มายาคติ ! ไทยมั่นคงด้านอาหาร พบคนจนถูกกดดัน-เข้าถึงอาหารน้อยสุด
"เดชรัต" มองความมั่นคงด้านอาหาร ต้องเพียงพอ-เข้าถึง-หลากหลาย-ปลอดภัย ห่วงกลุ่มคนจนสุดในประเทศกระทบมากสุด
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงความมั่นคงด้านอาหารของไทยขณะนี้ว่า คนไทยมักมองว่า ตนเองไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นประเทศส่งออกอาหาร มีชุดความคิดที่เชื่อว่า จะช่วยดูแลความมั่นคงด้านอาหารของทั้งโลกได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิดทั้งหมด แต่ก็ไม่ครบถ้วนนัก
"ปัญหาประการหนึ่ง คือ แนวคิดการมองความมั่นคงด้านอาหาร โดยเน้นเรื่อง 'ปริมาณและความเพียงพอ' เป็นหลัก เป็นแนวความคิดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งแท้จริงแล้วแค่นั้นยังไม่เพียงพอ สำคัญที่สุดอยู่ที่คนในประเทศสามารถเข้าถึงอาหารเหล่านั้นหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่า ประเทศที่ผลิตอาหารได้มาก คนในประเทศนั้นจะได้รับประทานอาหารตามที่ต้องการ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว อมาตยา เซน ทำการศึกษาพบว่า มีประเทศที่ขาดแคลนอาหาร ประชากรล้มตาย ในขณะที่ประเทศนั้นยังส่งออกสินค้าอาหารอยู่ นี่คือภาพที่เห็นได้ชัด"
ดร.เดชรัต กล่าวถึงประเทศไทยในอดีตตัวเลขของคนที่ขาดสารอาหารประมาณ 10-20% เป็นการขาดอาหารประเภทให้พลังงานและแคลอรี่ ขณะที่ปัจจุบันคนไทยขาดสารอาหารที่ครบถ้วนในแง่โภชนาการ ทั้งวิตามิน เกลือแร่ จากผักและผลไม้ต่างๆ คนไทยรับประทานผักตามโภชนาการเพียง 5% และรับประทานผลไม้เพียง 20% เท่านั้น แสดงให้เห็นปัญหาการขาดสารสารอาหารที่จะรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นความไม่มั่นคงด้านอาหารประการหนึ่ง
"การขาดสารอาหารดังที่กล่าวมานั้น ส่วนหนึ่งคนเข้าไม่ถึง เพราะปัจจัยความมั่นคงด้านอาหารในแง่เศรษฐกิจ จากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลดัชนีราคาอาหารและสินค้าทั่วไปพบว่า ราคาสินค้าทั่วไปจากเดิมหากราคา 100 บาทปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 150 บาท ส่วนอาหารจากเดิมหากราคา 100 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 200 บาท ขณะที่ผลไม้จากเดิมหากราคา 100 บาท ปัจจุบันราคามากกว่า 300 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดที่มีผลต่อการเข้าถึงของคนหลายกลุ่ม"
ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารที่ ดร.เดชรัต เห็นว่าสำคัญอีกประการ คือ ซึ่งไม่ค่อยมีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบมากนัก แต่ในปัจจุบันประเด็นปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุด คือ การเข้าถึงอาหาร
"คนจนที่สุด 20 % ของประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรมีภาระค่าใช้จ่ายกว่า 50% ของทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มทำการเกษตรลดลง แต่คาดไม่ถึงว่าต้องซื้อผักและผลไม้ในราคาสูงขึ้น จึงถูกกดดันมากที่สุดเพราะเข้าถึงอาหารได้น้อยที่สุด เห็นได้ชัดในภาคอีสาน มีอัตราบริโภคผักและผลไม้ต่ำมาก มี 8 จังหวัดในภาคกลางที่ปลูกข้าวไม่พอกิน ทั้งนี้ กลับไม่ค่อยมีการพูดถึงความมั่นคงด้านอาหารในมุมนี้ มักจะพูดกันแต่ระดับประเทศ"
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันปัญหาความมั่นคงด้านอาหารจะเป็นปัญหาของคนจนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคต ดร.เดชรัต กล่าวว่า เมื่อตัดภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เผชิญอยู่ออก ปัญหาจะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรไปเป็นพื้นที่เมือง ที่จะเป็นแรงกดดันให้ความมั่นคงด้านอาหารลดลง