในโรงเรียน พ่อแม่ก็กลัว
"ตัวผมเองก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็สอนมาจนจะเกษียณอยู่แล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องแล้วแต่อัลลอฮ์กำหนด ไปไหนมาไหนก็ไม่ประมาท"
สมมาตรฝากข้อคิดถึงครูรุ่นใหม่ๆ ด้วยว่า ต้องปลูกฝังสิ่งดีงามให้แก่เด็กๆ และที่สำคัญต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งเรื่องส่วนตัวและสังคม เพราะครูอยู่กับเด็กทั้งวันมากกว่าพ่อแม่เสียอีก เด็กจึงซึมซับตัวอย่างที่ครูปฏิบัติไปไม่มากก็น้อย
นิอับดุลเลาะ ปานาวา หัวหน้างานปกครอง วิทยาลัยประมงปัตตานี เจ้าของรางวัลหนึ่งแสนครูดี กล่าวว่า ครูเป็นงานที่ไม่มีวันจบ ต้องหาวิธีแก้ปัญหาให้เด็กแต่ละคนแต่ละรุ่นแตกต่างกันไป ฉะนั้นครูต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอและหาเทคนิควิธีการใหม่ๆ มาช่วยในการสอน สิ่งสำคัญคือการเอาใจใส่อย่างจริงจัง ให้เด็กไว้วางใจในตัวครู
"อย่างเด็กขาดเรียน 2-3 วัน หรือไม่เข้าแถว ไม่ร่วมกิจกรรม ต้องไปดูให้ถึงบ้านว่ามีปัญหาอะไร พอไปดูแล้วรู้ความจริงที่เด็กไม่กล้าพูด หรือมีปัญหาทางบ้าน พ่อแม่แยกทาง ยากจน เราจะดึงมาพักในวิทยาลัยที่มีที่พักและอาหารฟรี มีรายได้ระหว่างเรียน ดูแลเขาให้ใกล้ชิด และเป็นที่ปรึกษาทุกอย่างให้กับเขาได้"
นิอับดุลเลาะ บอกว่า เด็กบางคนมีวิธีเรียนที่พิเศษ แต่ค้นพบเมื่อเกือบสาย เช่น นักศึกษาระดับ ปวส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) คนหนึ่ง เขียนหนังสือไม่ได้ แต่ใช้วิธีการจำและวาดรูปในการเรียน
"ผมมาพบเขาเมื่อตอนเรียนใกล้จะจบแล้ว จึงได้ช่วยเหลือจนสามารถเขียนและสะกดได้เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าแม้มีพื้นฐานมาต่างกัน แต่ก็มาปรับได้ ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของครู ผมคิดว่าหากครูทุกคนมีหัวใจเต็มร้อย ทุ่มเทกับการเอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและจริงจังมากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ อนาคตของชาติจะดีกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน"
เป็นเสียงจากครูชายแดนใต้...เสียงที่ยังเปี่ยมพลัง เปี่ยมความหวังและความตั้งใจ ท่ามกลางสถานการณ์ร้ายที่มิอาจเอาชนะหัวใจครู!
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ขวา) ครูสมมาตร สาเล็ง
2 ครูนิอับดุลเลาะ ปานาวา (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)