วงเสวนา มธ. ชี้รัฐไร้สิทธิ์บงการ -บังคับ นักเรียน นักศึกษา แต่ง 'เครื่องแบบ'
เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 20 มกราคม 2556 เวลา 15:33 น.
เขียนโดย
ฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์
หมวดหมู่
อ.คณะสังคมวิทยาฯ มธ. ชื่นชมสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ ออกมาเรียกร้อง จน ศธ.ยอมเลิกกฎ เด็กชายสั้นเกรียน-เด็กหญิงสั้นติ่งหู ระบุ ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วย บางสถาบันอนุรักษ์ “ลัทธิบูชาเครื่องแบบ”
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาอุษาคเนย์สาธารณะในหัวข้อ “ร่างกายใต้บงการ บนเรือนร่างในเครื่องแบบ” ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจาก “สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย" ได้แก่ นางสาวพุทธิภรณ์ ผ่องใส นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ร่วมเป็นวิทยากร
ในช่วงแรก นายเนติวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาพันธ์นักเรียนไทยฯ ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนจนประสบความสำเร็จ ว่า การบังคับเรื่องทรงผมนักเรียนนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น พวกตนจึงเรียกร้องเพื่ออิสรภาพในการตัดสินใจด้วยตนเอง
“เรื่องทรงผม ไม่เกี่ยวกับการเรียน จึงเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน คนไว้ผมยาวไม่ใช่คนโง่ คนไว้ผมสั้นก็ไม่ใช่คนโง่ ฉะนั้น เรื่องของหัวคนนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่ควรเข้าไปยุ่ง” นายเนติวิทย์ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ยุกติ กล่าวถึงการเรียกร้องครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย พร้อมแสดงความเห็นว่า ไม่ต่างกับเรื่องการบังคับให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียน โดยเฉพาะในโรงเรียนของรัฐ
ผศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า จากการศึกษาเกี่ยวข้องกับเรื่องชนชั้นในสังคม เมื่อก่อนคนที่อยู่ชนชั้นต่ำกว่าจะได้เรียนหนังสือน้อยกว่า ทั้งนี้ เนื่องมาจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ 1.มีเวลาให้อยู่กับการเรียนน้อย และ 2.วัฒนธรรมทางการศึกษาของครอบครัวไม่เอื้ออำนวย บทบาทของโรงเรียนรัฐส่วนหนึ่งจึงเป็นเสมือน “เครื่องดูด” คนจากภาคเกษตรกรรมให้ชินชากับการถูกใช้อำนาจผ่านวินัยต่างๆ เพื่อป้อนเข้าสู่การเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต่อไป
“กระบวนการของการควบคุม กระบวนการของการสอดใส่วินัย และกระบวนการของการทำให้วินัยกลายเป็นศีลธรรม เกิดขึ้น ในช่วงการเปลี่ยนชีวิตของผู้คนมากมายที่ถูกดึงจากชนบท จากภาคการเกษตร เข้ามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ด้วยคำพูดแบบสวยหรูที่ว่า “เปิดโอกาสทางการศึกษา” ทีนี้ คนเหล่านั้นเราจะต้องทำอย่างไรกับเขา เราจะต้องฝึกเขา เราจะต้องใช้วินัยที่เข้มงวด เพราะไม่อย่างนั้น คนพวกนี้จะกลายไปเป็นคนใช้แรงงานที่ดื้อด้าน” ผศ.ดร.ยุกติ กล่าว และว่า เครื่องแบบนักเรียนก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ทำให้วินัยกลายเป็น “ศีลธรรม” เพื่อให้คนรู้สึกผิดเมื่อละเมิดวินัยด้วย
ทั้งนี้ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ยังได้เปรียบเทียบสถานการณ์เครื่องแบบของไทยกับเวียดนาม ว่า โรงเรียนในเวียดนามมีการบังคับให้แต่งเครื่องแบบก็จริง หากแต่สามารถอะลุ่มอล่วยต่อนักเรียนที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องแบบได้ ฉะนั้น นอกจากเรื่องทรงผมแล้ว ก็ไม่ควรมีบังคับเรื่องเครื่องแบบ ทั้งในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา รัฐควรตระหนักที่จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องอื่นๆ ตามมาด้วย
"ทุกวันนี้มีการถกเถียงในเชิงวิชาการเรื่องสิทธิมนุษยชนกันอย่างกว้างขวาง แต่ประเทศไทยเองกลับมีเพียงแค่ “สิทธิมนุษยชนในกะลา” ที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเท่านั้น"
ส่วนกรณีที่บางสถาบันยังมี “ลัทธิบูชาเครื่องแบบ” เกิดขึ้นนั้น ผศ.ดร.ยุกติ ได้ให้ความเห็นว่า เครื่องแบบไม่เพียงเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคม แต่ยังกลายเป็นตัวสถาบันของอำนาจในตัวของมันเอง เมื่อสวมมันลงไปในตัวแล้ว กลายเป็นว่า ผู้สวมใส่ต้องเคารพ เครื่องแบบกลายเป็นนายเหนือเรา กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง กลายเป็นตัวสถาบันที่เข้ามาครอบงำเมื่อเราสวมใส่ เราเป็นเพียงร่างทรงของเครื่องแบบ
ทางด้าน นางสาวพุทธิภรณ์ กล่าวว่า หากตนได้เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในอนาคต สิ่งที่จะได้เรียนรู้คงเป็นสิ่งที่น่าจดจำมากกว่าการได้ใส่เครื่องแบบ
“พูดถึงเรื่องที่ว่า การเป็นนักศึกษาครั้งหนึ่งต้องได้ใส่เครื่องแบบ มันไม่ใช่สิ่งที่น่าโหยหาขนาดนั้น ถ้าเป็นนักศึกษาคงจะกลับมาคิดว่า ฉันได้เรียนรู้อะไรมากกว่า มากกว่าครั้งหนึ่งฉันเคยได้ใส่ชุดนี้” นางสาวพุทธิภรณ์ กล่าวเสริม
สุดท้าย วิทยากรและผู้เข้าร่วมวงเสวนาหลายคนมองว่า การพบกันครึ่งทางน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด นั่นคือ รัฐควรยกเลิกกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ให้พื้นที่กับคนที่คิดต่างได้มีที่ยืนในสังคมมากขึ้นมากขึ้น และหันมาส่งเสริมให้นักเรียน ตลอดจนนิสิตนักศึกษา สามารถตระหนักเองได้ว่า “ความเหมาะสม” อยู่ตรงไหนและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง