ชี้โยธาฯถ่วงผังเมืองโคราช-ชลฯ+8จว.เอื้อทุนการเมือง-อุตสาหกรรม
นักวิชาการ-ประชาสังคม เผยกรมโยธาฯชะลอผังเมืองโคราช- ชลฯ+8 จว.อ้างเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เชื่อหวังลดพื้นที่สีเขียว-เกษตร เอื้อนายทุนการเมือง-อุตสาหกรรม
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านผังเมือง เครือข่ายเพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออก กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเครือข่ายฯยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ดำเนินการเร่งรัดการบังคับใช้ผังเมืองรวม 7 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราดตั้งแต่ 30 ต.ค. 55 ว่าว่าจนถึงปัจจุบันมีเพียงปราจีนบุรีจังหวัดเดียวที่ประกาศใช้ผังเมืองรวม
และล่าสุดกรมโยธาธิการและผังเมืองมีคำสั่งให้ทบทวนร่างผังเมือง จ.ชลบุรี ตามที่คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเสนอ โดยลดขั้นตอนการประกาศใช้จากขั้นตอนที่ 20 คือจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ ลงมาเป็นขั้นตอนที่ 1 คือเก็บรวบรวมข้อมูล สำรวจและจัดทำแผนที่พื้นฐาน ทั้งนี้อีก 8 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก ปัตตานี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานีก็ถูกลดขั้นตอนลงเริ่มต้นใหม่เช่นกัน โดยอ้างว่าร่างผังเมืองเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 แต่สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองกับภาคอุตสาหกรรม-นายทุน
นักวิชาการผังเมือง กล่าวอีกว่าเครือข่ายฯจะร่วมขับเคลื่อนกับอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศที่การดำเนินการด้านผังเมืองยังไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในวันที่ 22 ม.ค.56 มีการจัดเวทีเสวนาภาคประชาชนกรณีผังเมืองชลบุรีถูกลดขั้นตอน ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีด้วย
ส่วนกรณีที่กรมโยธาฯสั่งทบทวนผังเมือง จ.นครราชสีมาซึ่งมีการยกร่างมา 7 ปี และมีกำหนดประกาศใช้ปลายปี 2556 นี้ โดยอ้างว่าขัดต่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนพัฒนาจังหวัด ดร.สมนึก กล่าวว่าควรมีการประกาศใช้ผังเมืองไปก่อน เมื่อเกิดปัญหาจึงค่อยนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมมาหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไข มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาการอาศัยช่องว่างระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองก่อสร้างและพัฒนาโครงการต่างๆรุกพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเรื่อยๆ
“ผังเมืองควรจะประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 47 ฉะนั้นอะไรก็ตามที่ผิด ควรประกาศไปก่อนแล้วค่อยกลับมาแก้ไข อย่าง จ.ปราจีนบุรีประกาศแล้วก็ยังกลับมาคุยกันได้อีก ถ้ามัวแต่รอแก้ไขและดึงกลับมาขั้นตอนที่ 1 ใหม่ อีกกี่ปีจะเสร็จ รอถึงตอนนั้นมีอะไรเกิดขึ้นมามากมาย ผังเมืองจะไปควบคุมอะไรได้” ดร.สมนึกกล่าว
ด้านนางสมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ผู้ติดตามเรื่องการวางผังเมือง กล่าวว่า จ.นครราชศรีมา ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งธาตุและทรัพยากรน้ำมันซึ่งเป็นที่ต้องการของบริษัทต่างชาติ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางเส้นทางคมนาคมระหว่างจีนกับสิงค์โปร์ และจะเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมยุโรปและเอเชีย ตามโครงการ เอเซียนไฮเวย์ของสหประชาชาติ การประกาศผังเมืองโคราช จึงอาจทำให้เกิดการเสียประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจและกลุ่มทุนการเมืองทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น สังคมต้องช่วยกันตั้งคำถามว่าการลุกขึ้นมาขอให้รื้อผังเมืองมีผลประโยชน์อะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่
โดยขณะนี้ได้ยินข่าวที่น่าเป็นกังวลว่า กรมโยธาฯกำลังร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ซึ่งมีสาระให้การจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดต้องยึดตามผังประเทศไทย พ.ศ. 2600 (มติคณะรัฐมนตรีปี 2545 กำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำผังประเทศไทย พ.ศ.2600) ซึ่งเป็นผังที่วางแผนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆของประเทศ ซึ่งโดยรวมมีแนวโน้มการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมที่ขัดแย้งกับทรัพยากรธรรมชาติ และอาจทำให้เกษตรกรไทยต้องเสียประโยชน์จากการถูกแย่งชิงพื้นที่ทำกินหรือถูกเวนคืนที่ดินไปเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยผังประเทศ ปี 2600 นี้เป็นเอกสารที่ยังไม่เคยทำประชาพิจารณ์เปิดเผยข้อมูล แต่กลับออกพระราชบัญญัติรองรับมาก่อนเลย
“การที่รัฐไม่ยอมประกาศผังเมืองรวมจังหวัดให้ครบทั่วประเทศและปล่อยให้ผังเมืองหมดอายุ เป็นผลให้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาฉกฉวยประโยชน์จากการใช้ที่ดิน โดยไม่ต้องมีกติกาของผังเมืองมาบังคับ นอกจากนี้หากการประกาศผังเมืองรวมของรัฐจะต้องรอให้มีพระราชบัญญัติซึ่งจะยึดผังประเทศ ปี 2600 มากำหนดก่อน ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญเพราะผังขาดการมีส่วนร่วมรับรู้ของประชาชนตามสิทธิที่จะมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรประเทศด้วย” นางสมลักษณ์กล่าว .