ฟังคนพม่าพูดถึง"โรฮิงญา" และปัญหาชายแดนใต้ยังห่างไกลจากยะไข่
ข่าวเศร้าที่ชาวโรฮิงญาร่วมพันคนถูกกักตัวอยู่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ทำให้เรื่องราวเลวร้ายที่เกิดกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ ถูกบอกเล่าผ่านสื่อทุกแขนงอย่างมากมาย แต่ไม่มีใครเคยถามคนพม่าที่อยู่นอกประเทศว่ามีมุมมองต่อปัญหานี้อย่างไร
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคนพม่าจำนวนไม่น้อยที่อพยพมาทำมาหากินและขายแรงงานโดยไม่เลือกงานไม่ต่างอะไรกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีชาวพม่ามุสลิมที่เดินทางมาร่ำเรียนในโรงเรียนปอเนาะในดินแดนด้ามขวานอีกด้วย
คนพม่าที่ออกมาเห็นโลกกว้าง และอาศัยอยู่ในสังคมที่เรียกได้ว่าสมานฉันท์ระดับหนึ่งอย่างประเทศไทย คิดอย่างไรกับชาวโรฮิงญาร่วมชาติของเขา เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย...
รัฐบาล (พม่า) ของเราทำรุนแรงเกินไป
นายอับดุลรอแม (สงวนนามสกุล) ชาวพม่ามุสลิมวัย 50 ปี เล่าให้ฟังว่า เข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยกับมาเลเซียนานถึง 20 ปีแล้ว การทำงานก็ข้ามไปข้ามมาระหว่างสองประเทศ แต่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย และแม้จะจากบ้านเกิดเมืองนอนมานานหลายสิบปี แต่ก็รับรู้สถานการณ์ในพม่าตลอด โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ หรืออาระกัน ที่มีการปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธ
"พี่น้องชาวโรฮิงญาถูกกลุ่มคนบางกลุ่มในรัฐยะไข่กดขี่รังแก ทำทุกอย่างเพื่อขับไล่พวกเขาออกจากประเทศ ไม่ยอมรับเป็นพลเมืองของพม่า ทำให้การใช้ชีวิตของชาวโรฮิงญาที่โน่นถูกจำกัดพื้นที่ไปโดยปริยาย ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากหนีตายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย ถูกคนทุกที่เอารัดเอาเปรียบ ทำให้คนโรฮิงญายิ่งเกิดความกดดัน และจะต่อสู้ในวิถีทางที่พวกเขาสามารถทำได้ ทั้งลักขโมย เอาเปรียบคนอื่น จนกลายเป็นปัญหาซ้ำขึ้นไปอีก เป็นภาพลักษณ์ด้านลบที่สังคมแทบทุกสังคมมองพวกเขาในแง่ไม่ดี มองว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนหัวรุนแรง เป็นพวกน่ากลัว ไม่มีใครอยากยุ่งด้วย ทั้งๆ ที่อยากให้มองไปถึงต้นตอของปัญหามากกว่า"
"จริงๆ แล้วคนโรฮิงญาไม่ได้ร้ายโดยสันดาน พวกเขาเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เหมือนคนทั่วๆ ไป แต่พอโดนกดขี่หนักเข้าทำให้พวกเขาต้องเอาตัวรอด ต่อสู้ทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้รัฐบาลและคนพม่ามองชาวโรฮิงญาเป็นพวกหัวรุนแรง พยายามขับไล่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ผ่านมารู้สึกงงมากว่าทำไมสังคมโลกไม่ยอมช่วยเหลือ เป็นเพราะเขาเป็นมุสลิมหรือเพราะกลัวพม่า"
