ระดมตั้ง ‘กองทุนอคินฯช่วยคดีคนจน” ลดเหลื่อมล้ำกระบวนการยุติธรรมไทย
เอ็นจีโอ-นักวิชาการสายสังคม ระดมตั้ง ‘กองทุนอคิน รพีพัฒน์’ ช่วยคดีชาวบ้าน-คลายปมขัดแย้งที่ดิน อุดช่องโหว่รากหญ้าเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมไทย
วันที่ 22 ม.ค. 56 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิชุมชนไท สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิองค์กรชาวบ้านเพื่อการพัฒนาภาคอีสานและภาคีเครือข่าย จัดเวทีวิชาการและแสดงมุทิตาจิตต่อ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เนื่องในโอกาสครบรอบอายุ 80 ปี โดยมีการระดมทุนจัดตั้ง “กองทุนยุติธรรม 80 ปี อคิน รพีพัฒน์” เพื่อช่วยเหลือบรรเทาปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส
ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินและทรัพยากรของไทยอยู่ในระดับวิกฤต ที่ดินร้อยละ 90 กระจุกอยู่ในมือคนเพียงร้อยละ10 ของประเทศ และมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่นายทุนซื้อตุนไว้เก็งกำไรถึง 48 ล้านไร่ และที่ดินส่วนหนึ่งยังถูกครอบครองโดยคนต่างชาติ จากข้อมูลปี 2547 พบว่าการขึ้นทะเบียนคนจนที่มีปัญหาที่ดินมีถึง 2.22 ล้านราย ปัญหาที่ดินรัฐทับซ้อนกับชุมชน 1.1 ล้านรายในพื้นที่ 21 ล้านไร่ ที่ดินเกษตรกร 39 ล้านไร่เข้าสู่กระบวนการการฟ้องร้องเพื่อขายทอดตลาด ถูกฟ้องร้องไล่ที่ โดยมีชาวบ้านถูกจำคุกแล้ว 863 ราย (ธันวาคม 2553) และจากงานวิจัยพบว่ามีกว่า 740 คดีพิพาทที่ดินใน 68 จังหวัด(ปี 2549) โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านหรือเกษตรกรมักแพ้คดี
ดร.อคิน กล่าวอีกว่าชาวบ้านจำนวนมากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษา ทั้งจากข้อหาบุกรุกพื้นที่เอกชนทั้งที่เป็นพื้นที่ของตนมาแต่อดีต การออกโฉนดที่ดินหรือการประกาศเขตป่าสงวนทับที่ชาวบ้าน ทั้งนี้วิธีการพิจารณาคดีของศาลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการต่อสู้ เนื่องจากศาลจะยึดเอกสารทางราชการ เช่น โฉนด เป็นหลักฐานสำคัญ โดยไม่สืบหาเบื้องหลังของการได้มาซึ่งโฉนด เช่น นายทุนไปหลอกลวงชาวบ้านหรือใช้อิทธิพลบังคับให้ได้โฉนดมาหรือไม่ เพราะวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมไทยจะยึดระบบกล่าวหา คือศาลจะไม่ล้วงลูกต่อพยานหลักฐานหรือลงพื้นที่สืบหาข้อเท็จจริงที่นอกเหนือจากเอกสารได้เหมือนระบบไต่สวน ซึ่งศาลจะใช้ระบบไต่สวนต่อเมื่อเป็นคดีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
นอกจากนี้การสอบสวนศาลจะถือว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีสถานะเท่าเทียมกัน ทั้งที่จริงแล้วชาวบ้านยากจนมีสถานะและความพร้อมด้อยกว่าภาครัฐและเอกชนทุกด้าน และศาลมักมีข้อสันนิษฐานหรือเชื่อในเบื้องต้นว่าคำพูดและการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมีความถูกต้องยุติธรรม ดังนั้นชาวบ้านมักจะแพ้ และต้องไปต่อสู้เรียกร้องต่อในศาลปกครองที่ใช้ระบบไต่สวน
“เช่นที่ จ.อุบลฯ มีผู้แทนราษฎรไปบอกชาวบ้านให้มาลงชื่อเพื่อจะออกโฉนดที่ดินให้ อีกส่วนก็บอกให้นำที่ดินมาขายแล้วให้เช็คเงินสดไป ปรากฏว่าเช็คเด้งหมด แล้วเขาเอาชื่อชาวบ้านที่เซ็นมอบอำนาจและเซ็นขายไปออกโฉนดเป็นเชื่อตัวเอง ชาวบ้านถูกไล่ที่ แม้ศาลจะมีทนายให้คนยากจน แต่มักจัดทนายที่ไม่ค่อยมีความสามารถ บางกรณีทนายยังไปเข้ากับนายทุนอีกฝ่าย” ดร.อคิน กล่าว
ด้านผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าควรทำให้กฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนเหมือนในต่างประเทศ โดยนักกฏหมายต้องร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยให้ประชาชนมีความรู้ทางกฎหมายและเข้าถึงสิทธิ รวมทั้งช่วยเหลือเรื่องกระบวนการยุติธรรมของชาวบ้าน
นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวถึงการก่อตั้ง ‘กองทุนยุติธรรม 80 ปี อคิน รพีพัฒน์’ว่าเป็นแนวคิดของ ดร.อคิน ที่จะตั้งกองทุนยุติธรรมภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีที่ดินและทรัพยากร โดยกองทุนฯจะให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทั้งการให้คำปรึกษาทางกฎหมายตลอดจนช่วยให้เข้าถึงกองทุนยุติธรรมของรัฐบาลซึ่งพบว่ายังมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้อาจสนับสนุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการศาลด้วย โดยเบื้องต้นจะจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้แทนองค์กรชาวบ้าน และจะมีการระดมทุนเป็นระยะๆ โดยเริ่มระดมครั้งแรกจากเวทีแสดงมุทิตาจิตต่อ ดร.ม.ร.ว.อคินในวันนี้
ทั้งนี้ผู้สนใจร่วมสมทบทุนสามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี‘กองทุนยุติธรรม 80 ปี อคิน รพีพัฒน์’ ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีนครินทร์ บัญชีเลขที่ 061-0-22786-6 .