เขาจะของบดับไฟใต้เพิ่มอีกหมื่นล้าน!
สถานการณ์ใต้ช่วงนี้ แม้ข่าวคราวความรุนแรงจะเบาบางลงไปบ้าง เพราะมีกรณี "โรฮิงญา" เข้ามากลบ ทว่าความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในอีกหลายๆ มิติก็ยังไม่น่าละสายตาหรือคลายความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ!
ใครที่ติดตามข่าวสารการประชุมรัฐสภาว่าด้วยการพิจารณางบประมาณปี 2556 คงยังจำกันได้ว่างบผ่านไปเรียบร้อยแล้ว และน่าจะเบิกใช้ไตรมาสแรกกันไปแล้ว โดยในส่วนของ "งบดับไฟใต้" ที่เรียกว่า "แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ นั้น ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาไปด้วยตัวเลข 2.1 หมื่นล้านบาทเศษ สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ในห้วง 10 ปีงบประมาณที่ผ่านมา
แต่เชื่อหรือไม่ว่าย่างเข้าปีงบประมาณ 2556 มาได้แค่ 3 เดือนกว่าๆ หน่วยงานหลักๆ ที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ได้ทำเรื่องขอเบิกงบประมาณในส่วนของ "งบกลาง" กันอีกถึง 1 หมื่นล้านบาท
เรียกว่าขอ "งบเพิ่มเติม" เป็นสัดส่วนถึง 50% ของงบปกติกันเลยทีเดียว!
ทั้งๆ ที่งบปี 2556 ก็ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึงประมาณ 5 พันล้านบาทอยู่แล้ว โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบดับไฟใต้ปี 56 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กอ.รมน. 7,280 ล้านบาทเศษ ศอ.บต. 2,295 ล้านบาทเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,798 ล้านบาทเศษ
น่าสนใจตรงที่หน่วยงานที่ของบเพิ่มในลำดับต้นๆ จากยอด 1 หมื่นล้านบาท ก็คือ 3 หน่วยงานนี้ พ่วงด้วยกระทรวงศึกษาธิการ
ประเด็นว่าด้วย "งบเพิ่มเติม" เลื่อนเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาหลายรอบ เพราะนายกรัฐมนตรี "ตีกลับ" ให้ไปพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปพิจารณาปรับลดและจัดหมวดหมู่ เนื่องจากตัวเลขที่ขอสูงมากจริงๆ
งานนี้ทำเอา สมช.ปวดหัว เพราะแต่ละหน่วยงานก็อ้างความสำคัญเรื่องการทำงานและดูแลชีวิตประชาชน โดยเฉพาะภารกิจ "ถ่ายโอนกำลัง" ที่จะเริ่มทยอย "ถอนทหาร" ตั้งแต่กลางปีนี้ แล้วส่งตำรวจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทน ตามแผนลับๆ ที่วางกันเอาไว้ ล็อตแรกจะส่งตำรวจเข้าไปแทนทหารในพื้นที่ 10 อำเภอที่มีเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง
ตำรวจใหม่เกือบ 1.5 พันนายที่กำลังฝึกอบรมกันอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อใช้ในภารกิจดังกล่าวในระยะที่ 1
งบจำนวนนับพันล้านที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเพิ่ม ได้มีการแจกแจงรายละเอียดว่าเพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องมือเครื่องไม้ในการปฏิบัติงาน และสร้างแฟลตที่พักตำรวจ
ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ของบเพิ่มสำหรับโครงการที่เกี่ยวโยงกับการ "ถอนทหาร" ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นและกองกำลังภาคประชาชน ซึ่งบางส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของ ศอ.บต. และเคยแจกงบ "ตำบลละล้าน" ถึง 282 ตำบลทั่ว 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลาเพื่อให้ช่วยกัน "ดูแลพื้นที่ตัวเอง" มาแล้ว
ขณะที่ในส่วนของ "มหาดไทย" ก็ร่ำๆ จะของบก้อนใหญ่ติดอาวุธให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านด้วยเหมือนกัน
ล่าสุดมีข่าวว่า สมช.ต่อรอง-ตัดลด "งบเพิ่มเติม" ลงมาได้ระดับหนึ่ง เหลือราวๆ 9 พันล้าน โดยแบ่งเป็น 3 เฟส กอ.รมน.กับ ศอ.บต.เป็นเฟสแรก กระทรวงศึกษาฯเป็นเฟส 2 และตำรวจเป็นเฟส 3
งบภาคใต้มีปัญหามานาน ผมอยากให้ดูงบจัดซื้อ "กล้องโทรทัศน์วงจรปิด" เอาแค่ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว ใช้งบเกือบ 1 พันล้านบาท เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงป่านนี้ยังติดไม่เสร็จ ต้องล้มโครงการกลางคัน ล้มประมูลกันไปก็หลายครั้ง ทั้งๆ ที่ "จัดซื้อวิธีพิเศษ"
พอไปไล่ดูโครงการจัดซื้อกล้องวงจรปิด ปรากฏว่า กรมการปกครอง กับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเหมือนกัน ก็มีโครงการจัดซื้อกล้องของตนเองแยกต่างหาก นอกจากนั้น กอ.รมน.ก็มี ล่าสุดกระทรวงศึกษาฯก็จะของบซื้อกล้องวงจรปิดติดในโรงเรียนอีก
ติดแล้วดีคงไม่มีใครว่า แต่นี่ติดไปแล้วก็ถูกเผาเพราะไม่มีคนเฝ้าจอมอนิเตอร์ กล้องที่ซื้อไปติดก็ไม่มี "ระบบป้องกันตนเอง" ทั้งๆ ที่ในพื้นที่แบบนี้มันกำหนดสเปคได้ เมื่อกล้องถูกเผาทำลายต้องส่งเสียงร้องเตือน...แต่เมื่อมันไม่มีก็ต้องถูกเผาอยู่แบบนี้...หรือว่าถูกเผาก็ดีจะได้ซื้อใหม่!?!
แค่ติดกล้องวงจรปิด ทำให้มันมีแผนยุทธศาสตร์หน่อยได้ไหม แล้วก็บูรณาการติดตั้งร่วมกันไป เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและรักษาความปลอดภัยได้จริง
การที่รัฐบาลไม่มีรัฐมนตรีกำกับดูแลปัญหาภาคใต้อย่างจริงๆ จังๆ ระวังจะเป็นช่องทางให้หน่วยราชการขี่คอ ของบกันแบบไม่จบไม่สิ้น โดยไม่รู้ว่าผลสัมฤทธิ์ของงานจริงๆ มีแค่ไหน และเงินที่ลงไปถึงมือชาวบ้านจริงๆ บ้างหรือเปล่า
ทบทวนกันอีกสักครั้งก็ยังไม่สายนะครับ!
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นกำลังหลักในงานดูแลความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้แทนทหารในเร็ววันนี้ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 ม.ค.2556 ด้วย