อับดุลรอแม บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญานั้นโหดร้ายมาก ไม่เป็นธรรมกับคนเหล่านั้นเลย
"แต่มันก็ช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากส่งเงินไปช่วยเหลือบ้าง เราเองเป็นคนพม่าด้วยกันยังรู้สึกว่ารัฐบาลของเราทำรุนแรงมาก การที่เขานับถือศาสนาอิสลามทำให้พวกเขาเป็นคนผิด ไม่สามารถเป็นคนพม่าได้เลยหรือ ถ้าเป็นไปได้อยากขอให้รัฐบาลพม่าและคนพม่ายอมรับพวกเขาและหันหน้ามาพัฒนาประเทศให้เจริญมากกว่านี้ดีกว่า คนที่ต้องไปหางานทำต่างประเทศอย่างผมและคนอื่นๆ จะได้กลับไปอยู่พม่าเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากกลับไปอยู่ที่บ้าน แต่พอกลับไปก็ไม่มีงานทำ อยากบอกรัฐบาลพม่าว่าการที่ต้องไปอยู่ที่อื่นไม่ได้สุขสบายเหมือนอยู่บ้านเราเอง"
ปัญหาสามจังหวัดยังห่างไกล"ยะไข่"
เมื่อให้มองปัญหาของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ กับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อับดุลรอแม บอกว่า ไม่เหมือนกันเลย ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่พม่าโดนกดขี่ทุกอย่าง รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับเป็นพลเมือง ต้องการขับไล่ออกจากประเทศ แต่ที่ภาคใต้เท่าที่ได้มาอยู่ คนมุสลิมไม่ได้ถูกกดขี่จากรัฐบาลไทย
"เท่าที่ผมเห็น รัฐบาลไทยให้โอกาสคนอิสลามทุกอย่าง ปัญหาที่นี่กับรัฐยะไข่จึงต่างกัน และคิดว่าไม่มีทางที่รัฐบาลไทยจะทำกับคนสามจังหวัดแบบที่โรฮิงญาโดน เพราะรัฐบาลไทยก็ยอมรับว่าคนชายแดนใต้เป็นคนไทย แต่พม่าไม่เคยยอมรับชาวโรงฮิงญา มองแค่นี้ก็ต่างกันแล้ว" อับดุลรอแม กล่าว
อยากให้รัฐบาลพม่ายอมรับโรฮิงญา
ด้านเด็กหนุ่มมุสลิมชาวพม่าที่เข้าเรียนปอเนาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า คนโรฮิงญาไม่ใช่คนไม่ดี แต่การกระทำของคนยะไข่ทำให้สังคมโลกมองว่าชาวโรฮิงญาเป็นพวกหัวรุนแรง ถ้าคนยะไข่ไม่ไปทำร้ายพวกโรฮิงญาก่อน คิดว่าคนโรฮิงญาก็จะเป็นเหมือนกับพวกเราชาวพม่าทุกคน
"รู้สึกสงสารพวกเขาตลอด อยากขอให้รัฐบาลพม่ายอมรับเขาด้วย อย่าไปทำร้ายพวกเขาเลย คนโรฮิงญาก็อาศัยอยู่ในพม่านานเท่าๆ กับพี่น้องพม่าเราเหมือนกัน ที่ผ่านมาคนโรฮิงญาถูกกดขี่จากรัฐบาลพม่ามามากแล้ว ถึงเวลาแล้วที่พวกเราชาวพม่าจะต้องมาช่วยเหลือชาวพม่าด้วยกันโดยไม่มองที่ความแตกต่าง เพราะความรู้สึกของผมเองคิดว่าคนโรฮิงญาเป็นคนพม่าเหมือนกัน แต่ข่าวที่ว่าโรฮิงญาเป็นพวกหัวรุนแรง ก็เป็นเพราะพวกเขาต้องโต้ตอบกับสิ่งที่รัฐบาลพม่าทำกับเขา ทำให้สังคมพม่าดูถูกพวกเขายิ่งขึ้น ยิ่งมาอยู่ข้างนอกก็จะถูกคนอื่นดูถูก ทำให้คนพวกนี้อยู่ในสังคมไหนก็ลำบาก"
ส่วนปัญหาโรฮิงญากับปัญหาชายแดนใต้ เด็กหนุ่มรายนี้บอกว่า ปัญหาของคนสองกลุ่มไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งที่คนโรฮิงญาเจอโหดร้ายมาก แต่คนในภาคใต้ยังสามารถทำอะไรได้เหมือนคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ทุกอย่าง ส่วนโรฮิงญาแค่การยอมรับเป็นพลเมืองจากรัฐบาลพม่ายังไม่ได้รับเลย แค่ข้อเดียวก็ต่างแล้ว และยังต้องเจอกับการขับไล่ออกจากประเทศอีก
