หม่อมอุ๋ย-กรณ์-ธีระชัย ออกโรง ฉะรบ.ก่อหนี้สาธารณะ เมินวินัยการคลัง
ขุนพลศก.ประสานเสียงจี้ รบ.ห่วงวินัยการคลังประเทศ ดันหนี้สาธารณะติดเพดาน แนะหามาตรการกำกับนโยบายประชานิยม
วันที่ 23 มกราคม สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาเรื่อง "โจทย์ท้าทาย อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2556" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดการสัมมนาโดยกล่าวปาฐกถา "ทิศทางนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน"
นายกิตติรัตน์ กล่าวตอนหนึ่งถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วยเม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าจะมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีเสถียรภาพและจีดีพีของประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่การใช้จ่ายเงินในงบประมาณจะน้อยลง การจัดทำงบประมาณจะเข้าสู่จุดสมดุลในอีก 3 ปีข้างหน้า
"หากเราเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ บวกกับแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขาดแคลน โดยเฉพาะระบบขนส่ง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย"
จากนั้นเป็นการสัมมนาเรื่อง "โจทย์ท้าทาย อนาคตเศรษฐกิจไทย" โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกล่าว
ไม่ว่าจะ รบ.พรรคไหน ก็ติด "กับดักประชาธิปไตย"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีวินัยทางการคลังเท่าที่ควร การหาเสียงที่ผ่านมาก็ใช้วิธีมักง่าย ไม่มีหิริโอตัปปะ ไม่รักษาวินัยทางการคลัง โดยนำงบประมาณของรัฐบาลมาหาเสียงทำนโยบายประชานิยม ทั้งนโยบายรับจำนำข้าว รถคันแรกหรือบ้านหลังแรก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะสร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน
"ในระหว่างปี 2555 - 2562 คาดว่า ระดับหนี้สาธารณะ จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 53.8 จากเดิมสิ้นปี เมื่อปี 2555 ที่อยู่ที่ร้อยละ 43.9 และผลกระทบจากนโยบายประชานิยมจะผลักให้ยอดหนี้สาธารณะในอนาคตอาจพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 70 ก็เป็นได้"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า จากนี้อะไรที่นึกไม่ถึงก็อาจเกิดขึ้นได้ เราอาจได้เห็นประชานิยมที่คาดไม่ถึง ยกกรณีละครเหนือเมฆที่ถูกสั่งไม่ให้ฉาย 3 ตอนสุดท้าย ทั้งที่ตอนที่เหมือนว่าจะทำให้คิดได้ว่ารุนแรง คือ เรื่องสัมปทานดาวเทียมก็ได้ฉายไปแล้ว 3 ตอนสุดท้ายไม่น่าใช่ส่วนที่มีปัญหา เรื่องนี้จึงเหมือนได้สะท้อนความคิดของผู้สั่งชัดเจน
"จากนี้ต่อให้ไม่ว่ารัฐบาลพรรคไหนจะเข้ามา ก็ยังคงติดอยู่กับ "กับดักประชาธิปไตย" เข้ามาโดยใช้งบประมาณของรัฐหาเสียงกับประชาชน และเป็นนโยบายที่ใช้งบสูงทั้งสิ้น นี่เป็นกับดักประชาธิปไตยที่จะสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และก่อปัญหาต่อการคลัง ทางออกคือต้องไม่ใช้ประชานิยม เหล่านี้เป็นโจทย์สุดท้ายของอนาคตเศรษฐกิจไทย ที่จะต้องหาทางออกให้ได้"
ทำลายกรอบวินัยการคลัง เมินช่วยเหลือคนจน
ขณะที่นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังสอบตกเรื่องวินัยทางการคลัง โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว และโครงการ พ.ร.ก.เงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ในวันที่ 25 มกราคมนี้จะครบรอบ 1 ปี แต่ก็ไม่เห็นความเร่งด่วนตามที่รัฐบาลชี้แจงไว้ ตามกรอบกฎหมายรัฐบาลจะต้องทำเรื่องกู้เงินให้ทันกำหนดในเดือนมิถุนายน ซึ่งไม่มีทางทันนอกจากจะกู้เงินกองรอไว้หรือหาทางรีบใช้ให้หมด เรื่องนี้สะท้อนถึงทัศนคติวินัยทางการคลังของรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้รัฐบาลควรใช้งบประมาณประจำปีแทน ในส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็เห็นด้วย แต่ควรจะใช้เงินในระบบงบประมาณแทนที่จะออกกฎหมายพิเศษ
