จี้การทางพิเศษฯ ให้ความชัดเจนปัญหามลพิษ สร้างทางด่วนเฉียดหน้า มก.
ประชาคมเกษตร ตบเท้ายื่นหนังสือถึงวุฒิสภา คัดค้านก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 หวั่นผลกระทบด้านมลพิษ ไร้แนวป้องกัน ดีเดย์เช้า 24 ม.ค. จัดเวทีวิพากษ์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
วันที่ 21 มกราคม นายอนุชัย รามวรังกูร ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนากายภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ผ่าน ถ.งามวงศ์วาน ติดกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีความสูงถึง 28 เมตร เทียบเท่ากับตึก 10 ชั้น ทั้งยังกินพื้นที่ของมหาวิทยาลัยกว่า 10 ไร่ โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านรองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้ไปศึกษารายละเอียด ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นนั้นจะเกี่ยวข้องกับกรรมาธิการคมนาคม และกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
ขณะที่รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ กล่าวถึงกระแสในโลกออนไลน์บางแห่งที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้เสียสละในกรณีโครงการก่อสร้างทางด่วน ขั้นที่ 3 ซึ่งในฐานะนักวิชาการได้ขอความชัดเจนกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยถึงผลกระทบด้านมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารในกลุ่ม ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ได้มีการศึกษาผลกระทบหรือมีแนวทางป้องกันอย่างไร
"ทางหลวงปกติที่ผ่านมก.นั้น มีการจราจรคับคั่งอยู่แล้ว เมื่อจะมีทางยกระดับของโครงการก่อสร้างทางด่วน ขั้นที่ 3 เฉียดหน้ามหาวิทยาลัย เชื่อมโยงระบบขนส่งที่เป็นประโยชน์ โยงถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า แน่นอนว่า มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาท้องถิ่นเช่นเดียวกับการเติบโตของประชากรตามเส้นทางที่มีการลงทุนก่อสร้างทางยกระดับ ตามทฤษฎีทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษของสารเคมี ที่จะมีความเข้มข้นสูงมากขึ้น ตามปริมาณเส้นทางและการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น"
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวว่า นอกจากคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ที่มีผลกระทบทางมลพิษ เป็นแก๊สที่จะต้องถูกปล่อยออกมาตามปกติของการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทางด่วนลอยฟ้า ที่เชื่อมโยงภาคขนส่งอุตสาหกรรมจะมีจำนวนรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่าน รวมสัดส่วนเครื่องยนต์แบบดีเซล จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แก๊สไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) เป็นแก๊สที่ผลิตโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงส่วนใหญ่เครื่องยนต์ดีเซล สารกลุ่มนี้รวมถึงไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งจะถูกแปลงไปอย่างรวดเร็วก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) หลังจากปล่อยออกมาจากยานพาหนะ มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการระคายเคืองปอด และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ไนโตรเจนออกไซด์ ที่มีปริมาณความเข้มข้นสูงตามปริมาณการจราจร จะสามารถรวมตัวกับความชื้นในอากาศเปลี่ยนสภาพกลายเป็นกรดไนตริก (Nitric Acid) ซึ่งเป็นกรดแก่ที่มีความรุนแรงในการกัดกร่อน ส่งผลต่อวัสดุ บ้านเรือน หลังคา อาคารและโครงสร้างในละแวกนั้น แต่คงไม่มีความเข้มข้นสูงพอที่จะทำให้เกิดภาวะฝนกรด ตามที่เป็นข่าวในต่างประเทศ
"นอกจากนี้ฝุ่นละอองสีดำ คาร์บอน ที่เป็นผลจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทั้งเบนซินและไอเสียดีเซล สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นได้ เป็นหนึ่งในเหตุผลความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด ซึ่งการทางพิเศษฯ ก็ควรให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย"
https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=01db8JZtCCw
ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะจัดเวทีร่วม "วิพากษ์โครงการระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนที่ 1" เวลา 08.30 - 12.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