"เท่าที่ผมอยู่ในพื้นที่มา 8 ปี รู้สึกว่าปัญหาที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการเมืองและผลประโยชน์ของคนในพื้นที่มากกว่าจะเป็นปัญหาระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ผมไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลไทยขับไล่คนสามจังหวัดออกจากประเทศ ไม่เคยเห็นว่าความต่างของคนอิสลามในภาคใต้จะทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ ยิ่งทุกวันนี้รัฐบาลกลับเอาใจคนมุสลิมมากขึ้นเสียอีก เพื่อต้องการล้างผิดที่ได้สร้างความไม่เป็นธรรม ซึ่งยังถือว่าเล็กน้อยถ้าเทียบกับสิ่งที่ชาวโรฮิงญาโดนกระทำ" เด็กหนุ่มชาวพม่าซึ่งเป็นนักเรียนปอเนาะในพื้นที่ กล่าว
เปิดอกโรฮิงญา...ถูกจับยังสบายกว่าอยู่บ้าน
ด้านความรู้สึกของชาวโรฮิงญาที่ถูกส่งไปพักพิงชั่วคราวที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี นายมูฮำหมัด อุสมาน อายุ 13 ปี เปิดใจผ่านล่ามว่า ใช้เวลาถึง 20 วันบนเรือหลังจากออกจากเมืองโน้ดซัมเปียะในรัฐยะไข่ เมื่อถึงน่านน้ำไทยก็ผ่าเรือให้จมลงทะเล จากนั้นก็ใช้เวลาอีก 1 เดือนก่อนหน้านี้อยู่ที่ จ.ระนอง
"หลังจากขึ้นฝั่งแล้ว ผมกำลังเดินทางเข้ามาเลเซีย แต่ถูกจับกุมก่อน ก็เลยทำให้เขาส่งตัวมาพักชั่วคราวที่บ้านพักเด็กและครอบครัวปัตตานี"
มูฮำหมัด บอกว่า สิ่งที่ทำให้เขาคิดหนักอยู่ในตอนนี้ คือต้องทำอะไรก็ได้เพื่อนำเงินส่งไปให้พ่อแม่ที่แก่ชราและยังอาศัยอยู่ที่โน้ดซัมเปียะ นอกจากนั้นยังมีน้องๆ อีก 4 คนที่รอเงินและความช่วยเหลือ
"งานและเงินสำคัญที่สุดสำหรับผม เพราะสาเหตุที่ผมตัดสินใจออกเดินทางก็เพื่อหานแล้วส่งเงินให้กับพ่อแม่และน้องๆ จึงได้ร่วมเดินทางมากับพี่น้องชาวโรฮิงญาอีกหลายร้อยคน ตอนมาผมไม่รู้ว่ามีเรือกี่ลำ แต่เรือ 1 ลำจะต้องบรรทุกคนให้ได้ 143 คน พวกผมต่อเรือกันเอง และกลุ่มของผมเป็นกลุ่มแรกที่ออกเดินทาง ส่วนข้างหลังจะมีอีกกี่กลุ่มก็ไม่รู้"
แม้จะหนีมาแต่ มูฮำหมัด บอกว่าพวกเขาก็ต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่านายหน้า เพื่อพาพวกเขาไปสู่แหล่งงาน
"ตั้งแต่ออกมารู้สึกว่าอยู่ดีมีความสุขกว่าอยู่ที่บ้านมาก ขนาดระหว่างเดินทางบนเรือก็ยังคิดว่าสบายกว่า แต่ก็อดคิดถึงบ้านไม่ได้ คิดถึงพ่อแม่และน้องๆ ยิ่งตัวเองมาถูกจับอีก ยิ่งทำให้คิดถึงพ่อแม่ที่รอคอยความหวังจากเรา ไม่รู้พวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง ทุกครั้งที่กินอาหารดีๆ ที่มีคนนำมาบริจาคก็คิดถึงพ่อแม่กับน้องๆ ว่าเขาจะกินอะไร แม้การรุกรานจากคนยะไข่จะลดน้อยลงแล้วในระยะหลัง แต่พวกเราก็ไม่ได้อยู่อย่างสุขสบาย ไหนจะเพื่อนบ้านอีก 400 ครอบครัวที่ยังรอคอยความช่วยเหลือ"