"รัฐบาลปัจจุบันเมินระบบวินัยการคลัง ทำลายกรอบที่บรรพบุรุษวางไว้มาหลาย 10 ปี และที่น่าผิดหวังมากที่สุดคือการช่วยเหลือคนยากคนจนอย่างที่รัฐบาลนำเสนอตลอดว่าจะดูแล แต่ตลอดการทำงานที่ผ่านมากลับเห็นแต่นโยบายและการปฏิบัติที่เอื้อต่อคนที่มีกินอยู่แล้ว และไม่ได้สร้างโอกาสของคนที่ไม่มีให้ดีขึ้น ทางออกจะต้องหลบหลีกประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่ไม่ได้สร้างความมั่นคงประเทศระยะยาวนี้ให้ได้"
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ด้านเศรษฐกิจนับว่าประเทศไทยมีพื้นฐานที่ได้เปรียบคู่แข่ง แต่เพราะมีบุญเก่า 4 ประการ ได้แก่ 1.ระบบการปกครอง โครงสร้างเศรษฐกิจและกฎหมายที่ทำให้สามารถแข่งขันได้ 2.นโยบายอุตสาหกรรมในอดีต 3.ตลาดเงินและตลาดทุน 4.เสถียรภาพด้านการเงินและการคลัง ทั้งหมดนี้ทำให้อนาคตเศรษฐกิจไทยคาดหวังไว้ได้ค่อนข้างสูง ทั้งจากภาคการผลิตและภาคบริการ แต่จะต้องทำให้เกิดเสาหลักที่สำคัญ 7 เสาหลัก ดังนี้
1.นโยบายทางการเงิน การคลังที่มีเสถียรภาพ 2.ตลาดเงิน ตลาดทุน ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการไทย และปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารงานที่ชัดเจน 3.การศึกษา ต้องทั่วถึงและแข่งขันได้ 4.แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปฏิรูประบบราชการ 5.แก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ 6.วินัยทางการคลังและความชัดเจนในนโยบายทางการเงิน และ 7.การพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งหมดต้องส่งผลอย่างทั่วถึง ไม่รวยกระจุก จนกระจาย
แนะหามาตรการกำกับ "ประชานิยม"
ด้านนายธีรชัย กล่าวว่า ปัญหาที่ท้าทายอนาคตเศรษฐกิจไทย คือ ปัญหาความไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศมีไม่มากนัก แต่ปัญหาจากนโยบายรัฐบาลจะหนักขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย "กระตุ้นเศรษฐกิจ" ที่ปกติแล้วจะใช้เฉพาะช่วงเศรษฐกิจซบเซา การกระตุ้นของรัฐบาลนี้จึงเหมือนเป็นการโด๊ปยา ผลักเม็ดเงินไปให้เกิดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง เสี่ยงที่สุด คือ นโยบายประชานิยม ที่เมื่อทำแล้วประชาชนจะติดใจและเลิกยาก จากนี้ที่ต้องจับตาและดูแลเป็นพิเศษ คือ "หนี้สินภาคครัวเรือน"
ทั้งนี้ การทำประชานิยมจะไม่เกิดปัญหา หากรัฐบาลมีที่มาของงบประมาณจากแหล่งอื่น เช่น ลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น หรือมาตรการทางภาษี หนี้รัฐบาลไม่เหมือนหนี้ส่วนบุคคล หากถึงระดับที่อันตรายจะแก้ยาก
ฉะนั้น จึงควรหามาตรการกำกับนโยบายประชานิยม
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อหนี้สาธารณะของประเทศที่สุด คือ นโยบายประชานิยม ที่จะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ ซึ่งตนขอเสนอว่าจากนี้ รัฐบาลต้องบอกให้ชัดเจนถึงแหล่งเงินที่ใช้ทำนโยบายประชานิยมว่ามาจากแหล่งไหน หากเป็นนโยบายที่ไม่จำเป็นและมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจำนำข้าว ต้องไม่ให้ใช้เงินสาธารณะ ควรจะมาจากการเก็บภาษีหรืออื่นๆ และในการหาเสียงโดยใช้ประชานิยม ต้องพูดให้ชัดว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ ทำนโยบายอะไรบ้าง และจะหาเงินจากแหล่งใด
"ทุกวันนี้ประชาชนเห็นแต่ส่วนที่ดี ไม่เห็นส่วนเสีย คิดว่าตัวเองได้ของฟรี จากนี้ต้องบอกความจริงให้ประชาชนรู้ว่าประชานิยมไม่มีของฟรี จะช้าหรือเร็วประชาชนก็ต้องถูกเช็คบิลอยู่ดี"
นายธีระชัย กล่าวเสนอถึงแนวทางสร้างความโปร่งใสในภาครัฐด้วยว่า ให้มีกฎระเบียบบังคับกระทรวงการคลังทำประเมินแผนการใช้งบประมาณจากทุกโครงการและเปิดเผยตัวเลขเป็นทางการต่อประชาชน รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ราคาและผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจต้องแก้ไขในระดับรัฐธรรมนูญ
สำหรับเรื่องการช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรจนสูงกว่าราคาตลาด นายธีรชัย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการแทรกแซงตลาด โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าวที่ในทางปฏิบัติเป็นการซื้อข้าว รัฐบาลควรเปลี่ยนชื่อเป็นการซื้อข้าว ซึ่งมีระเบียบบังคับชัดเจนอยู่แล้ว ช่วยลดช่องการโกงได้และเกษตรจะได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นด้วย