รื้อ...อาคารศาลฎีกา สองมาตรฐานทางกฎหมาย โดยองค์กรที่ถือกฎหมาย
กรณีการรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกา ยังคงเป็นข้อขัดแย้งระหว่าง 3 ฝ่ายในสังคมขณะนี้ ซึ่งได้แก่ 1.ศาลฎีกา ผู้ดำเนินโครงการรื้อถอน 2.กรมศิลปากร ผู้แจ้งความดำเนินคดีต่อศาลฎีกาและบริษัทผู้รับเหมา ฐานละเมิด พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) และ 3.เครือข่ายประชาสังคม ที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อถอนอาคารศาลฎีกา
สำหรับข้อเท็จจริงในขณะนี้ อาคารศาลอาญากรุงเทพใต้ ฝั่งคลองหลอดถูกรื้อทำลายไปแล้วเหลือสภาพเพียง 10%
18 ม.ค.2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายประชาสังคมได้จัดเสวนาสาธารณะ “ทุบ (ตึก) ศาลฎีกา ลบประวัติศาสตร์ชาติไทย” ขึ้น โดยได้ยกข้อกฎหมายมาเป็นประเด็นสำคัญในการต่อสู้ครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า แบบอาคารศาลฎีกาที่จะสร้างใหม่ มีความสูงถึง 32 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมากถึงสองเท่า!
ถ้ายังเดินหน้าโครงการ ก็เท่ากับองค์กรที่ควรเป็นตัวอย่างในการรักษากฎหมาย คือศาลฎีกา ได้ทำลายมาตรฐานของการปฏิบัติตามกฎหมายลงเสียเอง
"ชาตรี ประกิตนนทการ" อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหอกภาคประชาชน ผู้เริ่มจุดประเด็นนี้ต่อสาธารณะให้ข้อมูลว่า อาคารศาลฎีกาปัจจุบันสูงสุดเพียง 18 เมตร แต่รูปแบบอาคารหลังใหม่ที่จะสร้างมีความสูงถึง 32 เมตร เท่าความสูงเฉลี่ยของอาคารในพระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงทางกฎหมาย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง ได้ระบุดังนี้
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เกี่ยวเนื่องให้เกิดกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาลฎีกา คือกฎกระทรวงฉบับที่ 9 ที่ระบุว่า การก่อสร้างอาคารภายในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า
ขณะที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 16 เมตรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน
ต่อมาในปี 2529 กฎกระทรวงฉบับที่ 14 เพิ่มข้อความส่วนหนึ่งที่ระบุให้การก่อสร้างอาคารในเขตรัตนโกสินทร์ชั้นในโดยศาลฎีกา ไม่ต้องขออนุญาตคณะกรรมการฯตามขั้นตอนปกติอีกต่อไป
และข้อกฎหมายสำคัญที่สุดคือ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2531 (สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ที่กระทรวงยุติธรรมขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้สามารถสร้างอาคารสูงเกินกว่า 16 เมตรตามที่กฎหมายห้ามไว้ได้
“แม้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะศาลใช้วิธีทำให้ถูกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่มันขาดความชอบธรรม ซึ่งจนถึงปัจจุบันศาลยังไม่เคยตอบเลยว่า ชอบธรรมหรือไม่ เมื่ออาคารหน่วยงานราชการอื่นก็สูงไม่เกิน 16 เมตร แต่อาคารศาลฎีกาจะสูงได้ถึง 32 เมตร เพียงหน่วยงานเดียว...” ชาตรี ตั้งข้อสังเกต และขอเรียกร้องให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2531 ที่อนุญาตให้สร้างอาคารศาลฎีกาสูงเกิน 16 เมตร เพราะเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ขาดความชอบธรรม เพื่อให้กฎหมายยังคงเป็นกฎหมายที่มีมาตรฐานเดียว
ขณะที่ ปองขวัญ ลาซูส กรรมการสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ไม่ควรถูกนำมาใช้อีกแล้ว
และเมื่อพิจารณาในบริบทปัจจุบัน มตินี้ก็น่าจะขัดต่อ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) เนื่องจากในปี 2552 กรมศิลปากร ได้คุ้มครองให้อาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถาน
...เพียงแต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีอำนาจและบทบาทในเรื่องนี้ นั่นคือ คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งมีบทบาทต่อการบังคับใช้โดยตรงกลับเงียบเฉย ซึ่งอาจารย์ชาตรี ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการชุดนี้ลาออกทั้งคณะ! เพราะ “ถือว่าได้สูญเสียจุดยืนทางหลักการไปแล้ว จึงหมดความชอบธรรมที่จะนั่งเป็นกรรมการชุดนี้อีกต่อไป”
ข่าวรายงานว่า นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงถึงการรื้อถอนอาคารศาลฎีกาว่า เป็นเพราะสภาพอาคารเก่าเกินใช้งานจึงต้องมีโครงการสร้างศาลฎีกาใหม่
รวมถึงโต้แย้งว่า อาคารศาลฎีกาไม่ได้เป็นโบราณสถาน
ส่วนต้นแบบอาคารใหม่ (Model) ก็ไม่ได้มีความสูงเกิน 32 เมตรอย่างแน่นอน และประชาชนสามารถเข้าไปชมได้ที่ศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นว่า อาคารศาลฎีกาเป็น “โบราณสถาน” หรือไม่นั้น พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า “ศาลเองท่านก็ตีความออกมาเรียบร้อยแล้วว่า ท่านไม่ผิด เพราะตราบใดที่ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ถือว่า อาคารศาลฎีกายังไม่มีสถานภาพเป็นโบราณสถาน แล้วตำรวจที่สอบสวนคดีจะฟังใคร เกรงว่า คดีนี้จะจบลงที่ตำรวจสั่งไม่ฟ้องเท่านั้นเอง”
พร้อมให้ความเห็นว่า กลไกที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้คงมีแต่คณะรัฐมนตรี แต่คำถามคือ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนี้จะกล้ากับตุลาการหรือ? เมื่อศาลได้แสดงเจตจำนงของท่านไว้แล้ว คงจะหาว่าเป็นสองมาตรฐานไม่ได้ เพราะนี่เป็นมาตรฐานพิเศษเฉพาะท่านเท่านั้น
ขณะที่อาจารย์ชาตรี ทิ้งท้ายว่า “อาคารศาลฎีกาหลังใหม่ จะมิได้เป็นอนุสรณสถานที่ระลึกถึงประวัติศาสตร์การได้มาซึ่งเอกราชสมบูรณ์ทางการศาลอีกต่อไป แต่จะเป็นอนุสรณสถานที่ระลึกถึงการปฏิบัติสองมาตรฐานทางกฎหมาย โดยองค์กรที่ถือกฎหมายเสียเอง สิ่งนี้จะเป็นอนุสรณ์แห่งความน่าละอายที่จะตั้งตระหง่านยืนยันความผิดพลาดครั้งนี้ของศาลฎีกาไปอีกนานแสนนาน ตราบเท่าที่อาคารดังกล่าวยังคงตั้งอยู่”