"พ่อแม่ผมแก่มากแล้ว ทำงานไม่ไหว ผมคนเดียวที่เป็นเสาหลักให้กับครอบครัว คิดว่าเมื่อไปถึงมาเลย์ก็จะตั้งใจทำงาน ส่งเงินไปให้พ่อแม่ใช้จ่ายที่โน่น สิ่งที่ผมต้องการที่สุดในเวลานี้คืองาน จะที่เมืองไทยหรือมาเลย์ก็ได้ แต่อย่าส่งกลับบ้าน ฆ่าผมให้ตายดีกว่าที่จะให้กลับบ้าน"
พลัดหลงกับสามีและลูกๆ 7 คน
ขณะที่ นางมาเรียม ซึ่งพลัดหลงกับสามี กล่าวว่า ก่อนจะหนีออกมา บ้านของนางถูกเผาจากคนยะไข่ ต้องอาศัยอยู่ในกระต๊อบเล็กๆ พร้อมกับลูกอีก 7 คน จึงตัดสินใจกับสามีว่าจะพาลูกออกจากที่นั่น จะทิ้งลูกก็ไม่ได้เพราะยังเล็ก แต่หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ทำให้นางต้องคลาดกับสามีและลูกๆ ทั้ง 7 คน ไม่รู้ว่าถูกส่งไปที่ไหน แต่ยังดีที่ได้เห็นสามีในทีวี จึงค่อยสบายใจที่สามียังปลอดภัยอยู่
"ตอนนี้อยากเจอสามีมากที่สุด รองลงมาคืออยากได้งานเพื่อนำเงินไปเลี้ยงครอบครัว หลังจากได้พบสามีแล้วจะให้ทำงานอะไรก็ได้ อยากขอความเมตตาจากเจ้าหน้าที่ไทยว่าอย่าส่งพวกเรากลับบ้านเลย ถ้าจะต้องส่งกลับก็ให้ฆ่าพวกเราเสียดีกว่า ที่ผ่านมาทำงานหนักมาก แต่รายได้ต่อวันคิดเป็นเงินไทยแค่ 30 บาทเท่านั้น" นางมาเรียม กล่าว
ตลอดหลายวันที่มีชาวโรฮิงญาไปพักพิงตามสถานที่ต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ และบริจาคสิ่งของตลอดจนเงินทองอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งที่บ้านพักเด็กและครอบครัวปัตตานีด้วย
ส่วนที่ จ.นราธิวาส เด็กนักเรียนและครูโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังของจังหวัด ได้ตั้งเต็นท์รับบริจาคเงิน เสื้อผ้า และเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา โดยมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งออกเรี่ยไรตามชุมชนต่างๆ ในเขตเมืองนราธิวาสด้วย
นายอับฟารีส คอเต๊ะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กล่าวระหว่างนำสิ่งของไปร่วมบริจาคว่า ดีใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือชาวโรฮิงญา แม้จะเป็นเงินเพียงน้อยนิด แต่ก็ภูมิใจที่มีส่วนช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่า
นางเยาวมาศ ชื่นกลิ่น ชาวไทยพุทธที่แวะไปบริจาคสิ่งของที่เต็นท์หน้าโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ กล่าวว่า การบริจาคคือการทำทานรูปแบบหนึ่ง การให้ทานไม่เลือกแม้จะต่างศาสนา และส่วนตัวเชื่อว่าทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
อยากให้เสียงเหล่านี้ดังจากชายแดนใต้ไปถึงรัฐยะไข่ เพื่อให้เรื่องราวร้ายๆ กลายเป็นอดีตไปเสียที!
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 วัยรุ่นโรฮิงญาที่ถูกส่งไปพักพิงชั่วคราวอยู่ที่บ้านเด็กและครอบครัวปัตตานี (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)
3 เด็กนักเรียนในนราธิวาสออกเรี่ยไรช่วยชาวโรฮิงญา (ภาพโดย ปทิตตา หนูสันทัด)